คนไทยส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ แต่ถ้าพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งกันแล้วว่า นับถืออย่างไร ? ก็จะพบความแตกต่างกันหลายระดับ คำสอนของพุทธศาสนานั้นมีสองระดับ คือสมมุติสัจจะ กับ ปรมัตถ์สัจจะ การที่คนส่วนใหญ่ยึดมั่นอยู่เพียงแค่สมมุติสัจจะ และคนส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าใจปรมัตถ์สัจจะ เป็นเรื่องปกติในสังคมทุกสังคม แม้ว่าการนับถือศาสนาพุทธจะมีความแตกต่างกันหลายระดับตามรากฐานภูมิปัญญา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องอันตรายแต่อย่างใด ถ้าตราบใดคนที่นับถือพุทธปฏิบัติตามหลักเบญจศีลเบญจธรรม และไม่ “โกงเงิน” กัน ไม่ต้องถึงกับเข้าใจ “ตถตา” หรือ “สุญญะ” ก็ได้ ขอเพียงระดับอย่าทำผิดศีลห้า และพร้อม ๆ กันนั้นก็ปฏิบัติตามเบญจธรรมห้าด้วย แต่ที่ยังมีปัญหากันมาก ก็เห็นจะเป็นเพราะพุทธศาสนิกไม่อาจรักษาศีลห้า และไม่ปฏิบัติตามเบญจธรรมห้า และไม่จำแนกระหว่างเรื่อง “คดีการเงิน” กับเรื่องศาสนา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ชี้ชัดว่าการนับถือพุทธศาสนาของคนไทยนั้นแตกต่างกันตามระดับภูมิปัญญา “การนับถือพระพุทธศาสนา ของคนส่วนมากในขณะนี้กระผมเห็นว่าอยู่ที่ภูมิปัญญาของแต่ละคนเป็นรากฐาน ผู้ใดที่มีภูมิปัญญาเพียงแต่จะยึดถือคุณพระรัตนตรัยเป็นเครื่องคุ้มกันตนมิให้ต้องคมอาวุธยิงไม่ออกฟันไม่เข้า ก็เชื่อแต่เพียงเท่านั้น หมกมุ่นไปในทางพระเครื่องรางของขลัง ที่เป็นใหญ่โตมีบุญกิริยาด้วยวิธีพุทธาภิเศก เรียกว่า “ปลุกพระ” เป็นทีว่าปลุกพระพุทธเจ้าผู้ทรงปลุกคนให้ตื่นอยู่เป็นนิจนั้นให้ตื่นขึ้นเอง บางคนมีภูมิปัญญาไปถึงชาติภพอื่น ๆ ก็เชื่อนรกเชื่อสวรรค์ ทำบุญเหมือนเสียเบี้ยประกัน ชาติหน้าจะได้อยู่วิมาน หรือจะได้เกิดเป็นรับประหารอยู่ตึกใหญ่ ๆ บางคนก็เขยิบภูมิปัญญาขึ้นไปถึงพระอภิธรรม บังเกิดความคิดว่าฌานสมาบัติเป็นของง่าย เพียงนั่งนิ่ง ๆ กำหนดลมหายใจโดยไม่ต้องศึกษาความจริงในชีวิตอะไรอีก ก็ถึงซึ่งอริยมรรค พอเกิดอะไรวูบ ๆ วาบ ๆ ตัวแข็งเกร็งขึ้นมา ซึ่งฝรั่งเขาเรียกว่า Self-hypnotism ก็ร้องว่าสำเร็จแล้วหนอ สำเร็จแล้วหนอ ลุถึงความนับถือซึ่งพม่า(พูดกันตามสำนวนบาลีครับ) ภูมิปัญญาทั้งหลายทั้งปวงนี้ สรุปรวมแล้วเรียกว่ายังติดอยู่ในสักกายะทิษฐิ คิดยังผลให้เกิดแก่ตนทั้งที่ยอมรับว่าอยู่ทั่วไปว่าตนนั้นไม่มี พูดดังนี้มิได้หมายความว่า กระผมเองนั้นปราศจากสักกายะทิษฐิ คิดดูแล้วก็ยังหนา ๆ อยู่เหมือนกัน แต่ทุกวันนี้กระผมนับถือศาสนาพุทธอยู่ด้วยคาถาที่ว่า “สงฺฆสฺสาหสฺมิ ทาโส ว สงฺโฆ สามีกิสสโร” พระใช้ให้ทำอะไรก็วิ่งแจ้นไปทำเอาอย่างง่าย ๆ แค่นี้ไปก่อน ถึงไม่สำเร็จมรรคผลอะไร ก็สบายใจดี เพราะเป็นขี้ข้าพระนั้น คิดดูแล้วก็ดีกว่าเป็นขี้ข้าตัวเองหรือเป็นขี้ข้านายเงินเป็นไหน ๆ” (คึกฤทธิ์ ปราโมช : “นับถือพุทธ” รากฐานอยู่ที่ภูมิปัญญา หนังสือ “กลิ่นพระ”)