เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ชาวนาตากข้าวบนถนนลาดยางถนนปูนมานานแล้ว หลายปีก่อนอาจจะน้อย แต่หลังๆ นี้มีอยู่ทั่วไป กลายเป็นข่าวเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เห็นข่าวว่าบางแห่งตากยาว 8 ก.ม. ในอดีต ชาวนาไม่ตากข้าวบนถนน ไม่ใช่เพราะไม่มีถนนลาดยางหรือถนนปูน แต่เพราะวิถีชาวนาในอดีตไม่ได้มีความจำเป็น ลงแขกเกี่ยวข้าวเสร็จก็ตากไว้ตามทุ่ง เสร็จแล้วก็นำมากองไว้ที่ลาน ทำการนวดข้าว ซึ่งใช้เวลาหลายวันกว่าจะเสร็จ จบกระบวนการทั้งหมดข้าวก็แห้งแล้ว วันนี้ชาวนาจ้างรถมาเกี่ยวข้าว วันเดียวเสร็จ ใส่ถุงใส่กระสอบทันที ข้าวก็ชื้น เอาไปขายเขาก็ไม่เอา หรือไม่ก็หักความชื้นออกมาก หรือจะเอาเก็บไว้กินก็ยังต้องตากให้แห้งก่อน ไม่ให้ขึ้นรา ถามว่าทำไมไม่ตากข้าวในทุ่งนา ก็ถนนลาดยางลาดปูนเก็บความร้อน ทำให้ข้าวแห้งเร็วกว่า และการตากการเก็บสะดวกกว่าในทุ่งนา ชาวนาไม่ได้มีลานตากข้าว ไม่ได้ห้องอบ ไม่มีไซโลเหมือนพ่อค้านายทุน ในประเทศพัฒนาแล้ว เขาไม่ได้มีปัญหาพวกนี้เพราะเขามีสหกรณ์ ซึ่งร่วมกันตั้งแต่วางแผนการผลิต การลงทุนซื้อเครื่องมือใหญ่ๆ ด้วยกัน การแปรรูป การขาย การจัดการทุกอย่างทุกขั้นตอน เขาไม่ได้มีพ่อค้าคนกลาง ไม่ได้มีเจ้าของโรงสีที่มีทุนและเครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่างเหมือนบ้านเรา สหกรณ์การเกษตรของประเทศพัฒนาเขามีห้องอบผลผลิต ห้องเย็นเก็บผักผลไม้ มีไซโล มีทุนของตนเองที่ไม่ใช่ไปกู้ธนาคารมาปล่อยสมาชิก แต่มีการออมอย่างเป็นระบบและมีวินัย ทำให้ออมทรัพย์สหกรณ์ในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก เป็นของเกษตรกรไม่ใช่ของรัฐ สหกรณ์เกิดขึ้นในเมืองไทยเมื่อ 103 ปีก่อน ข้อมูลของกระทรวงเกษตรเมื่อปี 2559 บอกว่า สหกรณ์การเกษตรมีจำนวน 3,613 แห่ง มีสมาชิก 6.4 ล้านคน ถ้าดูจากตัวเลขอย่างเดียว สมาชิกสหกรณ์การเกษตรก็น่าจะเท่ากับหรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของ “เกษตรกร” ไทยแล้ว แต่ในความเป็นจริง มีสหกรณ์ดำเนินงานจริงจำนวนมากขนาดนี้หรือไม่ และมีคุณภาพเพียงใดก็ให้เป็นที่สงสัยนัก ดูแค่ปัญหาร้อยแปดของเกษตรกรในทุกจังหวัด ไม่ว่ามีสหกรณ์หรือไม่มีก็ดูเหมือนจะไม่แตกต่างกัน ชาวนาก็ยังมีปัญหา ยังเอาข้าวไปตากบนถนนเหมือนกัน ปัญหาชาวนาซับซ้อนกว่าและใหญ่กว่าที่สหกรณ์จะแก้ได้ ไม่ใช่เพราะสหกรณ์ไม่ดี แต่เพราะสหกรณ์อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของรัฐ เกิดมาได้ 100 กว่าปียังไม่มีอะไรที่ทำให้เชื่อว่าจะพัฒนาและแก้ปัญหาเกษตรกรได้จริง ยังเป็นไม้ในกระถาง และนโยบายของรัฐก็ไม่มีเป้าหมายหรืออะไรชัดเจน ที่ดูเหมือนจะดีก็มีแต่ธ.ก.ส. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่ปล่อยเงินกู้ให้เกษตรกร ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม รายสหกรณ์ รายกลุ่มเกษตรกร (ที่เป็นนิติบุคคลน้องๆ สหกรณ์) แต่สถานะ “มั่นคง”ทางการเงินของธ.