เราเคยเสนอความเห็นมาตลอดว่า งานปฏิรูปด้านสำคัญมากคือการปฏิรูประบบราชการ เพราะการปฏิรูปด้านต่าง ๆ จะบังเกิดผลสำเร็จยาก ถ้าไม่ปฏิรูประบบราชการเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ , การเมือง , วัฒนธรรม ฯลฯ ระบบราชการก็ดูจะเป็นกำแพงด่านสกัดกั้นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ล่าช้า แต่งานปฏิรูปที่ คสช. กำกับอยู่ เน้นแก้กฎหมายเท่านั้น ซึ่งการแก้กฎหมาย มิได้ปรับปรุงตรงจุดแก่นแท้ของปัญหา รูปธรรมที่สอเค้ายุ่งเหยิงคือ การผ่าตัดในกระทรวงศึกษาธิการ มันดูเหมือนการรื้อเปลี่ยนแนวทางการบริหารในกระทรวงเท่านั้น มิได้ปฏิรูปแก่นวิสัยทัศน์ของหน่วยงาน ผลคือนอกจากสังคมจะไม่ได้ระบบการศึกษาที่ถูกต้องเหมาะสมมากกว่าเดิมแล้ว คสช.ยังจะเสียแนวร่วมความสนับสนุนจากกลุ่มอาชีพครูอีก คสช. ก็ควรเข้าใจด้วยว่า กุญแจสำคัญในความสำเร็จสมปรารถนาที่อุตส่าห์ทำรัฐประหารกันมานั้น มิใช่แค่เพียง “แม่น้ำห้าสาย” แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดคือระบบข้าราชการประจำต่างหาก ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนไว้ว่า “ระบบราชการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเหลือเกินในการปกครองประเทศ ทั้งนี้ก็หมายถึงระบบราชการประจำ เพราะเหตุว่าเราไปสนใจในการเมืองเสียมาก ระบบราชการประจำก็ถูกทอดทิ้ง และเมื่อสิ่งใดถูกทอดทิ้งแล้วมันก็อาจจะเกิดความเสื่อมโทรม อาจจะเกิดความเปลี่ยนแปรไปในทางที่ไม่พึงปรารถนา หรืออย่างน้อยก็อ่อนกำลังลง ราชการไทยทุกวันนี้ก็ก็เห็นจะเทียบได้อย่างนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปและขยายตัวออกซึ่งทำกันไปโดยอาศัยความจำเป็นเฉพาะหน้า.... แต่ความรู้สึกของผมเองรู้สึกว่า การกระทำที่ทำไปนั้นเป็นการกระทำเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อจะตั้งระบบขึ้นใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่เหตุการณ์และความจำเป็น เพราะฉะนั้นเมื่อได้มีข้อเสนอที่จะให้พิจารณาหรือสังคายนากันเสียทีหนึ่ง ตั้งระบบกันขึ้นใหม่ให้เข้มแข็งมีประสิทธิภาพกว่าเดิม มันเป็นเรื่องที่จะต้องยินดีกันทั้งที่ความหวังที่จะเป็นความสำเร็จนั้นจะมีมากหรือมีน้อยก็ตามที” น่าเสียดายที่การ “ปฏิรูป” รอบนี้ ยังไม่สามารถปฏิรูประบบราชการ เราเข้าใจดีว่า การปฏิรูประบบราชการนั้นยากแสนยาก อย่างการปฏิรูปตำรวจ เสียงเรียกร้องดังระงม แต่ก็ผลักดันอะไรไม่ได้เลย ระบบราชการของเมืองไทยเป็นขนาดที่กว้างขวางมากมายเช่นนี้เอง การที่จะจัดระบบขึ้นใหม่หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับปรุงมันก็เป็นเรื่องยาก เพราะของอะไรที่มีขนาดใหญ่โตมหึมาแตกกิ่งก้านสาขาออกไปทั่วประเทศ และได้ดำเนินการมาเป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งเป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในจิตใจของคนเสียแล้วอย่างนี้ ถ้าหากว่าเราลองแตะต้องปรับปรุงแก้ไขดูแล้ว เราก็จะพบกับความจริงที่ว่า บางทีผู้ที่คิดจะแก้ไขนั้นเองต้องพ่ายแพ้แก่สิ่งที่ตนปรารถนาจะแก้ไข คือถึงไม่พ่ายแพ้ด้วยขนาด ก็พ่ายแพ้ด้วยน้ำหนัก หรือพ่ายแพ้ด้วยความมั่นคงของสิ่งที่ตนจะปรับปรุงนั้นเอง แต่ลองคิดดูใหม่ว่า แม้จะไม่อาจทำได้สำเร็จสมบูรณ์แบบ แต่แสดงความจริงใจทำงานเต็มที่กันบ้าง คสช.จะได้นับความนิยมมากขึ้นแน่