สถาพร ศรีสัจจัง ถ้าข้อพยากรณ์เมื่อปีพ.ศ. 1973 ของผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “The Soylent green” ที่มีชื่อเป็นพากษ์ไทยว่า “ 2022 โลกาวินาศ” ที่ว่าดาวสีน้ำเงินดวงเล็กๆที่ชื่อ “โลก” ดวงนี้จะพินาศในปี ค.ศ 2022 หรือ พ.ศ. 2565 (เพราะความตะกละและมิจฉาทิฐิของ “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน” ) ถูกต้องแม่นยำ ข้อชักชวนที่จั่วหัวไว้ คือ “ปลูกต้นไม้กันเถอะ !” ก็คงจะไม่ทันกาลและไร้ประโยชน์ แต่เอาเป็นว่าเผื่อฟลุ๊ค คือ เผื่อคำพยากรณ์จากหนังฮอลลีวูดเรื่องนั้นไม่ศักดิ์ศิทธิ์ โลกไม่แตกจริงดังว่า หัวข้อชวนเชิญให้ปลูกต้นไม้ดังว่าก็น่าจะยังประโยชน์ในการยืดอายุโลกอยู่บ้าง ต้นไม้ที่ชวนกันให้ปลูกที่ว่านี้ควรเป็นพวกไม้ยืนต้น ทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ อย่างน้อยเมื่อโตแล้วก็ให้ได้ความสูงสัก 15-20 เมตร ประมาณนั้น ร่มเงามันจะได้ช่วยโลกในการดูดซับคาบอนไดออกไซด์ และผลิตออกซิเจนให้บรรดาคนและสัตว์โลกทั้งหลาย อย่างน้อยก็เพื่อได้ช่วยยืดชีวิตพวกมนุษย์ในยุคทุนนิยมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความโลภและอหังการ์ไปได้อีกสักหน่อยนึงเพื่อเป็นบุญ ผลการศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์สรุปได้แล้วว่า ต้นไม้ขนาดความสูง 15-20 เมตรที่มีร่มเงา (โดยเฉพาะที่มีใบเล็กละเอียดแบบต้นจามจุรีหรือฉำฉา) จะดูดซับคาบอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 48 ปอนด์/ปี และปล่อยออกซิเจนออกมาไม่น้อยกว่า 260 ปอนด์/ปี ซึ่งนั่นหมายความว่า ต้นไม้ต้นหนึ่งสามารถผลิตออกซิเจนให้คนใช้หายใจเพื่อมีชีวิตอยู่ได้ 2 คน!! ดีกว่าต้องไปซื้อออกซิเจนในถังเพื่อหายใจที่โรงพยาบาลเยอะเลย! พูดถึงยุคโลกร้อนอย่างที่มนุษย์ทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน(ผู้นำแบบทุนนิยมจักรพรรดินิยมที่มักมากเห็นแก่ตัวอย่างนายทรัมป์ ประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่เชื่อเรื่องดังกล่าว นำประเทศถอนตัวจากพันธะสัญญาเรื่องนี้ของชาวโลก บอกว่าเปลืองตังค์ ไม่ขอสนับสนุนแล้ว อเมริกันต้องมาก่อนจริงๆ!) ก็ต้องบอกว่าต้นไม้นี่แหละคือทางแก้ที่แท้จริง เพราะนักวิทยาศาสตร์เขาวิจัยแล้วว่าต้นไม้ที่มีความสูงขนาด 15-20 เมตร สามารถผลิตความเย็นได้เท่ากับเครื่องปรับอากาศ 5 เครื่องรวมกัน! (ไม่บอกว่าเครื่องละกี่บีทียู.) นักวิทยาศาสตร์คำนวนมูลค่าทางนิเวศวิทยาของต้นไม้แล้วแปรผลการวัดออกมาเป็นจำนวนเงิน สรุปได้ว่า ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งมีมูลค่าไม่น้อยกว่าต่นละ 200,000 บาท! นี่ เอาข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการวิจัยแล้วมายกให้ดูเพียงเบาะๆเท่านั้น มีเหตุผลอื่นอีกมากมายที่บอกถึงคุณค่าของต้นไม้ (โดยเฉพาะต้นไม้ที่ดำรงร่วมกันอยู่ในลักษณะ “ป่า” ใครที่เป็นชาวพุทธย่อมรู้ดีว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงตรัสถึงคุณของต้นไม้ไว้อย่างมากมายเพียงใด เป็นต้น ว่ากันเฉพาะเมืองไทยเราที่เพิ่งผ่านยุคคสช.