ก.ส. ไม่ได้แปลว่าเป็นกลไกที่ดี เพราะถ้า “ดีจริง” น่าจะทำให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้มแข็งมากกว่านี้ อย่างน้อยสมกับวิสัยทัศน์สวยหรูที่ว่า “เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่มั่นคง มีการจัดการที่ทันสมัย ให้บริการทางการเงินครบวงจร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน” ไม่ทราบว่า ยุทธศาสตร์ 20 ปี ของรัฐบาลไทยมีแผนพัฒนาสหกรณ์ในรายละเอียดว่าอย่างไร ทั้งคุณภาพและปริมาณ และรายละเอียดในแผนการดำเนินงาน ยุทธวิธีเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมาย ทำให้ชาวไร่ชาวนาพึ่งพาตนเองได้ ไม่ใช่รอแต่โครงการประชานิยมประชารัฐ หรือมีแต่กลไกอย่างธ.ก.ส. และกรมต่างๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ซึ่งอุตส่าห์เติมคำว่า “สหกรณ์” เพื่อให้เห็นความสำคัญ) โลกที่กำลังเปลี่ยนแบบ “เปลี่ยนดับ” (disruptive) ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้ของใหม่ดับของเก่า ปัญหาเร่งด่วนของบ้านเราคือแรงงานภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่กำลังถูกโละเพราะปัญญาประดิษฐ (AI) ต่างๆ ดับอนาคตของแรงงานหลายล้านคนอย่างแน่นอน ด้วยความรู้ความสามารถที่จำกัด แรงงานส่วนใหญ่คงทำได้อย่างมากก็กลับไปทำการเกษตรในชนบท ซึ่งอย่างไรเสียก็ยังมีอนาคตกว่าหางานทำรับจ้างในเมือง เพียงแต่ต้องเรียนรู้ ปรับตัว ไม่ใช่เพียงแต่หาความรู้ด้านการเกษตร แต่รวมไปถึงการบริหารจัดการที่ทันสมัยและมีพลัง จุดแข็งข้อได้เปรียบของภาคเกษตร คือ มีปัจจัยการผลิต ดิน น้ำ แดด ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชสัตว์ อาหาร และความต้องการอาหารปลอดภัยของโลก ซึ่งไทยยังมีศักยภาพสูงมากในฐานะผู้ผลิต เพราะสำคัญที่สุด คือ “แรงงาน” มีคนที่ยังอยู่ในภาคเกษตร มีคนที่ตกงานจากภาคอื่น คนเหล่านี้ต้องการความรู้และการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง จะเป็นวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์ ก็ได้ ขอให้รวมกลุ่มกันคิด ทำ จัดการในทุกกระบวนการขั้นตอน และมีเครือข่ายทั้งในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริหาร น่าเสียดายว่า หนึ่งในกระทรวงที่น่าจะมีความสำคัญมากที่สุดวันนี้ คือ กระทรวงเกษตร กลับไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล นักการเมือง อย่างที่ควรจะเป็น มีระบบโครงสร้างที่ครอบคลุมไปทั่วประเทศ แต่ด้วย mindset เก่าแก่ วิธีคิดที่โบราณของ “รัฐ” ทำให้กระทรวงนี้ไม่มีบทบาทนำในการพัฒนาบ้านเมือง ถ้าประเทศไทยมีการปฏิรูปสองกระทรวง คือ กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เราจะอยู่ในโลกที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงเร็วเพียงใดก็อยู่รอดได้และไม่อายใคร