สถาพร ศรีสัจจัง ในสังคมมนุษย์ยุค “ดิจิตอล” ที่ความเร็วในการสื่อสารยิ่งพัฒนาไปสู่ความเร่งร้อน และละโมภยิ่งขึ้นทุกที ทุกที่ และทุกเรื่องนี้ ดูเหมือน “ศิลปะการอ่าน” (ซึ่งเป็นการ “เติม” ข้อมูลเข้าสมองเพื่อสังเคราะห์เข้าสู่กระบวนการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “นวัตกรรม” ในท้ายที่สุด) ก็เปลี่ยนรูปแบบไปอย่างรวดเร็ว รุนแรง และ “ละโมบ” เช่นเดียวกัน ขณะที่ “การอ่านตัวอักษรบนแผ่นกระดาษ” ที่เคยถูกเรียกว่า “การอ่านหนังสือ” (ติดมาจากยุคการอ่านจากลายสือที่เคยถูกจารึกลงบนแผ่นหนังสัตว์ แม้ภายหลังจะพัฒนาการจารึกลงบนแผ่นกระดาษ ทั้งในยุคแรกๆที่เรียกว่า “สมุดข่อย” หรือ “สมุดไทย”หรือ “หนังสือบุด” หรือ “สมุดฝรั่ง” แล้วพัฒนาสู่ระบบการตีพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์ลงบนแผ่นดระดาษสมัยใหม่ในยุคอุตสาหกรรมหนังสือแล้วก็ตาม ก็ยังเรียก “เล่มจารึก” เหล่านั้นว่า “book” หรือ “หนังสือ” ตลอดมา) ดูจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ กระทั่งมีเสียงวิตกวิจารณ์บอกกันในทำนองว่า “ความเร็ว” แห่งยุค “ดิจิตอล” จะเป็นตัวกวาดล้างวัฒนธรรมการอ่าน “หนังสือกระดาษ” ให้ตกเวทีประวัติศาสตร์มนุษยชาติไปอย่างรวดเร็วและไม่มีบันยะบันยังในท้ายที่สุดอย่างแน่นอน! ใครเชื่อ “ตรรกะ” เช่นนี้บ้าง ยกมือขึ้น! จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม เรื่องนี้คงต้องค่อยว่ากันทีหลังเป็น “เรื่องเฉพาะประะเด็น” ดีไหม? วันนี้ เมื่อยังมี “หนังสือดี” ให้อ่านกันอยู่ (ก็หนังสือกระดาษที่เขาว่าจะสูญพันธุ์นั่นแหละ!)ก็คงจะต้องพูดถึงกันหน่อยละ อย่างน้อยก็อาจจะช่วยทำให้มีความหวังเพิ่มขึ้นว่าจะสามารถหลีกหลบพ้นไปจากกลิ่น “การเมืองเน่าๆ” ที่ฟุ้งกระจายคลุมสังคมไทยโดยฝีมือของบรรดาสิ่งที่น่าจะเรียกว่า “นักกานเมือง” สามานย์ที่ “สังคม” ไม่น่า “นิยม” อยู่ได้บ้าง! เอาเป็นว่าตั้งแต่นี้ไป จะขออนุญาตแนะนำสิ่งที่ชื่อว่าเป็น “หนังสือดี” ที่เหมาะสมแก่ “กาละ” และ “เทศะ” ของสังคมไทยสักเดือนละเล่มก็แล้วกัน เผื่อใครที่ยังไม่ได้อ่านเล่มที่เลือกหยิบเอามาแนะนำและเกิดฉุกใจอยากเลือกอ่าน “หนังสือกระดาษ”เข้าบ้าง อาจจะก่อประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้อ่านและต่อสังคมขึ้นได้ เล่มแรก ที่อยากเอามานำร่อง เป็นหนังสือค่อนข้างเก่า แต่เนื้อหาแนวคิดที่แน่นเต็มอยู่ในเล่มช่างเหมาะเจาะแก่ยุคสมัยยิ่งนัก ที่จริงเล่มนี้ถ้า “นายกฯ บิ๊ก ลุงตู่” ได้อ่านและใส่ใจมาแต่เมื่อ 4-5 ปีก่อน ก็อาจมีส่วนช่วยทำให้วงการการเมือง ไม่ต้องจมปลักน้ำเน่าอย่างภาพของระบบการเมืองและนักการเมืองไทยที่ตกไปอยู่ในหล่มลึกจนคงยากจะถอนยวงอย่างที่เห็นๆเป็นๆกันอยู่ในวันนี้! หนังสือเล่มแรกที่อยากแนะนำให้อ่าน(โดยเฉพาะนายกฯลุงตู่และ “นักกานเมือง”ไทยปัจจุบันทั้งหลาย ที่คาดการล่วงหน้าได้ว่ายังไงๆก็คง “ไม่มีเวลา” ได้อ่าน หรือแม้มีเวลาก็คงไม่อ่าน) หนังสือเล่มนี้ชื่อ “ธัมมิกสังคมนิยม” เคยแปลเป็นภาษาฝรั่งอังกฤษมาแต่เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน โดยใช้ชื่อว่า “Dhammic Socialism” ทำต้นฉบับมาจากปาฐกถาธรรมของท่านพุทธทาส ภิกขุ แห่งโมกขพลาราม รวม 4 วาระ 4 หัวข้อ ทั้ง 4 เรื่องดังกล่าว มี “คำหลัก” หรือ Keywords เดียวกัน คือคำว่า “ธัมมิกสังคมนิยม” ไม่แน่ใจว่าฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุดคือปีไหน และพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อะไร แต่ฉบับที่นำมาใช้เป็น Text ในการแนะนำครั้งนี้เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2538 โดยสำนักพิมพ์สยามประเทศ ซึ่งพิมพ์บอกไว้ในหน้าเครดิตว่า จัดพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมล คีมทอง ในความดูแลของ ส.ศิวรักษ์ เมื่อปี พ.ศ. 2529 ในการจัดพิมพ์หนังสือ “ธัมมิกสังคมนิยม” ครั้งแรกนั้น มีทั้งพากย์ไทยและพากย์อังกฤษ บรรณาธิการ คือ นายโดนัลด์ เค. สแวเรอร์ อาจารย์วิทยาลัยวอร์ทมอร์ รัฐเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในท่านพุทธทาส ภิกษุมาก ในการพิมพ์ครั้งนั้นท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ปัญญาชนร่วมสมัยคนสำคัญของไทยได้เขียนคำนำหนังสือไว้อย่างสำคัญตอนเริ่มต้นว่า: “ที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ก็คือ องค์พระผู้เป็นต้นความคิด อันได้แก่ท่านอาจารย์พุทธทาส พระมหาเถระ ผู้เป็นเพชรน้ำเอกในหมู่พุทธสาวก นับตั้งแต่พุทธปรินิพพานเป็นต้นมา มิใช่ว่าอยู่ดีๆท่านพุทธทาสก็คิดคำนี้(ธัมมิกสังคมนิยมผู้เขียน)ขึ้นมาใช้ หากแต่ในขณะนั้นประเทศไทยกำลังมีความขัดแย้งกันอย่างหนักว่าควรจะสังคมนิยมดีหรือไม่สังคมนิยมดี” ส่วนที่ว่าทำไมน่าเสียดายที่ “นายกฯบิ๊กลุงตู่” ไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แต่เมื่อ 5 ปีก่อนนั้น ถ้าจะลองติดตามอ่านดูต่อก็จะได้รู้แจ้งชัดอย่างแน่นอน!!!!