“ทุนทางวัฒนธรรม” คำนี้เริ่มมาจากนักวิชาการตะวันตก และเมื่อถูกดึงมาใช้กับเรื่อง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ถูกมองว่าวัฒนธรรมเป็นต้นน้ำ เป็นทุนที่สามารถให้กำเนิดสินค้าสร้างสรรค์ได้นานัปการ “วัฒนธรรม” จึงถูกมองเป็นวัตถุ เป็นสินค้า     คำว่า “วัฒนธรรม” เป็นศัพท์บัญญัติจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Culture การใช้คำ “วัฒนธรรม” ในปัจจุบันนี้โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ท างราชการมักเข้าใจเอาว่าวัฒนธรรมคือเรื่องที่ดีงาม (จึงงอกงาม) เท่านั้น เรื่องที่ไม่ดีงาม ไม่ใช่วัฒนธรรม แต่ในความเป็นจริงวัฒนธรรมคือสิ่งที่มนุษย์ประพฤติปฏิบัติกัน มันจึงมีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งก็เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ด้วย วัฒนธรรมสะสมมาจากทั้ง บารมี(กรรมดี)และอาสวะ (กรรมชั่ว)    ทั้งกรรมดีและกรรมชั่วของมนุษย์ตั้งแต่อดีตกาลนานโพ้นสะสมกันก่อตัวเป็นวัฒนธรรม มนุษย์สร้างวัฒนธรรมขึ้น แล้ววัฒนธรรมก็สร้าง และ/หรือ กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์รุ่นต่อไปด้วย         วัฒนธรรมเป็นองค์รวมที่สลับซับซ้อนรวมไปถึงวิทยาการ ความเชื่อ ศิลปะ คุณธรรม กฎหมาย ขนบประเพณี ความสามารถและความเคยชินทั้งปวงที่มนุษย์ได้รับจากสังคม               ความหมายของคำว่าวัฒนธรรมมันครอบคลุมกว้างขวางมาก จะกำหนดคำจำกัดความให้ชัดคงไม่ได้ แต่เนื้อหาของวัฒนธรรมนั้นพอสรุปรวมได้ 3 ด้าน ได้แก่               1.“รูปการจิตสำนึก” อันรวมถึงโลกทัศน์ของมนุษย์ (โลกทัศน์คือการมองโลก มองสังคมด้วยความเข้าใจหรือทัศนะอย่างไร) รูปแบบวิธีคิด ความเชื่อทางศาสนา ลักษณะพิเศษทางจิตวิทยา ค่านิยม มาตรฐานทางคุณธรรม ความรู้ความสามารถในการทำความเข้าใจโลก (ความรู้ทางวิทยาการทั้งหลายแหล่นั่นเอง )               2. รูปแบบการดำรงชีวิต รวมถึงรูปแบบและท่าทีต่อเรื่องที่อยู่อาศัย อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม พิธีกรรมในการเกิด การแต่งงาน การบวช การป่วย การตาย วิถีชีวิตในครอบครัว วิถีชีวิตในสังคม เป็นต้น               3. ผลิตผลด้านวัตถุของจิตใจ ด้านนี้ก็อธิบายยากอีก เพราะสิ่งที่เป็นวัตถุนั้นคนส่วนใหญ่มักมองว่ามันไม่ใช่เรื่องวัฒนธรรม แต่เมื่อมองให้ทะลุวัตถุนั้นๆ เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นความแตกต่างทางทัศนะของมนุษย์ ตัวอย่างที่จะเข้าใจง่ายหน่อยก็เช่น หนังสือ หนังสือเป็นวัตถุ แต่เรื่องหนังสือเป็นเรื่องของวัฒนธรรม มิใช่เพราะความเป็นวัตถุของมัน หากแต่เพราะเนื้อหาในหนังสือ                ขอบเขต 3 ด้านนี้พอจะครอบคลุมเรื่องวัฒนธรรมได้ แต่วัฒนธรรมก็มิใช่การประกอบส่วน 3 ด้านนี้เข้าด้วยกันอย่างกลไกเท่านั้น ทั้งสามด้านนี้ส่งผลสะเทือนถึงกันและกัน เป็นปัจจัยให้กันและกันอย่างซับซ้อน การทำความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมเพื่อนบ้านอาเซียน และภาระหน้าที่การสร้างอัตลักษณ์ร่วมกันของอาเซียน ค่านิยมอาเซียน ฯลฯ ควรจะศึกษาวิจัย สร้างสรรค์ให้ครอบคลุมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับทั้งสามด้านข้างต้น งานสร้างสังคมไทยให้ดีงามในทุกด้าน สร้างสังคมไทยให้ดีงามในทุกด้านนั้น คนส่วนใหญ่มักมองเห็นด้านเศรษฐกิจสังคมก่อน มักคิดไปว่า ถ้าแก้ไขปัญหาความยากจน ยกระดับฐานะเศรษฐกิจของคนไทได้สำเร็จ คนไทยเป็นไททางเศรษฐกิจ ไม่ต้องพึ่งพาระบบอุปถัมป์พึ่งพิงอีกต่อไป สังคมก็จะดีขึ้นเอง แต่เราเชื่อว่างานด้านวัฒนธรรมเป็นงานสำคัญที่สุด จะต้องทำให้วัฒนธรรมไทยส่วนที่ดีงามมีความเข้มแข็งและมั่นคง สังคมไทยจึงจะดีงาม วัฒนธรรมส่วนไหนไม่ดีงามก็ต้องปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงละเลิก สังคมไทยจึงจะดีงาม