เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ถ้าท่านไม่ชอบ “เจ้าชายน้อย” ไม่ชอบ “โจนาธานนางนวล” ไม่ชอบ “เซเซ่” (ต้นส้มแสนรัก) ไม่ชอบ “โซฟี” (โลกของโซฟี) และไม่ชอบ “เกรตา” (ธุนเบิร์ก) ขอให้พลิกผ่านบทความนี้ไป ทั้ง 5 มีอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ความฝันสู่โลกเสรี ดีงามและสันติ ที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ ไม่ทำ ไม่สร้างแล้วยังขัดขวาง หรือแม้กระทั่งทำลายความฝันของ “เด็กๆ” เหล่านี้ ชื่อบทความนี้ต้องการล้อกับ “ฮันเซลและเกรเตล” นิทานที่เด็กๆ ชอบของพี่น้องกริมม์ ที่มีอะไรหลายอย่างคล้ายกับสถานการณ์โลกวันนี้ เรื่องย่อๆ มีอยู่ว่า ฮันเซลและเกรเตล พี่ชายและน้องสาวอยู่กับพ่อและแม่เลี้ยงใจร้ายที่ชายป่า พ่อแม่เป็นคนตัดฟืน ลำบากยากจนไม่มีจะกิน แม่เลี้ยงจึงหาทางนำเด็กสองคนนี้ไปปล่อยป่า ครั้งแรกไม่สำเร็จเพราะฮันเซลได้ยินแผนชั่วร้าย จึงเตรียมเก็บก้อนหินไว้เต็มกระเป๋า ทิ้งไว้ตามทาง และหาทางกลับได้ ครั้งที่สอง ฮันเซลออกจากบ้านไปหาหินไม่ได้ จึงบิขนมปังเป็นชิ้นเล็กๆ โปรยตามทางเมื่อถูกปล่อยทิ้งจะได้หาทางกลับ ปรากฎว่านกกินขนมปังหมด สองพี่น้องจึงเดินหลงป่าหลายวัน จนไปพบบ้านขนมที่แม่มดสร้างไว้เพื่อหลอกเด็ก ทั้งสองก็ไปติดกับดัก แม่มดใช้เกรเตลให้อาหารพี่ชายฮันเซลที่ถูกขังไว้หลายสัปดาห์เพื่อขุนให้อ้วนจะได้ทำเป็นอาหาร ขณะที่ก่อไฟ แม่มดก็ถูกเกรเตลผลักเข้าไปในเตา และตายคาเตานั่นเอง สองพี่น้องพบว่าที่บ้านแม่มดมีเพชรพลอยมากมาย จึงเก็บใส่กระเป๋า แล้วหาทางกลับบ้านได้ในที่สุด ข้ามห้วยโดยอาศัยเป็ดให้ขี่หลัง ไปพบพ่อที่คอยลูก ส่วนแม่เลี้ยงใจร้ายตายก่อนแล้ว เรื่องจบอย่างมีความสุข ที่สหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีทรัมป์บอกว่า ตนเองเป็น “แม่มดที่ถูกล่า” (เหมือนในยุคกลาง ที่คนคิดต่างมักถูกหาว่าเป็นแม่มด และถูกล่าจากฝ่ายอำนาจบ้านเมืองหรือศาสนจักร) ซึ่งก็พูดไม่ผิดนัก ที่เรียกตัวเองว่า “แม่มด” โดยเฉพาะในกรณีที่เหน็บแนมเด็กอย่าง “เกรตา” นายทรัมป์ถูกวิจารณ์ว่าเป็นผู้ใหญ่รังแกเด็ก อิจฉาเด็กที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “บุคคลแห่งปี” โดยนิตยสารไทม์ แทนที่จะเป็นตัวเอง “โลกของโซฟี” เป็นหนังสือนวนิยายปรัชญา เขียนโดยอาจารย์สอนปรัชญาชาวนอร์เวย์ ตั้งใจเขียนให้เด็กเยาวชนอ่านเรื่อง “ปรัชญา” แบบสนุก กลายเป็นเบสท์เซลเลอร์ แปลไปหลายภาษา รวมทั้งภาษาไทย โซฟีเป็นเด็กอายุ 14 ปี เท่ากับเกรตา ตอนที่เธอเริ่มรณรงค์สิ่งแวดล้อม โซฟีไม่ได้มีชีวิตโลดโผนเหมือนเกรตา แต่เธอคือตัวแทนของเด็กที่อยากเรียนรู้ เธอรับจดหมายจาก “ชายลึกลับ” ที่สอนให้เธอคิดเป็น หนังสือเล่มนี้บอกว่า นักปรัชญากับเด็กมีสิ่งหนึ่งที่คล้ายกัน คือ ความพิศวงสงสัย มีคำถามมากมาย “สำหรับเด็ก โลกและทุกอย่างเป็นสิ่งใหม่ เป็นบางอย่างที่ทำให้พวกเขาประหลาดใจ ซึ่งต่างจากผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนมากยอมรับโลกอย่างที่มันเป็น...