เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com การสื่อสารไม่มีวันตาย แต่เครื่องมือสื่อสารบางอย่าง ผู้สื่อสารบางคนตายไปแล้ว “ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน” รายงานว่า ปี 2019 ผู้สื่อข่าวถูกฆ่าตาย 49 คน ถูกจับเป็นตัวประกัน 57 คน และ 389 คนติดคุก สรุปว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวทั่วโลกถูกฆ่าตายไปแล้ว 941 คน ปีที่แล้ว นิตยสารไทม์ยกให้ “นักข่าวถูกฆ่าถูกขัง” โดยรวมเป็นบุคคลแห่งปี ปี 2018 มี 2 กรณีที่โด่งดัง คือ ฆาตกรรมจามาล คาชอกกี นักข่าวชาวซาอุดิอาระเบีย และการจับกุมมาเรีย เรสซา นักข่าวชาวฟิลิปปินส์ ที่ตามติดตรวจสอบประธานาธิบดีดูเอร์เต รายงานผ่าน CNN และโซเซียลมีเดีย เพจ Rappler ที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะกรณีการปราบปรามยาเสพติดที่ว่ากันว่ามีคนถูกฆ่าตายกว่า 12,000 คน มาเรีย เรสซา นอกจากเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลแห่งปี 2018 ยังเป็น 1 ใน 100 บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกปี 2019 ของไทม์ รวมทั้งเป็นหนึ่งใน 100 บุคคลที่ BBC ยกย่องเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ยังไม่นับรางวัลอีกมากมาย อย่างสารคดียอดเยี่ยม และการสื่อข่าวแบบสืบสวนยอดเยี่ยม การจับกุมเธอเมื่อต้นปีนี้ ได้รับการประณามจากประชาคมโลก บุคคลสำคัญอย่างนางมาเดอเลน อัลไบรท์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในรัฐบาลคลินตัน องค์กรต่างๆ และผู้คนส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองที่ต้องการ “เอาคืน” และปกป้องตนเอง ปลายปีน่าจะมีการ “ตรวจสอบ” สื่อสารบ้านเราบ้าง เป็นปีที่น่าผิดหวังมากกับการสื่อสาร ข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ ที่นอกจากจะไม่ค่อยมีคุณภาพแล้ว ยังมีทิศทางที่ “สับสน” จนเป็น “น้ำเน่า” ที่น่าเบื่อ ไม่อยากดู ข่าวสารที่เห็นผ่านจอ ทีวีทุกช่อง ถ้าไม่เรื่อง “ตีหัวหมาด่าแม่เพื่อน” ทะเลาะกัน ยิงกัน ที่ตามตำรวจจากโรงพักไปทำข่าว หรือส่วนใหญ่ได้จากโซเชียลมีเดียที่ส่งต่อกันไป เพียงไปตามเขียนชื่อที่อยู่ ถามคนโน้นทีคนนี้ที ข่าว “ชาวบ้าน” แบบนี้หาได้ไม่ยาก เช่นเดียวกับข่าวอุบัติเหตุบนถนนที่วันหนึ่งๆ เกิดขึ้นหลายร้อยครั้ง คนตายคนเจ็บมากมาย รวมข่าวแปลกประหลาดต่างๆ ทางโซเชียล มีข่าวพร้อมๆ กันทุกช่องแทบจะเวลาเดียวกันด้วย บางกรณีเล่ายังกับว่า “เห็นมากับตา” เพียงเพื่อให้มีเนื้อข่าวให้มาก และฟังดูอ่านดูตื่นเต้น แต่ไม่เห็นมี “สาระ” อะไร แทนที่จะหาข้อมูลรอบด้าน บริบททางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ที่จะทำให้เข้าใจเหตุการณ์นั้นมากขึ้น เพื่อสรุปบทเรียนสำหรับสังคม หาทางป้องกันแก้ไขต่อไป มีแต่ “ข้อมูล” แต่ไม่มี “ความรู้” ที่น่าเป็นห่วง คือ ปัญหาเรื่อง “จริยธรรม” ในการเสนอข่าว ที่แม้จะดูมีการพัฒนาขึ้นมาบ้าง แต่ดูยังไงก็ยังไม่ถึงระดับที่น่าพอใจ ที่สากลจะยอมรับได้ ไม่ใช่แค่เบลอหน้า “ผู้ต้องหา” แต่วิธีการเสนอข่าวอาชญากรรม ข่าวคนเจ็บคนตายในรายละเอียด เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ให้เกียรติคนเป็นคนตายคนเจ็บ ไม่เข้าใจว่า ทำไมผู้ประกาศข่าวต้องเสนอข่าวในรายละเอียดแบบ “ซาดิสต์” บรรยายการตีรันฟันแทง การฆ่า การหั่นศพ การกระโดดตึก ฯลฯ อย่างน่าสะอิดสะเอียนขนาดนั้น อยากให้สะใจ “ชาวบ้าน” แบบบ้านๆ ยกตัวอย่างการเสนอข่าว “ฮ่องกง” ภาพที่ชายผู้ถือหางจีนทะเลาะกับผู้ประท้วง ถูกน้ำมันราดและจุดไฟเผา ทีวีไทยฉายให้ดูซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างน่าสะอิดสะเอียน ไม่มีความรู้สึกของความเป็นมนุษย์เอาเสียเลย ขณะที่สื่อต่างประเทศอย่าง BBC, CNN, และของเยอรมันที่ติดตามดู เขานำวิดีโอตอนทะเลาะกันเท่านั้น และภาพนิ่งตอนถูกเผาแวบเดียว ไม่เอาวิดีโอมาฉายซ้ำไปมาอย่างทีวีไทย บางช่องไม่มีภาพด้วยซ้ำ ข่าวอาชญากรรมบ้านเราเป็น “ข่าวไทยมุง” น่าจะลดลงได้แล้ว และไม่จำเป็นต้องบรรยายรายละเอียดของศพ ของเหตุการณ์เท่ากับเงื่อนไขทางสภาพแวดล้อมสังคมที่ให้เกิดกรณีเช่นนั้น ซึ่งเป็นงาน “สืบสวน” ที่ต้องทำการบ้านให้หนัก หาข้อมูลให้ดี มีกรอบคิด เครื่องมือเพื่อเชื่อมข้อมูลให้เป็นความรู้ ไม่ใช่ได้แต่ข้อมูล “ดิบๆ” (ที่กินแล้วท้องอืด ย่อยไม่ได้) หรือด่วนสรุป ชอบทำตัวเป็น “ผู้พิพากษา” หรือ “ศาล” เสียเอง สภาพการณ์ของการสื่อสารบ้านเราก็เหมือนกับทั่วโลก สื่อกระดาษค่อยๆ ล้มหายตายจาก ผันตัวเองไปทำออนไลน์กันจนแผงหนังสือพิมพ์เริ่มหายาก คนส่งหนังสือพิมพ์ตามบ้านก็ตกงาน ทีวีที่มีมากมายก็แข่งกันเอาเป็นเอาตาย และตายสมความตั้งใจไปหลายช่องแล้ว ที่เหลือก็จัดแข่งร้องเพลง เกมโชว์ ชกมวย โดยมีละครเป็นหลักเรียกเรตติ้ง สุดท้ายคงเหลือทีวีไม่กี่ช่อง เพราะยุคนี้ “ใครๆก็มีทีวีได้” “ทำทีวีเอง” มียูทูบเบอร์สมัครเล่น-อาชีพขึ้นมาทุกวัน ทำคลิปดีๆ เต็มไปหมด ไม่นาน สื่อ “บุคคล” จะกลืนสื่อ “มวลชน” เพราะสื่อบุคคลจะเอาสิ่งที่ดีที่สุดของตัวเองเท่านั้นออกมาเสนอ คนดูคนฟังชอบก็กดไลค์และส่งต่อ คืนเดียวอาจเป็นแสนเป็นล้าน ใครยังจะดู “สื่อมวลชน” และข่าว “ไทยมุง” ถึงเวลาที่สื่อมวลชน นักข่าว จะกำหนดทิศทางและจุดยืนของตนเอง ที่ทำให้มีจุดยืนในโลกที่เปลี่ยนเร็วนี้ สังคมเปลี่ยนเร็วแบบก้าวกระโดด (exponential) และ “เปลี่ยนแบบหักดิบ” “เปลี่ยนดับ” (disruptive) นักข่าว คนทำสื่อแบบดั้งเดิมก็เหมือนพนักงานธนาคาร เหมือนกับคณะนิเทศศาสตร์ที่เคยฮิตติดตลาด วันนี้งานธนาคาร งานสื่อสารกลายเป็นงานที่ไม่มีความมั่นคงอีกต่อไป คนที่ปรับตัวได้ดีที่สุดเท่านั้นจึงจะอยู่รอด มาเรีย เรสซา นักข่าวคุณภาพ เป็นแรงบันดาลใจให้คนทำข่าว ผู้เสนอข่าว นักเล่าข่าว และชวนผู้บริโภคข่าวทั่วโลกติดตามและหลงใหล จนได้รับการยกย่องจาก Esquire นิตยสารผู้ชายของสหรัฐให้เป็น “สตรีที่แซ็กซี่ที่สุด” ไม่ใช่เพราะหน้าตา แต่เพราะคุณภาพ ผลงาน และความกล้าหาญของเธอ