เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ปีใหม่ 2563 ขอให้ผู้อ่านทุกท่านอยู่ดี กินดี มีความสุข ช่วยกันส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ขยายไปทั่วแผ่นดิน จนไม่ต้องไปรบกับพ่อค้าและนักการเมืองเรื่องสารเคมีสารพิษอีก ภาครัฐเปลี่ยนชื่อ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564” เป็น “แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560 - 2565” บูรณาการกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชยน์ กระทรวงอุดมศึกษา รวมทั้งภาคประชาสังคม ฟังดูดี ในความเป็นจริงอาจเป็นเหมือนเรือเกลือที่พ่วงกันสามสี่ลำ ระหว่างรัฐบาลคสช.ได้มีการส่งเสริม โดยการนำของรัฐมนตรีช่วยฯ วิวัฒน์ ศัลยกำธร ได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้เกิดเกษตรอินทรีย์ 1 ล้านไร่ภายในปี 2564 ในการเซ็นความร่วมมือระหว่างจังหวัดต่างๆ อย่างในกลุ่มจังหวัดอุบลฯ อำนาจฯ ยโสธร ศรีสะเกษ ในท้ายรัฐบาลคสช.เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลนี้ มีการสัมมนา เซ็นเอ็มโอยู และจัดมหกรรมเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ไปถึงการทำโครงการ “จังหวัดเกษตรอินทรีย์” เช่นที่นครพนม พุทลุง เลย และอีกหลายจังหวัดทุกภาค ที่ทำมาก่อนนี้หลายปีก็ที่อำนาจเจริญ ซึ่งมีธรรมนูญจังหวัด ต้นแบบจังหวัดจัดการตนเอง สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (ธันวาคม 2562) เสนอให้เกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ ก็คงมียุทธศาสตร์มีแผนงานเป็นรูปธรรมชัดเจน พร้อมกับเป้าหมายของภาคประชาชนเอง บูรณาการเกษตรอินทรีย์เข้ากับธรรมนูญสุขภาพ ธรรมนูญจังหวัด โดยไม่ต้องรอรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีงบก็ทำ ไม่มีงบก็ไม่ทำ หัวใจสำคัญคือการทำยุทธศาสตร์ที่เริ่มจากการเข้าใจสถานการณ์โลกและสังคมไทยในปัจจุบันว่ากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มีศักยภาพและข้อจำกัดอะไร โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคน หน้ามือเป็นหลังมือ และพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งไทยและทั่วโลก การเปลี่ยนแปลง “แบบก้าวกระโดด” (exponential) และ “แบบหักดิบ” (disruptive) นี้ไม่ได้เป็นเส้นตรงที่ค่อยๆ สูงขึ้น แต่เป็นตัว S ที่เริ่มช้าแล้วพุ่งขึ้นเร็วมาก อย่างการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการสื่อสารที่ผ่านมาถึง 4G กำลังจะไป 5G ที่จะมีผลต่อวิถีชีวิต อาชีพ การงานของผู้คน เกิดปัญญาประดิษฐ (AI) อินเทอร์เน็ตข้าวของ (IOT) และอื่นๆ ที่ผนึกกัน (synergy) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดที่คนคิดแบบเดิมๆ ตามไม่ทัน ตกยุค ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก คือ อีคอมเมอร์ซ การซื้อขายออนไลน์ การส่งของด่วนภายในวันเดียวที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว อะไรๆ ก็สั่งได้ซื้อได้ทางมือถือ แม้แต่อาหารการกินก็สั่งให้มาถึงบ้านได้หมด วันนี้มูลค่าซื้อขายออนไลน์พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขนส่งสินค้าก็ไม่ได้มีแต่ไปรษณีย์หรือเคอร์รี่ แต่มีอีกมากมายหลายเจ้าที่เข้ามาแข่งแบ่งตลาดที่เติบโตเร็วมากๆ นี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตของผู้คนทั้งในเมืองและในชนบท ถ้าเกษตรอินทรีย์จะเติบโตก็ต้องพิจารณาองค์ประกอบการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ตลาดออนไลน์ไทยเติบโตเร็วมาก บางข่าวบอกว่าไทยซื้อขายออนไลน์มากเป็นอันดับ 3 ของโลก เติบโตปีละกว่า 12 เปอร์เซนต์ ปี 2562 คาดว่ามีมูลค่าถึง 3.2 ล้านล้านบาททีเดียว ร้อยละ 90 ผ่านสมาร์ทโฟน การเกษตรไทยมีศักยภาพสูงมากที่จะเป็นทางออกของประเทศ ปัญหาวันนี้ คือ การไม่เปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำของข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ของสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในท้องถิ่นแต่ไม่ได้พัฒนาท้องถิ่น ทำให้เกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่เป็น “ชาวไร่ชาวนา” คนรุ่นเก่า ไม่ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง ไม่มีการส่งต่อคนรุ่นใหม่ ที่แม้จะมีบางคนกลับไป แต่ก็ยังน้อยมาก ลำพังเกษตรกรรุ่นเก่าคงไม่สามารถเข้าสู่การเกษตร 4.0 ได้ ถ้าลูกหลานที่เรียนมหาวิทยาลัยไม่กลับไปช่วยสืบทอดด้วยการปรับตัวให้ทันโลก ทันเทคโนโลยี และมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นไม่มีข้อมูลรายละเอียดจนถึงระดับ “ครัวเรือน” เหมือนที่จีนทำ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง คือ ทันความต้องการของโลกที่ต้องการข้าวพื้นเมือง ข้าวอินทรีย์ ผัก ผลไม้ อาหารปลอดภัย และทันเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป การตลาด โลจิสติกส์ ถ้าไม่มีการเปลี่ยน “กระบวนทัศน์” คือ ทั้งวิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า บนฐานการมองโลกแบบใหม่ การเกษตรไทยคงไปไม่รอด ยังมุ่งเน้นที่การผลิตข้าวให้ได้ปริมาณมาก ระดมทั้งปุ๋ยเคมี สารพิษสารพัดชนิดเหมือนเดิม ราคาต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งที่คุณภาพก็ไม่ได้ด้อยกว่า บางประเทศคุณภาพดีกว่าไทยอีก ขณะที่ข้าวพื้นเมืองไทยคุณภาพดีเลิศต่อสุขภาพ ข้าวอินทรีย์ ข้าวกล้อง ข้าวกล้องงอก ตอบสนองตลาดโลกที่เติบโตขึ้นทุกปีเร็วมาก รัฐบาลกลับดูจะสนใจแต่เรื่องประกันราคาข้าว เอาใจพ่อค้า ไม่อยากเลิกสารเคมี มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรอยู่ทั่วประเทศ มีงบประมาณ มีสหกรณ์ มีธนาคารส่งเสริมการเกษตร มีกลไกมากมายที่จะใช้เพื่อการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ด้วยวิธีต่างๆ แต่ไม่มีวิสัยทัศน์ การกระจายรายได้ไปสู่เมื่องรอง สู่ชนบท คิดแต่เพียงการท่องเที่ยว โดยไม่พัฒนาคน ไม่พัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตรที่เป็นหลักเป็นต้นทุนก็น่าเสียดาย เพราะยังไงคนไปเที่ยวต้องกินต้องดื่ม ทำอย่างไรให้เขาได้กินดีดื่มดี มีความสุข มีสุขภาพดี มีข้าวของติดไม้ติดมือกลับไปจะได้เผยแพร่ข้อมูลและขยายตลาดให้ คงต้องให้ภาคประชาสังคม ผนึกพลังกันเดินหน้าไปก่อน เกษตรอินทรีย์จึงจะนำไทยไปสู่การเป็นครัวของโลก ครัวที่ให้อาหารดี สะอาด ปลอดภัย ที่โลกเรียกหา