ดร. วิชัย พยัคฆโส [email protected] ดูเหมือนว่าตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัย ที่ใช้งบประมาณของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยแบบใด ต้องมี พรบ.ของตัวเองในการบริหารงานของมหาวิทยาลัย กำลังถูกกล่าวหาว่าขัดต่อ พรบ.ข้าราชการพลเรือนที่ต้องเป็นข้าราชการและยังไม่เกษียณอายุราชการ การพัฒนาโครงสร้างการบริหารงานมหาวิทยาลัยตาม พรบ.ปฏิรูปการศึกษา 2542 ก็เพื่อมุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพให้กับประเทศ จะต้องมีอิสระทางวิชาการ อิสระในการบริหารงาน ไม่ยึดติดกับระบบราชการทุกอย่าง โดยเฉพาะปลอดจากการเมืองเข้ามาครอบงำ จึงได้แยกมหาวิทยาลัยออกจากระบบราชการ มี พรบ.ของตัวเอง มีสภามหาวิทยาลัยกำกับดูแลแทน สกอ. การแต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา อธิการบดี ผู้บริหารในระดับคณบดี ไม่ใช้ระบบอุปถัมภ์ แต่ใช้ระบบการสมัคร หรือเสนอชื่อผู้เหมาะสมเข้ารับการสรรหาอย่างเป็นระบบในระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานที่เข้าสู่ยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ดีอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ส่วนมากจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีการพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพ มีคุณภาพมากกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐดูได้จากประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว เพราะมหาวิทยาลัยเอกชนเขาใช้ผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในภาพกว้าง ไม่ติดยึดกับระบบราชการ ผู้บริหารและครูบาอาจารย์มักจะใช้ผู้มีประสบการณ์จากสถานประกอบการมาเป็นอาจารย์เสียมากต่อมาก เพราะการสร้างคนมิใช่ยัดเยียดตำราให้เพียงอย่างเดียว ต้องใช้ประสบการณ์ คิดเป็น ทำเป็น มีทักษะทางสังคม เพื่อเป็นผู้ประกอบการได้ เขาจึงก้าวหน้าติดอันดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยโลกกันมากมาย ขอสนับสนุนวิธีคิดของ สกอ. ที่ไม่ติดยึดระบบราชการโดยจะเสนอทูลเกล้าแต่งตั้งการเป็นอธิการบดี ตามระบบและตาม พรบ. หรือ ระเบียบ หรือข้อบังคับของแต่ละมหาวิทยาลัย ไม่ยึดโยง พรบ. ข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นกฎหมายคนละฉบับมายับยั้งความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยตามหลักการของการปฏิรูปการศึกษา จึงน่าจะถูกต้องและควรสนับสนุนตามเหตุผลของ สกอ. ทำไมต้องจำกัดอายุ 60 ปี และต้องเป็นข้าราชการ หรือพนักงานมหาวิทยาลัยเท่านั้น สำหรับอธิการบดี หรือผู้บริหาร หากข้าราชการ หรือพนักงานมหาวิทยาลัยภายในมีศักยภาพ มีความสามารถในการบริหารองค์กร ต่างมีสิทธิอยู่แล้วตามกระบวนการสรรหามิได้ถูกจำกัดสิทธิ และก็มีผู้สมัครที่อายุไม่เกิน 60 ปี เป็นผู้สมัครเข้ารับการสรรหารวมอยู่ด้วย แต่เมื่อไม่มีคุณสมบัติพอเพียงก็ต้องยอมรับในระบอบประชาธิปไตย เพราะคนนอกหรืออายุเกิน 60 ปี เขามีประสบการณ์ คุณสมบัติ เหมาะสมที่จะเป็นอธิการบดีมากกว่าก็ต้องยอมรับ มิใช่หาเหตุอื่นคัดค้านกันแบบเห็นแก่ตัวเอง มากกว่าที่จะเห็นอนาคตของมหาวิทยาลัยและคุณภาพของบัณฑิตที่จะออกไปพัฒนาประเทศ การเป็นผู้บริหารต้องบริหารในมิติการพัฒนาทั้งด้านงานตามภารกิจ งบประมาณ และพัฒนาคนภายในควบคู่กันไป มิใช่เพียงอยากเป็นแค่ทำงานรูทีนเท่านั้น ใครๆ ก็ทำได้ วิสัยทัศน์ กระบวนทัศน์ และวิธีคิดของอธิการบดีต้องมองโลกให้กว้างใหญ่เอาไว้ หรืออาจพูดได้ว่าต้องบริหารแบบ dynamic management มากกว่า routine management ประเทศไทย 4.0 ทำให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวให้เป็นยุค 4.0 รวมถึงมหาวิทยาลัย 4.0 ด้วย หากยังมีวิธีคิดแบบมหาวิทยาลัย 0.4 กันอยู่ มหาวิทยาลัยจะเป็นที่พึ่งของประเทศ หรือประเทศจะเป็นที่พึ่งของมหาวิทยาลัยตลอดไปกันแน่ ทบทวนกันหน่อยครับ