เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ประเทศไทยเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติแผนที่ 1 เมื่อปี 2504 (มาเพิ่มคำว่าสังคมในแผนต่อๆ มา) น่าจะได้รับแนวคิดและอิทธิพลจากอเมริกันและสถาบันการเงินโลกอย่างธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ มีทฤษฎีอย่าง “ทฤษฎีพึ่งพา” (Dependency Theory) ที่อธิบายว่า ประเทศร่ำรวยจะดึงเอาประเทศยากจนทั้งหลายเข้าสู่ระบบโลก ให้พึ่งพาประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งจะดูดเอาทรัพยากร บุคลากร แรงงาน และผลประโยชน์ต่างๆ จากประเทศยากจนที่ตนเองไปส่งเสริมสนับสนุน” ในนามของ “การพัฒนา” จะเรียกว่าเป็นความปรานาดีที่ประสงค์ร้ายก็คงไม่ผิด เพราะพวกเขามักอธิบายว่า ถ้าประเทศร่ำรวย รวยมากขึ้น พัฒนามากขึ้น ก็จะดึงประเทศอื่นให้พัฒนาไปด้วย เพราะเป็น “ระบบโลก” มีคำอธิบายเดียวกันนี้ในแต่ละประเทศ ที่ส่งเสริมให้คนกลุ่มหนึ่งรวยขึ้น อ้างว่า จะได้ฉุดคนส่วนใหญ่ที่จนให้รวยขึ้นด้วย คำอธิบายนี้เรียกว่า “ทฤษฎีการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม” (Unequal Development Theory) ทฤษฎีเบื้องหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทยตั้งแต่แผนที่ 1 จนถึงแผนที่ 12 ในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2504 ที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม 60 ปี ที่พิสูจน์ว่า ทฤษีพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมเป็น “ฝันร้าย” ของสังคมไทย วันนี้มีข้อมูลทำให้เราไม่ควรภูมิใจ ที่ไทยได้กลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำอันดับหนึ่งของโลกไปแล้ว นิตยสารฟอร์บส์ไทยแลนด์บอกว่า คนไทย 1% ถือครองทรัพย์สิน 66.9% แปลว่าคนไทยอีก 99% ถือครองทรัพย์สินเพียง 33.1% ประเทศรัสเซียอันดับ 2 ตุรกีอันดับ 3 อินเดียอันดับ 4 ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยฐานะเงินสำรองทางการระหว่างประเทศของไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีอยู่ 7.67 ล้านล้าน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก มีทองคำมูลค่ากว่าสองแสนล้านบาท รัฐวิสาหกิจต่างๆ ทำกำไรถ้วนหน้า มีเงินเข้าคลังรวมเป็นแสนล้าน มีโบนัสให้พนักงานมากมายหลายเดือน นิตยสารฟอร์ปส์ ให้ข้อมูลว่า มหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของไทยในปี 2562 มีสินทรัพย์รวมกันถึง 5.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่เคยอยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท แปลว่าในเวลาเพียง 4 ปี เพิ่มขึ้นสองเท่า ใครเป็นใครคงหาข้อมูลในรายละเอียดได้ เดากันได้ไม่ยาก เมื่อปี 2504 ที่เริ่มต้นแผนพัฒนาฯ รัฐบาลไทยให้ความหวังว่า วันหนึ่งคนไทยจะรวยกันถ้วนหน้า ตอนนี้ให้คนส่วนน้อยรวยไปก่อน แล้วคนส่วนใหญ่ก็จะได้อานิสงค์รวยไปด้วย “ในระยะยาว” แต่ยาวมาถึง 60 ปี 12 แผนแล้ว คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังรวยแต่หนี้ ก้มหน้าก้มตาทำมาหากเงิน