โลกดูเหมือนเป็นอะไรที่ไม่ค่อยมีเหตุผล แต่น่าอัศจรรย์ใจและลึกลับ” “เด็กทุกคนมักมีคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นอยู่รอบๆ ตัว ถามว่ามันคืออะไร ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น มันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นกลับถูกสั่งสอนว่า คำถามเหล่านี้เป็นเรื่องโง่เขลา หรือไม่พวกเขาก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน” หนังสือเจ้าชายน้อยเป็นที่นิยมของทุกเพศทุกวัย ทุกชาติทุกภาษาทั่วโลก เพราะเจ้าชายน้อยเป็นตัวแทนของเด็กที่แสดงออกถึงจินตนาการ ความใสสะอาดบริสุทธิ์และความจริงใจอย่างเป็นธรรมชาติ ความอยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจ ต่างจากผู้ใหญ่ที่สนใจแต่เปลือกนอก ไม่สนใจและไม่พยายามเข้าถึงแก่นของสิ่งต่างๆ เจ้าชายน้อยอยากบอกว่า แก่นของชีวิตนั้นไม่เห็นด้วยตา แต่เห็นด้วยใจ ผู้ใหญ่หัวใจมืดบอด จึงมองไม่เห็นแก่นแท้ของชีวิต ของความเป็นจริง ของธรรมชาติ ของสิ่งแวดล้อมรอบตัวเอง อาจจะพูดแต่ไม่ทำ เด็กๆ เป็นเหมือนกับโจนาธาน ลิวิงสตันนางนวลที่พยายามฝึกบิน และมีความสุขที่ได้บินท่าต่างๆ โดยไม่ต้องทำอย่างที่พ่อแม่พี่น้องของมันทำและอยากให้ทำ จึงถูกดุว่าจาก “ผู้ใหญ่” ว่าแหกคอกแหกประเพณี หรือไม่ก็เป็นเหมือน “เซเซ่” ในต้นส้มแสนรัก ที่ถูกตีไม่เว้นแต่ละวันเพราะพยายามทำสิ่งที่คิดฝันตามจินตนาการ แต่เพราะความจนและด้อยพัฒนาทำให้เขากลายเป็น “ปัญหา” ของครอบครัว ที่สุด ฝันของเขาก็ถูกทำลายจากผู้ใหญ่ รวมไปถึงต้นสัมแสนรัก “เพื่อนคนเดียว” หลังบ้านก็ถูกตัดไปในนามของการพัฒนา เกรตา ธุนเบิร์ก หนีเรียนไปนั่งประท้วงที่หน้ารัฐสภาสวิเดนจนจุดประเด็น ปลุกสำนึก “โลกร้อน” ไปทั่วโลก มีผู้ใหญ่อย่างนายทรัมป์จำนวนมากที่ไม่เห็นด้วย บอกว่าแก่แดด หัวร้อน โลกสวย ไล่ให้กลับไปเรียน แล้วมีคนอธิบายอีกว่า ที่เธอทำอะไรแบบนั้นเพราะเป็นโรคในกลุ่มออทิสติก เกรตาบอกว่า ก็ดีเพราะทำให้ไม่แคร์ว่าใครจะว่าอะไร เธอทำตามความเชื่อมั่น ความฝันที่อยากเห็นโลกสะอาดและอยู่เย็นเป็นสุข แม้อาจจะไม่จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งเหมือนนิทานฮันเซลกับเกรเตล ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรทำตัวเป็นแม่มด ไป “ฆ่า” ความฝันและจินตนาการของเธอและเด็กเยาวชนที่รณรงค์โลกร้อนไปทั่วโลกวันนี้