เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมันอย่าง BMW, AUDI, DAIMLER ที่ผลิตเมอร์เซเดส เบนซ์ ต่างก็ประกาศลดค่าใช้จ่าย ลดพนักงานลงค่ายละหมื่น พร้อมกับมาตรการอื่นๆ อีกหลายอย่าง ในเวลาเดียวกันก็ทุ่มการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าเป็นแสนเป็นล้านล้าน พร้อมกับรับสมัครพนักงานใหม่ ที่มีความรู้และทักษะเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ ค่ายอื่นๆ ในยุโรป อเมริกา และเอเชีย ก็ไม่ได้แตกต่างกัน ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ที่ผ่านมามักจะมองบรรดานักพยากรณ์อนาคตว่า พวกช่างฝันและโลกสวย แล้วนั่งคำนวณแบบเส้นตรงว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะมาจริงๆ ก็อีกหลายสิบปี กว่าคนจะเลิกใช้น้ำมันก็อีกนาน ไม่ควรตื่นตระหนก เรื่องรถยนต์ไฟฟ้าจึงช้าไม่ได้แล้ว แข่งกันประกาศว่า ไม่กี่ปีจะหยุดผลิตรถยนต์แบบเก่า วอลโวประกาศว่า ภายในปี 2025 จะไม่ผลิตรถยนต์แบบเดิมอีกต่อไป จะมีแต่รถไฟฟ้าเท่านั้น นักพยากรณ์อนาคตตอนนี้แม่นกว่าเดิมมาก เพราะมีเครื่องประมวลข้อมูลแบบควันตั้ม มีประสิทธิภาพมาก การเปลี่ยนแปลงทุกวันนี้มีลักษณะแบบตัว S อาจจะเริ่มช้า จากนั้นก็จะพุ่งไปอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่การคำนวณแบบเส้นตรงอีกต่อไป เมืองไทยดูท่าจะดึงการเรื่องนี้ช้าลง เพราะโรงงานบริษัทที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์แบบเดิมยังต้องการทำมาหากินกับชิ้นส่วน อะหลั่ยไปอีกนาน ดูได้จากนักการเมืองที่ดูแลกระทรวงอุตสาหกรรมว่าเป็นใคร ความจริง เรื่องนี้น่าจะเป็นวาระสำคัญของชาติ เพราะการเปลี่ยนแปลงวันนี้มีความเร็วแบบดิจิตัล ที่เกิด “การเปลี่ยนดับ” (disruptive) ทำให้เกิดการดับสูญ เปลี่ยนแบบกลืนกิน ของใหม่กลืนกินของเก่า การพัฒนาบ้านเมืองที่ช้าอยู่แล้วเพราะการศึกษาที่ไม่ได้คุณภาพ ไม่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลง ไม่มีแรงงานที่จะรองรับงานใหม่ เทคโนโลยีใหม่ นักศึกษาจบมาไม่มีงานทำปีหน้าก็รวม 500,000 คน รัฐบาลมีมาตรการแก้ไขปัญหาโดยให้ทุนนักศึกษาที่เรียนจบ 50,000 คนไปทำงานช่วยชาวบ้านในชนบท ให้เงินเดือน 15,000 บาท ถามว่า แล้วอีก 450,000 ทำไงดี ให้ไปตายเอาดาบหน้าหรือดาบไหน แล้วจะให้คนที่ออกไปชนบททำอะไร คิดว่ารู้มากกว่า เก่งกว่าชาวบ้านหรือ ที่ท่องๆ มาจากห้องสี่เหลี่ยมในมหาวิทยาลัยเอาไปทำอะไรได้ เมื่อก่อนยังออกค่าย ไปสร้างส้วม สร้างศาลาให้ชาวบ้าน วันนี้จะไปทำอะไร ก่อนนั้น หลัง 14 ตุลา ก็ส่งนักศึกษาไปสอนประชาธิปไตยชาวบ้าน นึกว่าชาวบ้านไม่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร นึกว่ามีแต่อาจารย์และนักศึกษาเท่านั้นที่รู้ สุดท้ายก็เกิด 6 ตุลา นักศึกษาส่วนหนึ่งก็เข้าป่าไป ดูเหมือนรัฐบาลจะกำลังแก้ปัญหาด้วยยุทธวิธีเดียวกันในทุกเรื่อง ใช้ยาแก้ปวดกันไปทั่ว