ปากกัดตีนถีบ รัฐบาลแต่ละยุคที่เข้ามา ไม่ว่าทหารหรือพลเรือน ต่างก็ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้คนไทยก้าวพ้นจากความยากจน แล้วก็ก้าวพ้นจากรายได้ปานกลาง แต่ในสภาพที่เป็นจริง คนไทยก็ได้แต่ฝัน “เมื่อความฝันสิ้นสุดลง คนก็เริ่มค้นหาความจริงกันใหม่” (อามาตยา เซน) ความเป็นจริงก็คือ การพัฒนาแบบนี้คนรวยก็มีแต่รวยขึ้น คนจนก็จนลง อย่างนี้ควรเรียกว่าการพัฒนาไม่ได้ เป็น “ความทันสมัยที่ไม่พัฒนา” มากกว่า (Modernization without Development – Samir Amin) เพราะการพัฒนาหมายถึงสภาวะที่คนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกิน มีปัจจัยสี่ที่จำเป็นเพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง สภาพสังคมไทยวันนี้มีปัญหาที่ระบบโครงสร้างที่เอื้อให้คนรวยรวยขึ้น คนจนจนลง กฎหมายไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่เปิดโอกาสให้คนเล็กๆ ได้เกิดและเติบโตตามศักยภาพของตนเอง แต่เปิดโอกาสให้คนรวยได้กอบโกยมากขึ้น ให้สาวได้สาวเอามากขึ้น นี่คือความหมายของแนวคิดว่า ให้ปลาคนจนก็ต้องให้ไปตลอดชีวิต ให้เบ็ดและวิธีการจับปลาก็ดีหรอก แต่ไม่พอ เพราะเขาอาจไม่มีโอกาสจับปลา เพราะรัฐไม่เปิดโอกาสให้เขาได้จับปลา ปล่อยให้คนมีอำนาจ มีทุน มีเทคโนโลยี ปัจจัยการผลิตผูกขาดโอกาส แล้วรัฐบาลก็เลือกให้ “ปลาคนจน” แจกเงินไปเรื่อยๆ ตัวอย่างเล็กๆ ชายฝั่งทะเลไทยหลายพันกิโลเมตร นายทุนและผู้มีอิทธิพลในแต่ละท้องถิ่นต่างก็ไปปักไม้ปักเขตเป็นของ “ส่วนตัว” ไปเกือบหมด ไม่เหลือให้คนจนไปหากุ้งหอยปูปลาเพื่อประทังชีวิตเลย ไม่ต้องพูดถึงที่ดินเป็นหมื่นเป็นแสนไร่ในป่าที่คนรวยรุกได้ คนจนติดคุก หรือการผลิตเหล้าเบียร์ แอลกอฮอล์ ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปทำได้ เพราะกฎหมายเหมือนเขียนไว้ให้คนรวย คนมีทุนใหญ่เท่านั้นทำได้ เมื่อสิบกว่าปีก่อนรัฐบาลยุคนั้นบอกว่า “ต้มเหล้าเลยพี่น้อง” ชาวบ้านก็เฮตามนโยบายของรัฐ ที่พูดแต่ปาก แต่ไม่ช่วยอะไรมากกว่านั้น นายทุนประกาศว่า ร้านไหนขายเหล้าชาวบ้านจะไม่ได้ขายเหล้าเบียร์ตน รถใครไปขนเหล้าชาวบ้านจะไม่ได้บรรทุกเหล้าเบียร์ยี่ห้อดัง โรงงานไหนขายขวดให้ชาวบ้าน จะไม่ซื้อขวดโรงงานนั้น เท่านั้นชาวบ้านก็เจ๊งทั้งประเทศ แม้แต่จะต้มกินก็ไม่ได้ ผิดกฎหมาย ยังไม่พูดเรื่องภาษีและกฎระเบียบอื่นๆ ที่ไม่เอื้อชาวบ้าน บ้านเมืองนี้ปากว่าตาขยิบ มีเหล้าเต็มบ้านเต็มเมือง มีซ่องในชื่อต่างๆ หาได้ง่ายเหมือนร้านขายของชำ คนมีอำนาจปากก็บอกไม่ส่งเสริมอบายมุข รักคนจน รักชาวบ้าน แต่ไม่เปิดโอกาสให้ปฏิรูประบบโครงสร้างที่เอื้อคนจนเหมือนที่พูด นักการเมืองเข้าใจปัญหา “ระบบโครงสร้าง” จ้องจะรื้อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเห็นว่าเป็น “พิมพ์เขียว” ที่บิดเบี้ยวของสังคม ขณะที่กฎหมายหลายพันฉบับที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนากลับไม่สนใจแก้ แล้วจะไม่ให้สงสัยได้อย่างไรว่า สุดท้ายพวกคุณก็เป็นพวกเดียวกับกลุ่มคนที่ผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคม