คำว่า “ไอซียู” นั้น กลายเป็นคำทั่วไปที่คนไทยรับรู้เข้าใจว่า เป็นเรื่องของคนอาการหนักใกล้ตาย เป็นคำรุนแรงที่ควรใช้อย่างระมัดระวัง เพราะเมื่อนำคำนี้ไปประกอบกับใครหรืออะไร ย่อมทำให้ผู้รับสารรู้สึกว่าคนผู้นั้นหรือเรื่องนั้น ๆ สาหัสเกินเยียวยาเสียแล้ว ดังนั้นการระบุว่า โรงเรียนใดเป็นโรงเรียน “ไอซียู ICU” จึงไม่เหมาะควรอย่างยิ่ง อย่างน้อยในทางจิตวิทยาก็ทำให้ “พื้นที่” นั้น ๆ ถูกมองอย่างปรามาสจากคนที่ไม่เข้าใจเรื่องรูปธรรม กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินนโยบายโรงเรียน ICU มาระยะหนึ่งแล้ว แต่คนทั่วไปก็มิได้รู้ลึกว่าการประเมินว่าโรงเรียนอย่างไรต้องเข้า ICU ดังนั้นจึงอาจเข้าใจผิดได้ง่าย ดังเช่น ใครเห็นตัวเลขจำนวนโรงเรียนที่เข้าไอซียูที่สูงถึง 6,964 แห่ง ก็ย่อมตกใจ เป็นห่วงคุณภาพการศึกษาไทย แต่ถ้าพิจารณาลงละเอียดขึ้นหน่อย ก็ทำใจได้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้คัดเลือกจำนวนโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียน ICU แล้วจำนวนทั้งสิ้น 6,964 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 4,469 แห่ง, สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 364 แห่ง และโรงเรียน ICU ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ 2,131 แห่ง โดยสามารถวิเคราะห์สภาพปัญหาด้านการศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วนได้ 7 ด้าน คือ 1. ด้านคุณภาพ เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำอย่างต่อเนื่อง, นักเรียนอ่านไม่ออก/เขียนไม่คล่อง, โรงเรียนไม่ผ่านการประเมิน, เด็กขาดทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ เป็นต้น 2. ด้านกายภาพ เช่น อาคารเรียนชำรุดทรุดโทรม, ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์หรือห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ไม่เพียงพอ, ไม่มีห้องสมุด, ห้องน้ำชำรุดและไม่เพียงพอ, ขาดสื่อและวัสดุอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอน เป็นต้น 3. ด้านบุคลากร เช่น ขาดผู้บริหารหรือเปลี่ยนผู้บริหารบ่อย, ครูไม่ครบชั้น, ครูสอนไม่ตรงเอก, ขาดบุคลากรฝ่ายสนับสนุน เป็นต้น 4. ด้านการบริหารจัดการ เช่น นักเรียนขาดเรียนบ่อย, นักเรียนออกกลางคัน, ครูขาดทักษะในการจัดการเรียนรู้, ครูขาดการพัฒนาอบรมอย่างต่อเนื่อง, สวัสดิการครูไม่เพียงพอ เป็นต้น 5. ด้านโอกาสทางการศึกษา เช่น ครอบครัวของนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน, นักเรียนที่อยู่ติดชายแดนเดินทางลำบากและขาดความปลอดภัยในการเดินทาง ระยะทางจากบ้านไกลจากโรงเรียน เป็นต้น 6. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาด้านการจัดการขยะ ฝุ่นละออง และมลพิษทางอากาศ, ประสบภัยธรรมชาติ (น้ำท่วมขัง การพังทลายของดิน), ปัญหายาเสพติด, ครอบครัวแตกแยก, สภาพแวดล้อมในโรงเรียนไม่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอน, ชุมชนขาดความศรัทธาต่อโรงเรียน เป็นต้น 7. ด้านอื่น ๆ เช่น ปัญหารั้วชำรุด, เด็กเรียนร่วม, ขาดแหล่งเรียนรู้ เป็นต้นอย่างน้อย จากหลักเกณฑ์นี้ก็ยังเห็นว่า โรงเรียนไอซียูนั้น มิใช่โรงเรียนที่ “ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำอย่างต่อเนื่อง” เพียงเหตุผลเดียว โรงเรียนที่รั้วชำรุด โรงเรียนที่ถุกน้ำท่วมครั้งล่าสุด ก็เป็นโรงเรียนไอซียูด้วย ประเด็นการประเมิน “ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำอย่างต่อเนื่อง” เป็นประเด็นที่โต้เถียงกันได้มาก ว่าอย่างไรจึงเป็นเรื่อง “ผลสัมฤทธิ์ต่ำ” และไม่ควรนำเรื่องมาเป็นเหตุผลกำหนดว่าโรงเรียนใดต้องเข้าไอซียูปัญหารูปธรรมของการศึกษาที่สำคัญกว่า เรื่องการประเมินผลสัมฤทธิ์คะแนนโอเน็ตและการประเมินโรงเรียน คือประเด็น ข้อ 5. ด้านโอกาสทางการศึกษา และ ข้อ 6. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม แล้วแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