“คนเราบวชกันทำไม? ถ้าจะตอบให้ตรงตามวัตถุประสงค์แห่งการบวชแล้วก็จะต้องตอบว่า บวชเพื่อสละโลก บวชเพื่อเว้นจากกาม บวชเพื่อออกจากหมู่คณะ ทั้งหมดนี้เรียกรวมได้ว่า เนกขัมมะ คือ การออกจากที่ที่มีอาสวะข้องอยู่ แต่เนกขัมมะนั้นก็เป็นเพียงทางออก จุดหมายปลายทางก็คือการสลายตัวแห่งอัตตาโดยสิ้นเชิง พูดภาษาชาวบ้านก็คือ บวชเพื่อลืมโลก บวชให้โลกลืม บวชเพื่อหาความรู้ในที่สุดว่า สิ่งที่เรียกว่า ตัวของตัวเองนั้นไม่มี ที่หลงผิดไปว่ามี ก็เพราะมีวัตถุต่าง ๆ ซึ่งมิใช่ของตน ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประกอบกันเข้าเป็นรูป เรียกว่ารูปสังขาร และรูปสังขาร หรือ รูปนี้ ไปประกอบกับนาม อันได้แก่เวทนา และ สัญญา รวมกันเป็น รูป เวทนา และสัญญา บังเกิดเป็นธรรมสังขาร แล้ววิญญาณอันเป็นเครื่องรับรู้ก็ยอมรับอย่างผิด ๆ ว่า นั่นแหละคือตน เมื่อมีตนแล้ว ตนนั้นก็ขยายออก อัตตาแผ่เข้าไปในทุกสิ่ง ลาภ ยศ วาสนา บ้านเมือง บริวาร และอำนาจ กลายเป็นตนเองและของตนไปหมด การบวชที่แท้จริงก็คือ การระงับทุกอย่างที่มาประกอบกันเป็นอัตตาหรือตัวตนนั้นให้หมดไป หรืออย่างน้อยรู้จักความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่มาประกอบเป็นอัตตาว่ามันไม่ใช่อัตตา แต่เป็นสิ่งต่าง ๆ ที่เราควบคุมไม่ได้ เป็นไปตามสภาพของมันเองและสภาพของมันเองนั้น มีผลในทางหลอกลวงเราให้เราต้องอยู่ในโมหะ คือ ความหลง นึกว่ามันเป็นตัวเราทุกอย่าง การบวชและการปฏิบัติพระธรรมวินัย ตลอดจนการศึกษาในทางกรรมฐาน จึงเป็นการจับเท็จของขันธ์ห้า อันได้แก่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จับเท็จสิ่งเหล่านี้ได้หมดแล้ว อัตตาก็หมด ชีวิตที่ยังคงเหลือต่อไปก็จะมีแต่ความจริง และคนที่บวชนั้นก็จะเรียกได้ว่าบวชจริง มิใช่บวชเท็จ และคนที่บวชจริงนั้น ยิ่งบวชนานยิ่งเงียบ ยิ่งบวชนาน ยิ่งหาย ไม่ต้องการแม้แต่คนที่จะไปนับถือกราบไหว้ตน ถึงจะมีกรุณา ก็ต้องมีอุเบกขา ประกอบให้ได้สัดส่วน มิใช่ว่าจะปล่อยให้ความห่วงใยในบุคคลอื่นที่ยังไม่รู้ความจริงนั้นกลายเป็นปลิโพธ คือ อุปสรรคต่อปฏิเวธของตน จะว่าการบวชแบบนี้ไม่ทำให้สังคมเจริญก้าวหน้าออกไป ก็ใช่ แต่ถ้ายังห่วงสังคมอยู่ก็อย่าไปบวช มุ่งหน้าทำความดีต่อสังคม โดยไม่ออกจากสังคมก็ได้ ทั้งหมดนี้คือการยอมรับความจริงว่า อะไร อยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร ไม่เอาโลกกับธรรมมาปนกัน ไม่เอาความดีในทางโลกตระ และความดีในทางโลกียะมาผสมกัน ถ้าทำอย่างนี้แล้วความวุ่นวายย่อมจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ก่อนจะบวชต้องรู้วัตถุประสงค์แห่งการบวช และเมื่อบวชแล้วพิจารณาตนเอง เห็นว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์นั้นไม่ได้ ก็ยอมรับความจริง แล้วลาสิกขาออกมาอยู่ในเพศฆราวาส….” (คึกฤทธิ์ ปราโมช) การบวชที่แท้จริงก็คือ การระงับทุกอย่างที่มาประกอบกันเป็นอัตตาหรือตัวตนนั้นให้หมดไป แต่พระทุกวันนี้จะมีกี่รูปที่บวชแล้วเข้าใจเหตุผลข้างต้นนี้