ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)เสนอสภาพปัญหาด้านการศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วนไว้ 7 ด้านดังที่เราเคยนำเสนอไปแล้วนั้น เราเห็นว่าปัญหาสำคัญที่สุด มิใช่ประเด็นการประเมินสัมฤทธิผลการเรียน แต่น่าจะเป็นปัญหาต่อไปนี้ ปัญหาด้านโอกาสและทางเลือกในทางการศึกษา เช่น ครอบครัวของนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน , สภาวะทางเศรษฐกิจสังคมโดยองค์รวมของพื้นที่นั้น ๆ , อัตลักษณ์วัฒนธรรมชุมชนของพื้นที่นั้น ๆ นักเรียนที่อยู่ติดชายแดนเดินทางลำบากและขาดความปลอดภัยในการเดินทาง ระยะทางจากบ้านไกลจากโรงเรียน เป็นต้น ส่วนแนวทางในการแก้ปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการ แม้ว่าหลักการที่นำเสนอมาจะดูดี แต่ในทางปฏิบัติรูปธรรมก็ยังมีประเด็นต้องปรับปรุง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอแนวทาง “การรักษา” ไว้ว่า “จะคัดกรองและพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วนของโรงเรียนที่กำลังประสบปัญหาและต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษ เพื่อจะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด และทำให้โรงเรียนแต่ละแห่งรอดพ้นจากสภาวะวิกฤตทางการศึกษา ด้วยนโยบาย "โรงเรียนดีใกล้บ้าน (โรงเรียนแม่เหล็ก)" อันเป็นการควบรวมโรงเรียนที่อยู่ใกล้กัน เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งเชิงกายภาพและคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียนเป็นสำคัญ ภายใต้การยอมรับของทุกคนในชุมชน ซึ่งเป็นยาชั้นดีหรือเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาโรงเรียน ICU รวมทั้งการเกลี่ยครู, นโยบายโรงเรียนประชารัฐ, การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและชุมชน ตลอดจนการให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นหมอในท้องถิ่น เพื่อดูแลและแก้ปัญหาให้กับสถานศึกษาในพื้นที่ด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาโรงเรียน ICU ได้เช่นกัน นอกจากนี้ นโยบายโรงเรียน ICU เป็นการแก้ปัญหาจากคนในระดับพื้นที่ กล่าวคือ ไม่ใช่ส่วนกลางที่มีอำนาจสั่งการลงไป แต่เป็นการลงไปดูว่าโรงเรียนมีปัญหาด้านใด เพื่อจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรไปแก้ไขอย่างตรงตามความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่ ผ่านการระดมความคิดเห็นของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร่วมกับชุมชนและสถานศึกษา เพื่อยืนยันว่าโรงเรียนในเขตพื้นที่นั้น ๆ มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ปัญหา โดยกระทรวงศึกษาธิการไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ของโรงเรียน ICU มาก่อน เพราะแต่ละพื้นที่และแต่ละโรงเรียนมีปัญหาแตกต่างกัน บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง” เรื่องที่ต้องปฏิบัติตามให้ถูกต้องเหมาะสมคือ “การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและชุมชน ตลอดจนการให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นหมอในท้องถิ่น ไม่ใช่ส่วนกลางที่มีอำนาจสั่งการลงไป แต่เป็นการลงไปดูว่าโรงเรียนมีปัญหาด้านใด เพื่อจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรไปแก้ไขอย่างตรงตามความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่” รูปธรรมคือ จะได้ “หมอท้องถิ่น” ผู้รู้จริง ไม่หลงทิศผิดทางหรือไม่ ? และ “ส่วนกลาง” นั่นเอง จะหลงทิศผิดทางหรือไม่ ? การจัดการศึกษารับใช้และพัฒนาพื้นที่นั้น จะต้องสอดคล้องกับรูปธรรมของพื้นที่นั้น ๆ มิใช่ใช้สูตรสำเร็จเป็นมาตรฐานเดียว ไป “ครอบ” ให้ทำตาม ขณะนี้บังคับให้พัฒนาการศึกษาตามแนวทางของ “ส่วนกลาง แนวท่งเดียวนี้แหละ คือตัวก่อปัญหา !