เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนีได้ตกลงในหลักการและรายละเอียดแผนการเลิกอุตสาหกรรมถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2038 โดยจะชดใช้ความสียหายให้แก่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แรงงาน และอื่นๆ เป็นเงิน 40,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 140,000 ล้านบาท ความจริง เยอรมนีได้วางแผนพัฒนาเยอรมนีสะอาดจากถ่านหินตั้งแต่ปี 2018 และให้ค่อยๆ ลดละเลิก ให้หมดไปภายใน 20 ปี คาดว่าอาจจะหมดไปในปี 2035 ซึ่งพรรคกรีนและฝ่ายค้านเห็นว่ายังช้าเกินไป ก่อนนี้ รัฐบาลเยอรมนีได้ประกาศค่อยๆ เลิก (phase out) พลังงานนิวเคลียร์ตั้งแต่ปี 2022 ซึ่งจะทำให้เยอรมนีเป็นประเทศแรกในโลกที่จะปลอดนิวเคลียร์และถ่านหิน การทำเหมืองถ่านหินหนัก (hard coal) เลิกไปตั้งแต่ปี 2018 เยอรมนีเป็นประเทศที่ผลิต “ถ่านหินเบา” หรือลิกไนต์ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ว่ากันว่าทำให้เกิดมลภาวะมากที่สุด หรือสกปรกที่สุด มีคนทำงานในอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินและที่เกี่ยวข้อง 15,000 คน และในโรงไฟฟ้าถ่านหิน 5,000 คน ซึ่งทั้งหมดจะ ต้องหางานทำใหม่ภายในปี 2038 แผนพัฒนาพลังงานของเยอรมนีเริ่มมานานแล้ว วันนี้พลังงานไฟฟ้าเยอรมนีมาจากก๊าซ 12.8% ถ่านหิน 12.8% ลิกไนต์ 22.5% นิวเคลียร์ 11.7% อื่นๆ (รวมน้ำมัน) 4.9% พลังงานหมุนเวียน 35.2% พลังงานหมุนเวียนประกอบด้วย ความร้อนใต้พิภพ .03% น้ำ 2.6% แดด 7.1% ชีวมวล 8.0% ลม (บก) 14.5% ลม (นอกฝั่ง) 3.0% ปัจจุบัน พลังงาน 1 ใน 3 ของเยอรมนีมาจากถ่านหิน โดยรัฐบาลวางเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2030 จะมีพลังงานหมุนเวียนถึงร้อยละ 65 ซึ่งพรรคกรีนบอกว่ายังน้อยไป น่าจะได้เต็มร้อยด้วยซ้ำ ประเทศเยอรมนีมีแผนยุทธศาสตร์บนฐานข้อมูล ข้อเท็จจริงการใช้จ่ายของประชากรและของรัฐบาลทั้งในปัจจุบันและอนาคต การตัดสินใจจึงมาจาก “วิสัยทัศน์” ที่มองกว้าง ไกล ลึก และรอบด้าน ฐานข้อมูลมูลค่าของพลังงานวันนี้และอีก 20 ปีข้างหน้าทำให้เห็นว่า มูลค่าต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (kwh) จากถ่านหินจะแพงที่สุดถ้ารวมงบประมาณอุดหนุนของรัฐ และค่าใช้จ่ายเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนและความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปรากฏดังนี้ คิดเป็นเงินบาทต่อหนึ่งหน่วยกิโลวัต/ชั่วโมง พลังงานลม 1.35-2.8 บาท แดด 2.31-3.16 บาท ก๊าซ 3.72-4.17 บาท ลิกไนต์ 4.52-6.03 บาท ถ่านหิน 5.44-6.23 บาท ประเทศเยอรมนีมาถึงจุดนี้ได้ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้พรรคกรีน และขบวนการประชาสังคมที่มีพลังของเยอรมนี พรรคกรีนเกิดขึ้นเมื่อปี 1993 (2536) ผ่านการต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับไม่น้อย กว่าจะมีบทบาทในรัฐบาลท้องถิ่น และที่สุดในรัฐบาลชาติในปัจจุบัน พรรคกรีนได้รับเลือกตั้งในปี 2017 ร้อยละ 8.9 จำนวน 67 จาก 709 ที่นั่งในสภาระดับชาติ และมีบทบาทสำคัญในระดับรัฐไม่น้อย โดยได้เป็น “รัฐบาล” ร่วมในหลายรัฐ ทำให้นโยบายของพรรคสีเขียวเยอรมนีถูกผลักดันเข้าไปสู่นโยบายของชาติได้หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องพลังงานสะอาด ภาวะโลกร้อน ประชาคมยุโรปวางเป้าหมายปี 2050 ให้อียูถึงจุด “สะอาด” (climate neutral) หมายถึงการถึงจุดสมดุลระหว่างการปล่อยคาร์บอนไดอ็อกไซด์ และการลดการปล่อยก๊าซนี้ลงให้เหลือน้อยที่สุด ด้วยการปรับการจัดการด้านอุตสาหกรรม การเกษตร และการจราจร การเพิ่ม “สีเขียว” อย่างการปลูกต้นไม้และอื่นๆ เชื่อกันว่า พัฒนาการอันรวดเร็วของรถยนต์ไฟฟ้า และพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมกับแบตเตอรี่ที่จะทำให้บ้านเรือน ชุมชนพึ่งตนเองด้านพลังงาน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว แต่ก็ต้องรวมไปถึงการลดเลิกพลังงานจากแหล่ง “ฟอสซิล” อื่นๆ นอกจากน้ำมัน อย่างถ่านหิน ซึ่งมีเยอรมนีเป็นต้นแบบ ประธานอียูคนใหม่เป็นสตรีชาวเยอรมนี ชื่อ อูร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลน์ ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีในหลายกระทรวง รวมทั้งกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลนางอังเกลา แมร์เคิล ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง เธอเสนอ “แผนสีเขียว” (Green Deal) ให้อียู “สะอาด” ในปี 2050 ทันที หญิงแกร่งประธานอียูผู้นี้เกิดและเติบโตที่บรัสเซลส์ เธอเรียนจบแพทย์ในเยอรมนี สามีเป็นหมอที่เคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ทำให้เธอไปอยู่ในแคลิฟอร์เนียหลายปี เธอจึงพูดภาษาเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ เธอมุ่งมั่นมากว่า Green Deal ต้องสำเร็จ ไม่ว่าจะต้องใช้เงินหลายพันล้านยูโร หรือหลายหมื่นล้านบาท ที่จะมาจากประเทศสมาชิก เธอมั่นใจสูงเพราะได้รับการแบ็กอัพจากรัฐบาลเยอรมนีที่นำหน้าในเรื่องนี้ เธอย้ำพร้อมข้อมูลว่า ถ้าไม่ทำ ค่าใช้จ่าย ค่าเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะสูงกว่าที่ “ลงทุน” ไปตอนนี้มากนัก มองเยอรมนีแล้วหันมาดูประเทศสารขัณฑ์กันบ้าง ก็ไม่ได้เห็นวิสัยทัศน์และแผนพัฒนา 20 ปี ที่ทำให้มั่นใจว่าจะช่วยประชาชีให้อยู่ดีกินดี ปลอดภัยในสภาวะแวดล้อมที่สะอาด เพราะแค่ช่วยชาวบ้านให้รอดจากฝุ่นหมอกควันก็ยากแล้ว รอดจากหนี้สินและความยากจนอย่างยั่งยืนอย่างที่โฆษณาก็ไม่น่าจะเป็นจริงได้