แสงไทย เค้าภูไทย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้พ้นสภาพ ส.ส.ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เชิงลบกันกว้างขวางจนรัฐบาลถึงกับต้องออกพระราชกำหนดห้ามวิจารณ์ศาลที่เข้าข่ายหมิ่นศาล แทนที่จะคิดว่าควรจะยกเลิกข้อห้ามนี้ดีไหม หรือจะครอบคลุมสื่อดิจิทัลที่คนไทยรวมทั้งนักการเมืองเป็นเจ้าของถึงกว่า 45 ล้านบัญชี วันนี้ คนไทย เป็นเจ้าของบัญชีสื่อดิจิทัล(เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม ฯลฯ) แบ่งเป็นเพศชาย 23 ล้านบัญชี เพศหญิง 22 ล้านบัญชี ถ้าถือว่าสื่อดิจิทัลมีสถานะเป็นหนังสือพิมพ์ หรือสื่อวีดิทัศน์(วิดิโอ คลิป เสียงฯลฯ) ก็ต้องถือว่าคนไทยเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ 45 ล้านฉบับ/สำนัก ในจำนวน 45 ล้านฉบับและสำนักนั้น มีทุกชนชั้น ทุกอาชีพ ซึ่งรวมทั้งนักข่าว คอลัมนิสต์ และนักการเมืองเป็นเจ้าของ มีอิทธิพลเหนือกว่าหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนทุกแขนง ในอดีต ในบรรดาสื่อมวลชนที่เรียกสั้นๆว่า “สื่อ” อันมีวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์รูปแบบต่างๆนั้น หนังสือพิมพ์รายวันได้ชื่อว่าเป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงที่สุด แต่ปัจจุบันนี้ สื่อดิจิทัลมีอิทธิพลแทนที่หนังสือพิมพ์เสียจนหนังสือพิมพ์และวารสารรายต่างๆปิดกิจการกันเป็นแถว วารสารของบริษัท วีลัค ที่เป็นตัวการทำให้ธนาทรพ้นสภาพ ส.ส.ก็ตกชะตากรรมเดียวกัน ที่อยู่รอด ยอดขายก็ตกลงไปกว่าครึ่ง โดยเฉพาะไทยรัฐนั้น จากยอดขายวันละ 1 ล้านกว่าเล่ม ลดเหลือ 6 แสนกว่าเล่ม ในยุคหนังสือพิมพ์ครองตลาดสื่อฯนั้น นักการเมืองใช้ประโยชน์จากการสื่อสารด้านนี้ สองด้าน ด้านสร้างสรร คือสร้างความถี่ในการพบปะประชาชน แสดงความคิดเห็น ชี้แจงประชาสัมพันธ์ตนเอง ประชาสัมพันธ์พรรค สร้างภาพ โฆษณาทางตรงและทางอ้อม ด้านทำลาย คือใช้ประโคมโหมนำเสนอต่อสาธารณชน ทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย ใส่ร้าย ฝ่ายตรงกันข้าม เช่นขุดคุ้ยข้อมูลมาทำลายฝ่ายตรงกันข้ามอย่างคดีจำนำข้าวเป็นต้น มองอีกด้าน อิทธิพลสื่อต่อการเมืองจนถึงกับตราเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ ห้ามส.ส.เป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชนนั้น หากมองกันด้วยความเป็นจริงแล้ว นักการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของ มีนอมินีถือหุ้นหรือให้ทุนกันลับๆ บางรายเจาะรายตัว ให้เงินนักข่าวนักเขียนเป็นงานๆหรือเชียร์ตลอดชาติ อย่างที่ปรากฏบนสื่อออนไลน์ขณะนี้ก็มี ไม่ต่างไปจากยุคก่อน ยุคเก่า เท่าใดนัก แม้จะรู้กันว่า นายคนนั้น เป็นเจ้าขอองหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ฉบับนี้ แต่นายคนนั้น ไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทกิจการหนังสือพิมพ์นั้นๆ แต่เป็นที่รู้กันว่า นักการเมืองคนนั้น เป็นนายทุนให้ กรณีนี้ เคยมีคำพูดยอกย้อนล้อเลียนกันช่วงหนึ่ง เมื่อมีการหยิบยกกล่าวอ้างถึง “บ้านเมืองเป็นของใคร? ” คำถามนั้นมุ่งคำตอบว่า “ชาติบ้านเมือง มิใช่ของใครคนเดียว” แต่เกิดมีคำตอบสวนมาว่า “บ้านเมืองเป็นของบรรหาร” หมายถึงหนังสือพิมพ์บ้านเมืองเป็นของนายบรรหาร ศิลปอาชา หลายๆคนคิดว่า การเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์นั้น ทำให้ได้เปรียบนักการเมืองหรือพรรคการเมืองอื่น ใช้เชียร์ตัวเอง “ด่า”ฝ่ายตรงข้าม คือหนังสือพิมพ์ ให้คุณและให้โทษทางการเมืองได้ ใครเป็นเจ้าของถือว่าเอาเปรียบคนอื่น แต่ในทางตรงกันข้าม การมีสื่อในมือใช่ว่าดีนัก สมัย ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช ที่ใครๆก็รู้ว่า ท่านเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เป็นคอลัมนิสต์มาตลอดชีวิตของท่าน ใครๆพากันคิดว่า กิจสังคมและสยามรัฐจะเอื้อต่อกัน แต่กลับตรงกันข้าม นักข่าวนักเขียนของสยามรัฐ กลายเป็นหอกข้างแคร่ ไม่เชียร์ไม่แช่ง แต่วิจารณ์รัฐบาลกิจสังคมเอาแสบๆ แทนที่จะขายดี กลับกลายเป็นยอดขายตก เหตุคนไทยชอบฝ่ายค้าน คิดว่าเมื่อกิจสังคม เป็นรัฐบาล สยามรัฐก็จะเอาแต่เชียร์รัฐบาล จึงไม่ซื้อ ซ้ำไม่เปิดดูเนื้อหาข้างใน อาจารย์คึกฤทธิ์ ถึงกับปรารภว่า กิจสังคมเป็นรัฐบาลทีไร สยามรัฐยอดขายตกทุกที จึงไม่ใช่ตรรกะที่ว่า หนังสือพิมพ์จะเชียร์นักการเมืองหรือ ส.ส.เจ้าของหรือนายทุนของตนเสมอไป มองอีกมุม สื่อสังคมออนไลน์หรือเรียกกันติดปากว่า สื่อโซเชียล ที่ทุกคนที่มีโทรศัพท์มือถือมีสิทธิ์ เป็นเจ้าของสื่อได้ ตีความว่า เป็น “สื่อมวลชน” หรือไม่ ถือเป็นว่าสื่อดิจิทัลเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน ฉบับหนึ่งหรือไม่ ? โดยนับเนื่องจากหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับที่ต่างเปิดเว็บไซต์ ออนไลน์กันอีกเวอร์ชั่นหนึ่งหมดแล้ว หากถือว่าสื่อโซเชียลคือหนังสือพิมพ์รายวันออนไลน์ฉบับหนึ่ง การตรากฎหมายห้าม ส.ส.เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในหนังสือพิมพหรือสื่อรูปแบบอื่นๆนั้น จะยังคงอยู่หรือควรยกเลิก ถ้าคงไว้ จะดำเนินคดีกับ ส.ส.หรือคนในรัฐบาลที่เป็นเจ้าของ page ใน Facebook หรือเจ้าของ IG Address ในอินสตาแกรม หรือรูปแบบอื่นๆหรือไม่ ? หนังสือพิมพ์รายวันนััน มีพื้นที่นำเสนอเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า หรืออวิชา เชียร์ แช่ง ด่า ก็ไม่เกิน 24 หน้า อายุข่าว บทความ 24 ชั่วโมง เผยแพร่ก็แต่ในประเทศเป็นหลัก ต่างจาก สื่อดิจิทัล มีพื้นที่นำเสนอ มหาศาลกระจายไปทั่วโลก แชร์ซ้ำเนื้อหาเดิมได้ไม่จำกัดเวลา สื่อไหนร้ายกว่ากัน ?