อยากเพิ่มจีดีพีก็แจกเงินทุกรูปแบบ เงินหมุน ชาวบ้านมีเงินใช้จ่าย นี่คือส่วนประกอบถึงครึ่งหนึ่งของตัวเลขจีดีพี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการกำลังปรับตัว ลดพนักงานลง ต้องการพนักงานใหม่ที่มีความรู้และทักษะแบบใหม่ ระบบการศึกษาบ้านเราก็ยังต้วมเตี้ยมเป็นเต่าพันปี ส่วนหนึ่งอยู่ไปแบบรอวันปิด เพราะจำนวนนักศึกษาที่ลดลงไปเรื่อยๆ สถานประกอบการไม่ได้ต้องการใบปริญญา แต่ต้องการคนมีทักษะจริง สถาบันอุดมศึกษาที่จะอยู่รอด คงมีแต่ที่เก่าแก่มีชื่อเสียง หรือไม่ก็ต้องเป็นแบบปัญญาภิวัฒน์ของซีพีที่เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย เอาเรื่องทำงานมาเรียน ไม่ใช่ท่องหนังสือไปสอบ แล้วไปสมัครงาน ที่ไม่เข้าใจ คือ ทำไมรัฐบาลไม่มีนโยบายหรือมาตรการส่งเสริมให้คนกลับไปบ้านทำการเกษตร โดยให้มีหลักสูตรระยะสั้นเตรียมตัว ปรับตัว ปรับทัศนคติให้เห็นคุณค่าของการเกษตร และให้รู้วิธีทักษะในการทำการเกษตรที่ดี มีประสิทธิภาพ กำหนดนโยบาย ให้แรงจูงใจและมาตรการให้สถาบันอุดมศึกษาส่งเสริมการเกษตรอย่างจริงจัง ปรับกระบวนทัศน์ใหม่ ให้นักศึกษาเลิกดูถูกวิชาเกษตรว่าเป็นเรื่องคนจน คนรากหญ้า คนใช้แรงงาน ให้รู้ว่าเป็นงานที่ดี มีเกียรติ มีศักดิศรี มีรายได้ดี จนอาจจะรวยก็รวยได้ อย่างที่เริ่มเห็นเป็นตัวอย่างมากมาย ที่จริงไม่ต้องเอาให้รวย แค่อยู่ได้อย่างพอเพียง ไม่มีหนี้สิน มีกินมีใช้ ได้อาหารปลอดภัย มีวิชาความรู้แบบที่ “คนกล้าคืนถิ่น” ไปเรียนรู้กับดร.เกริก นั้นเพียงพอเพื่อให้คนกลับไปทำมาหากิน เป็นต้นแบบ เป็นที่เรียนรู้ให้พี่น้องชาวบ้านในชนบทมีทางออก ทางรอด ถ้ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์แบบนี้ก็จะทำยุทธศาสตร์ ทำแผนงานให้การส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ ให้ทุน เบื้องต้น ให้ผลิตอาหารปลอดสารเคมี เกษตรอินทรีย์ ที่สังคมไทยต้องการ โลกต้องการ แต่คนไทยไม่มีปัญญาผลิต เพราะผลประโยชน์ของนายทุนและนักการเมืองเรื่องสารเคมีสารพิษ นักการเมืองในประเทศสารขัณฑ์ไม่ทำงานพัฒนา แต่ทำธุรกิจ ไม่เห็นหัวชาวบ้าน สุขภาพ ความเป็นความตายของประชาชน แต่เห็นผลประโยชน์ทางธุรกิจ เห็นแก่ส่วนตน ส่วนพวกพ้อง มากกว่าส่วนรวม บ้านเราชอบคิดอะไรใหญ่ๆ เชื่อคนใหญ่ๆ บริษัทใหญ่ๆ จึงมีอำนาจครอบงำนโยบาย จะทำนาก็ทำแปลงใหญ่ ไม่เชื่อคนเล็กๆ ทำแปลงเล็กๆ ที่ทำเกษตรอินทรีย์คนละไม่กี่ไร่ ถ้าทำ 1 ล้านครัวเรือนก็จะได้หลายล้านไร่ ได้ผลผลิตมหาศาล เกษตรอินทรีย์ทำได้จริงถ้าทำเล็กๆ จะมีเหลือจนส่งออกได้ หรือเป็นอย่างคนที่เคยทำงานสภาพัฒน์ฯ และอดีตประธานธนาคารกรุงเทพที่บอกว่า “ประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาพัฒนาเพราะเขาคิดเป็น ไม่ได้พัฒนาเพราะเขามีเงิน ถ้าเราคิดไม่เป็นก็อย่าไปพัฒนา การพัฒนา คือ การคิดให้ถูกต้อง” (โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัชฏ์)