ดร. วิชัย พยัคฆโส [email protected] นับเป็นอุทาหรณ์สำหรับข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องระมัดระวังและรอบคอบการใช้เงินรายได้ของมหาวิทยาลัย โดยไม่มีระเบียบ หรือวัตถุประสงค์ตาม พรบ.ของสถาบันรองรับ ดังเช่นกรณีของอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่ถูก ปปช.ชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกจากราชการ ด้ดูจากเนื้อหาของคำสั่งให้ไล่ออกจากราชการแล้ว แม้ว่ามิได้ทุจริตเป็นการส่วนตัวตามกรณีของเหตุที่ ปปช.ชี้มูลก็ตาม แต่ต้องเข้าใจตรงกันว่าแม้เป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยที่เกิดจากค่าบำรุงการศึกษา หรือเงินรายได้ที่เกิดจากรายได้เชิงธุรกิจและเงินรายได้ที่ได้จากการบริการวิชาการ แล้วเก็บไว้ เป็นรายได้สะสมที่มิต้องนำส่งกระทรวงการคลังก็ตาม ยังคงถือว่าเป็นเงินของทางราชการเช่นกัน หากไม่มีระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศรองรับ จะนำไปใช้จ่ายย่อมผิดระเบียบทางราชการ ดังเช่นมติคณะกรรมการ ปปช. ในกรณีของอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุว่า “การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดวินัยร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดย จงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและแบบแผนของทางราชการ มติ ครม. หรือนโยบายของทางราชการ หรือขาดการเอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 39 วรรคสาม และวรรคห้า แห่ง พรบ. ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547...” ทั้งนี้ ถ้าดูจากมูลความผิดทั้งการอนุมัติให้ยืมเงินสำรองจ่ายหมุนเวียนไปใช้จ่ายในโครงการต่างๆ และอนุมัติให้กู้ยืมเงินสวัสดิการเพื่อการศึกษาแก่บุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ดูเผินๆน่าจะเป็นประโยชน์แต่ขาดระเบียบปฏิบัติ จึงเป็นอุทาหรณ์ว่าผู้บริหารสูงสุดขององค์กรจะสามารถใช้เงินรายได้ ไปใช้ประโยชน์โดยใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและแบบแผนของทางราชการตามพละการนั้น ย่อมมิได้ทั้งสิ้น แม้ว่าจะเป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยก็ตาม เรื่องนี้หาก ปปช.ขุดคุ้ยกันต่อไปทุกๆ สถาบัน อาจจะมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีกก็ได้ เพราะสถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่และมีทรัพย์สินมากย่อมมีรายได้มาก หากขาดระเบียบปฏิบัติรองรับอาจเข้าข่ายนี้ได้เช่นกัน นับเป็นการส่งสัญญาณให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งได้ระมัดระวัง ตั้งแต่ระดับล่างที่นำเสนอข้อมูลให้ผู้บริหารอนุมัติต้องดูระเบียบปฏิบัติให้รอบคอบ มิฉะนั้นจะอยู่ในร่างแหเช่นเดียวกับผู้อนุมัติ ซึ่งไม่น่าจะพ้นผิดไปได้ หากเสนอว่าเห็นควรอนุมัติ เหตุการณ์กรณีนี้เกิดตั้งแต่ 2553 แม้จะใช้เวลา 7 ปี จนเกษียณอายุราชการไปแล้ว จะพ้นความรับผิดชอบก็หาไม่ แม้ว่าจะกระทำความดีมาเกือบทั้งชีวิต หากขาดความรอบคอบเสียแล้วความผิดจะตามตัวผู้เกษียณไปด้วย ข่าวกรณีนี้ได้จุดพลุส่งสัญญาณให้ข้าราชการทั้งหลายรับรู้ว่าเป็นข้าราชการต้องอยู่ในกรอบของระเบียบทางราชการ แม้ว่าอาจถูกกดดันจากฝ่ายการเมืองที่มุ่งหวังผลประโยชน์บางอย่าง คงต้องรอบคอบและหลีกเลี่ยง เพื่อจะได้มีความสุขในบั้นปลายชีวิตของการเกษียณอายุราชการ เป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลสืบไป