ทองแถม นาถจำนง
แผนที่เนเธอร์แลนด์ ค.ศ 1700
ต่อจากฉบับที่แล้ว สตัดเฮาเดอร์  stadhouder เมื่อมองทางด้านฮอลแลนด์ ชาวไทยอาจจะไม่ค่อยทราบประวัติศาสตร์ของเขานัก อย่างช่วงที่สมเด็จพระเอกาทศรถส่งราชทูตออกไปนั้น ทางฮอลแลนด์มิได้ปกครองโดยระบบกษัตริย์ แต่เขาเรียกผระมุขของเขาว่า “สตัดเฮาเดอร์” ประวัติศาสตร์เนเธอร์แลนด์โดยสังเขปมีดังนี้ (ขอบคุณ ข้อมูล วิกิพีเดีย) สตัดเฮาเดอร์  stadhouder แปลตรงตัวว่า เจ้าผู้ครองสถาน (ผู้ครอบครองสถานที่ของผู้ใดผู้หนึ่ง; สันนิษฐานว่าเป็นการยืมคำศัพท์จากภาษาเยอรมัน สแตดต์ฮาลเทอร์: Statthalter, ภาษาฝรั่งเศส ลูเตอน็องต์: lieutenant หรือภาษาละตินยุคกลาง โลกุม เตเนนส์: locum tenens) คือคำที่ใช้อธิบายรูปแบบหนึ่งของศักดินาตำแหน่งอุปราชหรือผู้บริหารมณฑลแทนพระองค์ในกลุ่มประเทศต่ำ (ดินแดนประเทศเนเธอร์แลนด์,เบลเยียม และลักเซมเบิร์กในปัจจุบัน)      ประมาณช่วงคริสตศตวรรษที่ 1 เนเธอร์แลนด์เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน และมีสันติภาพยาวนานต่อเนื่องเป็นเวลา 250 ปี ต่อมา เมื่อจักรวรรดิโรมันเสื่อมอำนาจลง ชนเผ่าเยอรมันนิค และ เซลติคได้เข้าไปครอบครอง ใน ช่วงปี ค.ศ. 1363 – 1482 เนเธอร์แลนด์อยู่ภายใต้การปกครองของดยุคแห่งเบอร์กันดี และในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เนเธอร์แลนด์ถูกปกครองโดยสเปน ต่อมาเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์และขุนนางจำนวนหนึ่ง ได้ก่อการปฏิวัติต่อสมเด็จพระราชาธิบดีฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนเนเธอร์แลนด์ สามารถนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ได้ จนกระทั่งปี ค.ศ 1648 จึงได้มีการลงนามในสนธิสัญญามุนสเตอร์ เพื่อสงบศึกระหว่างเนเธอร์แลนด์และสเปน ซึ่งดำเนินมาถึง 80 ปี และถือเป็นการประกาศเอกราชของเนเธอร์แลนด์ด้วย      คริสต์ศตวรรษ ที่ 17 ถือได้ว่าเป็นยุคทองของเนเธอร์แลนด์ เช่นเดียวกับ สเปน โปรตุเกส และ สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางทะเลในการแสวงหาโอกาสทางการค้าในดินแดนต่างๆ ของโลก เนเธอร์แลนด์เป็นมหาอำนาจทางทะเลและเศรษฐกิจชั้นนำของยุโรปในเวลานั้น และกรุงอัมสเตอร์ดัมก็เป็นศูนย์กลางการเงินของยุโรป คำเรียกประมุขว่า “สตัดเฮาเดอร์” นั้นสืบทอดจากรูปแบบการถูกรัฐที่ใหญ่กว่าปกครอง สตัดเฮาเดอร์คือระบบจากยุคกลางและต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้ถูกยกระดับให้มีศักดิ์เทียบเท่าประมุขแห่งรัฐในทางปฏิบัติของระบอบมกุฎสาธารณรัฐ (Crowned republic) ในสาธารณรัฐดัตช์ สามารถเปรียบเทียบได้กับศักดินา ลูเตอน็องต์ ของฝรั่งเศสและ ผู้บริหารมณฑลแทนพระองค์ ของอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งประสงค์หลักของของตำแหน่งนี้ก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นของสาธารณรัฐดัตช์ตอนต้น
