แสงไทย เค้าภูไทย เมืองหลวง เมืองสำคัญในยุโรปเป็นเมืองปลอดรถยนต์กันไปแล้วหลายเมือง บางเมืองให้เฉพาะรถใช้ไฟฟ้าเข้า สหรัฐฯ กำลังเลิกต่อทะเบียนรถใช้น้ำมัน และเลิกก๊าซหุงต้มในบางรัฐ ด้วยเหตุผลลดมลภาวะทางอากาศ ส่วนไทยไม่แก้ปัญหา กลับเพิ่มการใช้ก๊าซใช้น้ำมัน จนฝุ่นพิษฟุ้งท่วมเมือง ลองหลับตาจินตนาการดูว่า ถ้าทุกบ้านมีแท่นจ่ายกระแสไฟฟ้า รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ของเจ้าของบ้านชาร์จไฟไว้เต็มแบตเตอรี่ ออกรถไปทำงานหรือประกอบกิจวัตรประจำวันได้ทันที ถนน ทุกถนนมีแต่รถใช้ไฟฟ้า บ้านเมืองเราจะปลอดควัน ปลอดฝุ่นขนาดไหน ? หลายประเทศแบนรถยนต์เข้าเมืองหลวง อย่างออสโลว์ของนอร์เวย์เป็นต้น โดยเปลี่ยนลานจอดรถยนต์เป็นลานจอดจักรยานแทน หรือบางเมือง จะทำเขตห้ามเข้าสำหรับรถยนต์เป็นต้น รถยนต์เป็นตัวการปล่อยควันพิษ (toxic fumes ) และฝุ่นพิษ (toxic dusts) ซึ่งรวมถึง PM 2.5 ตัวสำคัญที่สุด ควันพิษตัวสำคัญที่สุดจากท่อไอเสียคือคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่ถ้าสูดดมเข้าไปมากๆถึงตายได้แบบที่คนที่ปิดรถเอาควันจากท่อไอเสียรมฆ่าตัวตายเป็นต้น เครื่องยนต์ที่เผาไหม้เชื้อเพลิงน้ำมัน โดยเฉพาะดีเซลและแก๊สไม่สมบูรณ์ นอกจากคาร์บอนมอนอกไซด์แล้ว ยังมีเขม่าและไอน้ำมันออกมาพร้อมควันด้วย เห็นกันได้ชัดเจนตอนเร่งเครื่อง ถ้าเปลี่ยนมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ควันและเขม่าพวกนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย คงจะเป็นความฝันอันสุดเอื้อม เพราะผลประโยชน์จากน้ำมันปิโตรเลียมมีมากเหลือเกิน เฉพาะส่วนที่เป็นของรัฐบาลนั้น ปีหนึ่งๆ ปตท.ทำรายได้ถึง 1.93 แสนล้านบาท เป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำรายได้สูงสุดในบรรดารัฐวิสาหกิจด้วยกัน แต่ในด้านรายได้เข้าคลัง กลับกลายเป็นกองสลาก ที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ส่งรายได้เข้าคลังมากที่สุด ทำไม ? ก็เพราะปตท.มีต้นทุนดำเนินการสูงมาก โดยเฉพาะการซื้อน้ำมันดิบเข้ามากลั่น ทั้งๆที่เมืองไทยมีบ่อน้ำมันดิบนับเป็นร้อยๆบ่อ แต่เรากลับซื้อน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมากลั่น ซื้อก๊าซจากเมียนมามาใช้ ส่วนของเราทำเป็นก๊าซเหลวขายให้สุมิโตโม เหตุผลก็คือ โครงสร้างการกระบวนการกลั่นน้ำมันของเรานั้น เป็นแบบกลั่นน้ำมันดิบชนิดเบา (Arabian Light) แต่น้ำมันดิบบ้านเราเป็นชนิดหนัก กลั่นแล้วได้ดีเซลมากกว่่าเบนซิน นี่คือเหตุผลที่ทำให้ต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสูง ทำให้ต้องขายแพง เป็นเงื่อนปมที่ไม่มีใครแก้ไข คนมีอำนาจที่จะแก้ไขได้ โดยเฉพาะนายพลทั้งหลาย ก็ถูกต้อนเขาไปเป็นกรรมการบอร์ด กินเงินเดือนหลักล้าน การที่จะใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะจากโซลาร์เซลล์ จึงยังเป็นทางเดินที่แสนขรุขระแและยาวไกล แม้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะเปิดให้มีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนปีละ 100 เมกะวัตต์ เริ่มปีที่แล้ว แต่กลับมีผู้เข้าร่วมโครงการน้อยมาก โดยมีผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่ กพช.กำหนดนั้น มีแค่ 200 กว่าราย ทั้งนี้เพราะคุณสมบัติของผู้ที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าจากหลังคาหรือ Solar Rooftop นั้น มีขั้นตอนและเงื่อนไขมาก ค่าใช้จ่ายสูงมาก คือราว 200,000-300,000 บาทและยังต้องมีแบตเตอรี่สำรองราคาราว 100,000 บาท สมมติว่า บ้านหนึ่งๆใช้ไฟฟ้าคิดตามบิลเดือนละ 500-1,500 บาท เงิน 300,000-400,000 บาทที่ใช้ลงทุนผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดนี้ ถ้าเอาไปฝากแบงก์ ได้ดอกเบี้ยมาจ่ายค่าไฟยังพอ อย่าว่าแต่พอจ่ายได้เป็นปีๆ เป็นชั่วอายุคน ชั่วลูกชั่วหลานก็ยังได้ จ่ายแล้วก็ดมแก๊สดมฝุ่นกันต่อไป ตราบเท่าที่รถไฟฟ้ายังไม่มาแทนที่รถใช้น้ำมัน