แสงไทย เค้าภูไทย ความเชื่อมั่นของคนไทยในเศรษฐกิจและการเมืองต่ำสุดในรอบ 18 ปี ขณะที่สถานการณ์การเลิกจ้างในภาคอุตสาหกรรมนับวันแต่จะเลวร้าย คนตกงานกว่า 4 แสนคนเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปี กรมพัฒนาการธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุ เดือนกรกฎาคม 62 มีธุรกิจเลิกประกอบกิจการ 1,594 ราย เพิ่มขึ้น 26% จำนวนคนว่างงาน เดือนมิถุนายน 3.82 แสนคน เดือนกรกฎาคม 4.36 แสนคน เพิ่มขึ้น 5.4% เดือนสิงหาฯ-กันยาฯ-ตุลาฯ ยังไม่มีตัวเลขเปิดเผยออกมา สำหรับภาคอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยตัวเลขโรงงานแจ้งเลิกกิจการใน 10 เดือนแรกของปีนี้แล้ว 1,989 รายจำนวนแรงงาน 49,157 คน สำหรับ 2 เดือนที่เหลือ แนวโน้มตัวเลขปิดโรงงานน่าจะผ่าน 2,300 โรงเนื่องจากมีตัวเลขดิบว่า มีราว 300 โรงงานเตรียมปิดกิจการ ทั้งภายในสิ้นปีนี้และต้นปีหน้า โรงงานที่ทยอยปิด ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก อย่างเช่นล่าสุดโรงงานผลิตเสื้อผ้าเพื่อส่งออก นิตพอยต์จังหวัดนครปฐม ดำเนินกิจการมา 11 ปี จำนวนแรงงานล่าสุด 230 คนเป็นต้น โรงงานชี้แจงต่อแรงงานที่ถูกเลิกจ้างว่า บริษัทขาดทุนสะสมมานานจนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ สำหรับค่าจ้างและค่าชดเชยเป็นเงินกว่า 4 ล่าน 4 แสนบาทนั้น ทางบริษัทจะขายเครื่องจักรที่ไม่ติดจำนองนำเงินมาชดเชยให้ เหตุผลนี้ ใช้กับโรงงานอื่นๆที่ปิดไปแล้วและกำลังจะปิดเหมือนกันหมด อีกด้านหนึ่ง ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผูัอำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยถึงผลการสำรจความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2562 ว่าปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 8 ทั้งๆที่รัฐบาลเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินหลากหลายรูปแบบ เหตุที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงมาจากมีความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ความเชื่อมั่นด้านการเมืองนี้ สวนดุสิตโพล สำรวจความเห็นเดือนตุลาคมด้วยตัวชี้วัด 25 ประเด็นพบว่าลดลงต่อเนื่องอีกเดือน โดยได้ 4.09 จากเต็ม10 สอดคล้องกับผลสรุปนิด้าโพลที่ว่า ประชาชนหนุนฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล สำหรับความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจนั้น เหตุผลหนึ่งคือเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า กำลังซื้อของประชาชนไม่ฟื้นตัว สถานการณ์เศรษกิจโลกไม่แน่นอน โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน Brexit และการประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ไทยของสหรัฐ ดัชนีเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 57.9 ดัชนีเชื่อมั่นในโอกาสหางานทำโดยรวม 67.0 และดัชนีเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 87.3 ตามลำดับ จากเดือนกันยายน 59.3,68.5 และ 88.9 จาก 100 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index- CCI) 46.5 ต่ำสุดในรอบ 217 เดือนหรือ 18 ปี 1 เดือน ความเชื่อมั่นลดลงนี้ เกิดจากความกังวลที่สหรัฐประกาศตัดจีเอสพีสินค้าไทย 571 รายการหรือ 1 ใน 3 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดไปสหรัฐ ทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 4-5% ส่งผลกระทบต่อรายได้ประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์หรือราว 4 หมื่นล้านบาท รายได้ที่เสียไปกับการถูกตัดจีเอสพี สูงกว่าเงินที่เราจ่ายซื้อเฮลิคอปเตอร์จู่โจมรุ่น AH-6i จำนวน 8 ลำ วงเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาทถึงกว่าเท่าตัว นอกจากการถูกตัดจีเอสพีแล้ว ค่าบาทยังแข็งเสียจนสินค้าไทยแพงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หยวน ปอนด์ ยูโร ตลาดใหญ่ของเรา ส่งผลกระทบต่อการส่งออกรุนแรงทำให้หลายโรงงานในอุตสาหกรรมส่งออกมองไม่เห็นอนาคต บางรายที่ขาดทุนสะสมอย่่างนิตพอยต์ถึงกับตัดสินใจปิดโรงงาน นอกจากสินค้าอุตสาหกรรมแล้ว สินค้าเกษตรก็มีตัวเลขส่งออกลดลง ทั้งข้าว ยางพารา อ้อย(น้ำตาล) ปาล์ม(น้ำมัน) เฉพาะข้าวนั้น การถูกตัดจีเอสพีส่งผลต่อข้าวไทยไปสหรัฐปีละกว่า 3 แสนตัน ขณะที่เพื่อนบ้านเมียนมาใช้ข้าวแลกอาวุธจีน ทำให้ไทยสูญเสียตลาดใหญ่ไปอีกแห่ง สำหรับยางพารา เมื่ออุตสาหกรรมยางรถยนต์จีนหันมาใช้ยางสงเคราะห์จากกากเหลือทิ้งจากโรงกลั่นน้ำมันดิบ การใช้ยางธรรมชาติจึงลดลงด้วย นอกจากทำให้ยางไทยราคาตกจนรัฐต้องเข้าแทรกแซงราคาแล้ว เกษตรกรสวนยางจีนที่นำพันธุ์จากไทยไปปลูกสิบกว่าล้านไร่ก็เดือดร้อนด้วย แม้จะโค่นต้นทำเป็นไม้ยาง แต่ก็ขายไม่ออก นี่คือสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ทำให้คนไทยหวั่นวิตกจนความเชื่อมั่นทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองลดต่ำเป็นประวัติการณ์ ที่เปรียบเปรยกันว่า ปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริงนั้น คงจะต้องเปลี่ยนเป็น ปีนี้เผาจริง ปีหน้าเก็บอัฐิแทน