(พวกนิยมระบบแบบตะวันตกจ๋าเรียก “พวกเผด็จการ”) เข้าสู่ยุค “ประชาธิปไตย”(เพราะมีการเลือกตั้งทั่วไป?) อย่างปัจจุบัน นับว่ามี “วาระแห่งชาติ” เรื่องการปลูกต้นไม้ที่น่าสนใจยิ่ง เพราะในยุคเผด็จการ คสช.นี่แหละที่มีการแก้ไขกฎหมายป่าไม้ฉบับเก่าที่มีมาตั่งแต่พ.ศ.2484 (ผ่านระบบ “ประชาธิปไตย” ที่มีรัฐบาลซึ่งมาจากประชาชนไม่รู้กี่สิบครั้งแล้ว!) และเป็นที่รู้กันว่าหลายส่วนหลายมาตราล้าสมัยมาก มุ่งป้องกันปราบปรามแต่เพียงอย่างเดียว ไม่มีบทสร้างแรงจูงใจให้คนปลูกหรือรักต้นไม้แต่อย่างใด หลังประกาศใช้พรบ.ป่าไม้ฉบับที่ 8 (แก้ไขปรับปรุงจากพรบ.ปี 2484)ในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 16 เมษายน 2562 แล้ว ดูเหมือนบรรยากาศที่เป็นแรงจูงใจให้คิดปลูกต้นไม้ ทั้งที่เป็นสวนป่าและไม่เป็นสวนก็มีมากขึ้น แม้กฎหมายลูกจะยังไม่คลอด แต่ดูเจตนากฎหมายแม่ที่แก้ไขจากเดิมก็น่าจะพอกล้อมแกล้ม มาตราสำคัญที่สุดน่าจะเป็นมาตรา 7 มีตอนหนึ่งจำความได้ ประมาณว่า มีถ้อยความดังนี้ “... สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ตามประกาศกฎหมายที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็นไม้ต้องห้าม...” แม้ยังมีคำยากเข้าใจอยู่หลายคำที่ทำให้ไม่มั่นใจ เช่นคำ “ที่ดินกรรมสิทธิ์” กับ “ที่ดินที่ได้รับอนุญาต” ว่าศักดิ์และสิทธิ์(ดังปรากฏรายละเอียดอยู่ในมาตราอื่น) ต่างกันขนาดไหนอย่างไร แต่อย่างน้อยก็รู้ว่าไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์(โฉนดทุกชนิด/นส๓ ทุกชนิด/นค.๒/นค.๑/ใบนำเหยียบย่ำ)ไม่ใช่ “ไม้หวงห้าม” เจ้าของสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต(ไม่นับเพื่อการค้าหรือเพื่อข้ามเขตด้านป่าไม้ซึ่งต้องรอกฎหมายลูกในแนวปฏิบัติ) ดูดีขึ้นเยอะเชียวแหละ อย่างน้อย “ต้นไม้” ก็กลายเป็น “สินทรัพย์” ที่มีมูลค่า เจ้าของที่ดินสามารถใช้แปรค่าเกินคุณสมบัติอย่างอื่นได้ เช่นใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้บางประเภท เป็นต้น แต่เชื่อเถอะ เหตุผลที่เกิดจากความเข้าใจเรื่องคุณค่าของต้นไม้ที่ยกมาให้ดูช่วงแรกๆน่าจะสำคัญกว่าเหตุผลในเรื่องความมีมูลค่าในฐานะ “ทรัพย์สินเอกชน” (คือ “Private property” ซึ่งเป็นหัวใจของระบบทุนนิยม) เพราะ การคิดแบบนั้นจะไม่นำความทุกข์ให้ตามมาในภายหลัง ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำให้คนในสังคมไทยทั้งสังคม “ตื่น” ขึ้นมาร่วมกันปลูกต้นไม้พร้อมๆกันจนสามารถสร้าง “กระแส” ให้ใครที่ไม่ปลูกต้นไม้รู้สึก “เชย” หรือเป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างน่าชังนั้น ย่อมต้องเป็นหน้าที่หลักของรัฐว่าจะทำอย่างไร ก็ทั้งนักวิชาการ ทั้งคนที่เกี่ยวข้องโดยตรง และเงินงบประมาณ ก็มีอยู่ในมือมาตั้งนานแล้วนี่! แต่ถ้ามืดแปดด้านไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ลองตั้งทีมศึกษาแนวคิดที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยพระราชทานไว้ให้ตั้งนานนมแล้วนั่นไง “ต้องเริ่มต้นที่ปลูกไม้ในใจคนก่อน” !!!!