เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ในปาฐกถาที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พระสันตะปาปาฟรานซิสได้พบผู้นำ 5 ศาสนา อาจารย์ นักศึกษาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทรงรำลึกถึงการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเยือนวาติกัน และเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 เมื่อ 122 ปีก่อน พระสันตะปาปาทรงเอ่ยถึงเหตุการณ์นั้น เพราะนอกจากเป็นครั้งแรกที่ผู้นำประเทศที่ไม่ใช่คริสต์ที่ได้เยือนวาติกันและเข้าเฝ้าพระสันตะปาปา ที่สำคัญ เพราะทั้งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ทรงมีพระภารกิจสำคัญยิ่งที่คล้ายกันในด้านการปฏิรูปศาสนาและบ้านเมือง พระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ทรงเป็นนักปฏิรูปศาสนา ทรงมีพระสมณสารที่มีชื่อเสียงชื่อ “Rerum Novarum” เมื่อปี 1891 ซึ่งพูดถึงสิทธิแรงงานกับค่าจ้างที่เป็นธรรม เงื่อนไขการทำงานที่ปลอดภัย และการก่อตั้งสหภาพแรงงาน แต่ก็ยืนยันสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคลและการประกอบการเสรี นับเป็น “ทางเลือกที่สาม” จากสองทางหลักในยุคนั้น คือ สังคมนิยมที่กำลังเบ่งบานจากฐานคิดของคาร์ล มาร์กซ์ และเสรีนิยม-ทุนนิยม สมณสารนี้นับเป็นรากฐานสำคัญของคำสอนทางสังคมของพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก จะเห็นได้จากสมณสารของพระสันตะปาปาองค์ต่อๆ มา ที่ออกมาเพื่อรำลึกถึงครบรอบ 40 ปี, 70 ปี, 80 ปี, 100 ปี รวมทั้งในสมณสารและเอกสารอื่นๆ โดยเฉพาะในเอกสารสำคัญของสังคายนาวาติกันที่ 2 (1963-1965) และที่เห็นได้ชัดเจนในปาฐกถาของพระสันตะปาปาฟรานซิสในการเสด็จเยือนไทยครั้งนี้ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปประเทศสยามให้ “ทัดเทียมอารยประเทศ” ที่ได้เสด็จไปเยือนในยุโรป 2 ครั้ง ทรงสถาปนาความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ ทรงเลิกทาส และปฏิรูปการปกครองบ้านเมือง รวมทั้งการพัฒนาสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเชื่อมโยงเหตุการณ์ที่วาติกันเมื่อ 122 ปีก่อน กับการปฏิรูปศาสนาของพระสันตะปาปาและการปฏิรูปบ้านเมืองของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เรื่องการเลิกทาส ซึ่งแม้วันนี้ก็ยังมีอยู่มากมายหลายรูปแบบ เพราะไม่เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การค้ามนุษย์ที่ยังคงอยู่ หญิงบริการที่ทำเพื่อความอยู่รอดในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ คนยากจน คนชายขอบ ผู้อพยพ พวกเขาคือพี่น้องที่ลำบากยากแค้นเพราะเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม พระสันตะปาปาทรงกล่าวถึงปัญหาในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันหมด ความเสื่อมโทรมรอบด้าน ภาวะสงคราม ความยากจน ความหิวโหย “กำลังทำลายโลกอันเป็นบ้านส่วนรวมของพวกเราทุกคน” วิธีคิดแบบแยกส่วนไม่สามารถแก้ปัญหาอันเป็นองค์รวมและสัมพันธ์กันหมดรอบด้านนี้ “ยุคนี้เป็นยุคที่ต้องกล้าจินตนาการถึงวิธีคิดใหม่ ที่ต้องการหันหน้าเข้าหากันและสานเสวนา – โดยการเสนอกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง” “ข้าพเจ้าเชื่อว่า สถาบันศาสนารวมถึงสถาบันการศึกษาทุกระดับ สามารถมีส่วนร่วมและช่วยได้โดยไม่ต้องละทิ้งพันธกิจหลักและความเชี่ยวชาญเฉพาะตนไป ทุกสิ่งที่เราทำเพื่อการดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการรับประกันสิทธิในอนาคตของอนุชนรุ่นหลัง ทั้งยังเป็นการธำรงไว้ซึ่งควายุติธรรมและสันติภาพ ที่เป็นวิธีเดียวที่จะเตรียมเครื่องมือที่จำเป็น เพื่อให้พวกเขาเป็นผู้สร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” พระสันตะปาปาทรงเรียกร้องให้ร่วมมือกันระหว่างศาสนา โดยเฉพาะในการช่วยเยาวชนคนรุ่นใหม่ พระองค์ชื่นชมไทยที่มีวัฒนธรรมดีงาม เคารพและดูแลผู้สูงวัย “ซึ่งทำให้ท่านเป็นรากแก้ว ไม่เหี่ยวเฉาไปกับสโลแกนบางคำ ที่ทำให้จิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ว่างเปล่าและเสื่อมถอยลง” สังคมยัดเยียดวิธีคิดเดียว รูปแบบเดียวให้คนรุ่นใหม่ สลายความแตกต่างหลากหลาย คล้ายกับการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเป็นบุคคลผู้มีความสามารถ “รอบด้าน” ทั้งในแนวคิดและแนวปฏิบัติ เป็นนักบวชคณะเยซุอิต ที่มีชื่อเสียงด้านวิชาการ มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลก ท่านเป็นนักคิด นักเขียน เคยสอนวิชาวรรณกรรมและจิตวิทยาในมหาวิทยาลัย เคยเป็นผู้อภิบาลโบสถ์ และผู้นำศาสนจักรที่อาร์เจนตินา การเทศน์ ปาฐกถาของท่านจะ “ไม่อยู่บนธรรมาสน์” แต่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง ปัญหาจริง ก่อนไปประเทศไหน ท่านจะศึกษาเกี่ยวกับประเทศนั้นอย่างละเอียด การพูดของท่านจึงกินใจผู้คน ท่านมีไอคิวและอีคิวสูงมาก ที่สำคัญ เป็นคนสมถะ ที่มีหัวใจที่เปี่ยมด้วยเมตตา โดยเฉพาะต่อผู้ยากไร้ คนชายขอบ คนพิการ ภาพสุดท้ายหลังพิธีมิสซาที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ ที่ท่านหยุดทักทายเยาวชนคนพิการ สวมกอดเด็กหญิงตาบอดอย่างอบอุ่น และคนพิการนั่งรถเข็นอีกหลายคน เป็นภาพที่ประทับใจเป็นอย่างยิ่ง พิธีมิสซานั้นท่านขอให้เป็นเพื่อเยาวชน ซึ่งมากันหลายพันคน เป็นตัวแทนของเยาวชนจากทั่วเอเชีย ท่านบอกว่า เยาวชนไม่ใช่อนาคตของสังคม แต่เป็นปัจจุบัน คือพลังสำคัญเพื่อขับเคลื่อนสังคมวันนี้และวันหน้า พระสันตะปาปาฟรานซิสเป็น “ประกาศก” (prophet) เหมือนในอดีตกาล ที่เห็นภาพนิมิต (vision วิสัยทัศน์) ภาพฝันของสังคมในอุดมคติ ชื่นชมด้านสว่างและชี้ให้เห็นด้านมืดเพื่อแก้ไข ท่านเป็น “มโนธรรมสำนึกของแผ่นดิน” ที่เราควรรับฟัง