วิลเลียมที่ 1 แห่งออเรนจ์ ผู้ดำรงตำแหน่งสตัดเฮาเดอร์ในช่วงการลุกฮือของชาวดัตช์ต่อจักรวรรดิสเปน
วิลเลียมที่ 1 แห่งออเรนจ์ ผู้ดำรงตำแหน่งสตัดเฮาเดอร์ในช่วงการลุกฮือของชาวดัตช์ต่อจักรวรรดิสเปน
 มอริทซ์ แห่งออเจนจ์
มอริทซ์ แห่งออเจนจ์
สตัดเฮาเดอร์ในยุคกลางถูกแต่งตั้งโดยตรงจากลอร์ดในระบบฟิวดัลเพื่อสำเร็จราชการแทน ถ้าหาก ลอร์ดใดมีอาณานิคมไว้ในครอบครองมากก็สามารถที่จะแต่งตั้งสตัดเฮาเดอร์ถาวรไปประจำการโดยมีอำนาจเต็มในนามของลอร์ดผู้นั้น โดยตำแหน่งนี้มีอำนาจปกครองมากกว่าตำแหน่งผู้ว่าราชการซึ่งมีอำนาจอยู่อย่างจำกัด ผู้ที่ดำรงตำแหน่งสตัดเฮาเดอร์ไม่ถูกจัดว่าอยู่ในสถานะของข้ารับใช้เหล่าเจ้าขุนมูลนายที่มีศักดิ์สูงกว่า หากเป็นเพียงผู้ปกครองซึ่งไม่มียศศักดิ์ต่อดินแดนที่ตนปกครอง ผู้ปกครองท้องถิ่นของมณฑลอิสระทั้งสิบเจ็ดแห่งประเทศต่ำ (ซึ่งเป็นดินแดนประเทศเนเธอร์แลนด์,เบลเยียม และลักเซมเบิร์กในปัจจุบัน) นำตำแหน่งนี้ไปใช้แต่งตั้งต่ออีกทอดหนึ่ง เช่น การที่ ดยุกแห่งเกลเดอร์สแต่งตั้งสตัดเฮาเดอร์ไปสำเร็จราชการแทนในมณฑลโกรนิงเงิน ในคริสต์ศตวรรษที่ 15  ดยุกแห่งเบอร์กันดีสามารถยึดครองดินแดนส่วนมากของประเทศต่ำเอาไว้ได้และตั้งเป็นดินแดนเนเธอร์แลนด์ของเบอร์กันดี ซึ่งแต่ละมณฑลในดินแดนนี้ส่วนมากต่างก็มีสตัดเฮาเดอร์ปกครองตนเองแทบทั้งสิ้น ในคริสต์ศตวรรษที่ 16  จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์แห่งสเปน เข้ามารับช่วงอำนาจต่อจากสมัยเนเธอร์แลนด์ของเบอร์กันดี และทรงรวบอำนาจการปกครองดินแดนประเทศต่ำทั้งหมดด้วยการสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น ลอร์ดแห่งเนเธอร์แลนด์ อันเป็นตำแหน่งเจ้าเหนือหัวในระบบฟิวดัลไว้แต่เพียงผู้เดียว มีเพียงราชรัฐมุขนายกลีแยฌและดินแดนส่วนน้อยอีกสองแห่ง (อิมพีเรียลแอบบีย์สตาวีลอต-มาลเมดีย์ และดัชชีบูลียง) ที่อยู่นอกเหนือพระราชอำนาจของพระองค์ สตัดเฮาเดอร์ยังคงถูกแต่งตั้งและเป็นผู้แทนพระองค์ในจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 และพระราชโอรส พระเจ้าเฟลีเปที่ 2 ผู้เป็นรัชทายาทแห่งสเปนและกลุ่มประเทศต่ำ (อิสริยยศจากการเลือกตั้งในราชวงศ์จะถูกพระราชทานให้แก่รัชทายาทของจักรพรรดิคาร์ลในราชตระกูลฮับส์บูร์กออสเตรียแต่ละสาย) โดยพระราโชบายแนวรวบศูนย์อำนาจและแนวสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าเฟลีเปที่ 2 จึงทำให้อำนาจในทางปฏิบัติของสตัดเฮาเดอร์ลดลงไปอย่างมาก ใน ค.ศ 1581 ระหว่างการลุกฮือของชาวดัตช์ มณฑลดัตช์ส่วนมากประกาศอิสรภาพด้วยการผ่านร่างพระราชบัญญัติเพิกถอน (Act of Abjuration) ระบบผู้แทนพระองค์โดยสตัดเฮาเดอร์ในแถบเนธอร์แลนด์ตอนเหนือที่เกิดการกบฏจึงหมดอำนาจลง (ลอร์ดในระบบฟิวดัลผู้อยู่เหนือหัวเหล่าสตัดเฮาเดอร์ถูกล้มล้าง) อย่างไรก็ตามระบบผู้แทนนี้ยังคงดำเนินต่อไปในประเทศที่ก่อตั้งใหม่นามว่าสาธารณรัฐแห่งสหเนเธอร์แลนด์ทั้งสิบเจ็ด สหมณฑลทั้งสิบเจ็ดดิ้นรนที่จะประยุกต์แนวคิดและสถาบันในระบบฟิวดัลที่มีอยู่ให้เข้ากับสภาวะการณ์ใหม่ โดยในการปรับตัวครั้งนี้มีความคิดโน้มเอียงไปในแนวทางอนุรักษ์นิยม ทั้งที่พวกเขาได้ทำการปฏิวัติโค่นล้มกษัตริย์ผู้ปกครองเพื่อปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของพวกเขา สตัดเฮาเดอร์จึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของลอร์ดอีกต่อไป แต่กลายมาเป็นผู้ปกครองยศศักดิ์สูงที่สุดแทน โดยได้รับการแต่งตั้งจากรัฐของแต่ละมณฑล ซึ่งแม้ว่าสตัดเฮาเดอร์แต่ละคนจะสามารถดำรงตำแหน่งประจำเฉพาะแต่มณฑลของตน แต่สตัดเฮาเดอร์หลายคนนิยมดำรังตำแหน่งนี้ในหลายๆ มณฑลพร้อมกันในเวลาเดียว โดยปกติแล้วอำนาจปกครองสูงสุดจะถูกใช้โดยรัฐอธิปไตยของแต่ละมณฑล ส่วนสตัดเฮาเดอร์มีอำนาจเล็กอยู่บ้างเล็กน้อยเช่นการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับล่าง หรือในบางกรณีมีสิทธิอันชอบธรรมในการแต่งตั้งคณะมนตรีในสภาผู้สำเร็จราชการแทน ซึ่งคณะมนตรีเหล่านี้จะทำการเลือกผู้นำของสภาจากรายชื่อผู้สมัคร ในขณะที่คณะมนตรีแต่งตั้งสมาชิกเพิ่มเติมแก่สภาได้ด้วยตัวพวกเขาเอง สตัดเฮาเดอร์จึงสามารถเข้าไปมีอิทธิพลทางอ้อมในการกำหนดนโยบายทั่วไปได้อย่างมาก ในมณฑลเซแลนด์ เจ้าชายแห่งออเรนจ์ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งสตัดเฮาเดอร์ของแต่ละมณฑลไว้มากที่สุดในช่วงภายการหลังลุกฮือต่อต้านสเปน และยังดำรงศักดิ์เป็น ขุนนางที่หนึ่ง (First Noble) นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นสมาชิกสภาประจำมณฑล และดำรังตำแหน่งมาควิสแห่งฟีเรอร์และฟลิสซิงเงินเป็นพระยศมาแต่ประสูติอีกด้วย ในระบบราชการส่วนกลางของสาธารณรัฐ สตัดเฮาเดอร์แห่งมณฑลเซแลนด์และฮอลแลนด์มักจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพสหมณฑล และพลเรือเอกสูงสุดแห่งกองทัพเรือสหมณฑล แม้ว่าจะไม่เคยมีสตัดเฮาเดอร์คนไหนเคยบัญชาการรบทางทะเลด้วยตนเองเลย ในกองทัพสตัดเฮาเดอร์สามารถแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเอง ส่วนในกองทัพเรือสามารถทำได้เพียงลงนามแต่งตั้งในคำสั่งจากสภาราชนาวีทั้งห้า อำนาจทางกฎหมายมีอยู่ค่อนข้างจำกัดและโดยกฎหมายแล้วสตัดเฮาเดอร์เป็นมากกว่าเพียงเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ตามอำนาจที่แท้จริงบางครั้งก็มีมากกว่านั้น โดยเฉพาะในบรรยากาศแห่งกฎอัยการศึกช่วงสงครามแปดสิบปี ภายหลังค.ศ 1618 เจ้าชายมอริทซ์แห่งออเรนจ์ทรงปกครองด้วยระบบเผด็จการทหาร (รัชสมัยเจ้าชายมอริทซ์ Price Mourits นี้ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ) และเจ้าชายวิลเลียมที่ 2 แห่งออเรนจ์ก็ทรงปฏิบัติตาม