ยังจำได้ว่า หลังจากคณะ คสช. รัฐประหารแล้ว เรื่องแรก ๆ ที่ประกาศให้ความสำคัญเร่งด่วนในการขัดการแก้ไขปัญหาเรื่องหนึ่งคือปัญหาขยะทั่วประเทศ “ขยะ” เป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยทุกคน เพราะคนสร้างขยะขึ้นเกือบจะตลอดเวลา และเมื่อสภาวะแวดล้อมของชุมชนจำนวนเกือบจะทั่วทั้งประเทศ เปลี่ยนเป็นสภาะแวดล้อมแบบชุมชนเมือง ปัญหาการจัดการขยะจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ การหาซื้อหรือเช่าที่ดินชนบททำเป็นสถานที่ทิ้งละจัดการกับขยะกันแบบง่าย ๆ เช่นการใช้วิธีกลบฝัง จะทำต่อไปยากยิ่งหรืออาจเป็นไปไม่ได้แล้วในอนาคต ปัญหาที่เป็นตัวอย่างชัดแจ้งในขณะคือ บ่อขยะของเทศบาลนครจังหวัดนครศรีธรรมราช ปัญหาทำนองเดียวกันนั้น จะเกิดขึ้นทั่วประเทสภาในไม่นานนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้บูรณาการแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยของจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด (รวมกรุงเทพมหานคร) และจัดทำเป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564) แล้ว ขั้นต่อไปจะต้องรีบประมวลปัญหา แล้วกำหนดมาตรการปรับปรุงแก้ไขอย่างฉับพลันทันทีในทุกพื้นที่ ตามข้อมูลในแผนแม่บท ฯ ข้างต้น สรุป “สถานการณ์การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย” ไว้ดังนี้ “สถานการณ์การจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ขยะมูลฝอยชุมชน หมายถึง ขยะมูลฝอยที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน ส่วนแรกคือ ขยะมูลฝอยตกค้าง เป็นขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปทิ้งในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยและไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ขยะเหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อใช้วิธีจัดการไม่ถูกต้องจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหากลิ่นเหม็น น้ำเสีย มลพิษจากน้ำชะขยะปนเปื้อนออกสู่แหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงมลพิษทางอากาศจากการเผาขยะมูลฝอยในที่โล่งหรือไฟไหม้ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน จากการประเมินของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าในปี 2558 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยตกค้างจำนวนมากถึง 30.49 ล้านตัน ส่วนที่สอง คือ ขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่ ขยะประเภทนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี อัตราการเกิดขยะมูลฝอยเฉลี่ยต่อคนต่อวันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.11 กิโลกรัม/คน/วัน ในปี 2557 และก่อเกิดเป็นขยะจำนวนถึง 26.19 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ ยังมีขยะมูลฝอยในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งประมาณการจากแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศอีกประมาณ 10.5 ล้านตัน/ปี ปัจจุบัน เรามีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยทั่วประเทศ จำนวน 2,450 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นระบบฝังกลบ รองรับการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกต้องได้เพียง 7.88 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 30.1 ของขยะมูลฝอย ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ขณะเดียวกันมีการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ดเพียง 4.82 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 18.4 ปัญหาสำคัญของการจัดการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนคือ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการมีไม่เพียงพอ สำหรับโครงการสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่จะสร้างขึ้นใหม่ ก็มักจะถูกประชาชนคัดค้าน ไม่เห็นด้วยให้มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยอยู่ในพื้นที่ของตนเอง ส่งผลให้สถานที่กำจัดที่ก่อสร้างแล้วไม่สามารถเปิดเดินระบบได้ หรือไม่ให้ก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยใหม่ ปัญหาขยะเป็นปัญหาร่วมกันของทุกชุมชน ถ้าการก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะเป็นไปอบ่างโปร่งใสจริง ใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องเหมาะสมจริง ๆ นั่นคือรัฐสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาเรื่องการต่อต้านป้องกันการคอร์รัปชันได้สำเร็จ เราเชื่อว่าปัญหาการต่อต้านโรงงานกำจัดขยะจะแก้ไขได้