สถาพร ศรีสัจจัง ใครก็ตามที่คิดว่าตัวเองนับถือศาสนาพุทธ มักจะคิดว่าตัวเองรู้จักดีว่า “บุญ” คืออะไร ขณะที่ในความเป็นจริงนั้น แทบจะกล่าวได้ว่ามีชาวพุทธในเปอร์เซ็นต์น้อยมาก ที่รู้ว่า “บุญ” และ “การทำบุญ” ตามหลักพระธรรมคำสอนขององค์พระศาสดาคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นที่แท้จริงคือสิ่งใด? ผู้รู้ทางพระพุทธศาสนาท่านสรุปไว้เพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายๆว่า แม้สิ่งที่เรียกว่า “บุญกิริยา” จะมีรายละเอียดถึง 10 ประการก็จริง แต่สรุปเนื้อหาแล้วมีเพียง 3 ประเภทหลักๆ นั่นคือ ทานมัย 1 ศีลมัย 1 และภาวนามัยอีก 1 ที่เราๆมักรู้จักกัน เพราะเข้าถึงได้ง่ายก็คือข้อแรก คือทานมัย หรือจะเรียกให้ง่ายขึ้นก็คือ “การให้” นั่นเอง โดยเฉพาะคนไทยพุทธในยุคที่ระบบเศรษฐกิจกระแสหลักแบบทุนนิยมบริโภคได้รับการ “โปรแกรม”โดย “โปรแกรมเมอร์” ลึกลับที่ไม่มีใครรู้ว่าคือใคร? อยู่ที่ไหน? และอย่างไร?กันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน อย่างเช่นทุกวันนี้ “ทานมัย” หรือการ “ทำบุญด้วยการให้” (เรียกให้ดูโก้ขึ้นว่า “การบริจาคทาน”)ก็ยิ่งดุเดือดและดูแปลกประหลาดขึ้นเป็นเงาตามตัว การอธิบาย “บุญ” อย่างประหลาดพิสดารโดยนำเอาความคิดแบบพราหมณ์หรือแบบผีเข้ามาสวมรอยพุทธ โดยยกเอาสวรรค์ก็ตาม นรกก็ตาม หรือการโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นว่าทำบุญมากก็จะได้ “ผลตอบแทนมาก”ก็ตาม ของบรรดาเหล่าอลัชชีบางสำนัก ที่อ้างตนเป็นสาวกพระพุทธองค์เพื่อ “ค้ากำไร” หรือเพื่อผลประโยชน์และอามิสทั้งหลายทั้งปวง ถึงขนาดทำให้ “ผู้มุ่งแสวงกำไรจากบุญ” มากรายต้องถึงแก่กาลวิบัติ เช่น หมดเงินทองทรัพย์สินที่หามาได้อย่างยากลำบาก บางรายถึงกับครอบครัวล่มจม ผัวพลัดเมีย ลูกพลัดพ่อแม่ ฯลฯ เอาเลยทีเดียว ที่จริงปรากฏการณ์เช่นนี้ เป็นผลพวงหนึ่งหรือเป็นผลิตผลหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า”ระบบประชาธิปไตย”นั่นเองเพราะในระบบดังกล่าวนี้ได้ระบุ “สิทธิ” เรื่อง “ความเชื่อ” ไว้อย่างชัดเจนว่า ทุกคนมีสิทธิ์เชื่อและปฏิบัติตามลัทธิความเชื่อของตนได้อย่างเต็มที่ ตราบใดที่ “ยังไม่มีโจทย์ที่มีหลักฐาน” ตาม “วิถี” ของ “ศาลสถิตยุติธรรม” พิสูจน์ทราบให้ประจักษ์ได้ว่า วิถีปฏิบัติของ(พวก) “เขา” หรือองค์กรสมาคมเหล่านั้น ได้ละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นหรือละเมิด “กฎหมาย” ของสังคมในข้อใด(ทั้งที่ละเมิด “หลัก” ซึ่งเป็นแก่นธรรมแท้ของลัทธิความเชื่อที่พวกเขาอ้างอิงถึง) ดังนั้นชาวผู้นิยม “ประชาธิปไตย” (ตามนิยามของระบบคิดนักทฤษฎีชาวตะวันตก)แบบ “ขึ้นสมอง”ทั้งหลายจึงควรต้องพึงระวังและตระหนักถึงผลอีกด้านหนึ่งที่มักจะเป็น “ด้านมืด” ของระบบที่ว่ากันว่าแสนจะเลอเลิศและถูกอ้างอิงถึงมากที่สุดในยุคปัจจุบันไว้บ้างเน้อ! แรงกระตุ้นจาก “โมหจริต” (ความหลง)เกี่ยวกับความคาดหวังใน “กำไร” ซึ่งเป็นหัวใจหลักของระบบทุนนิยมบริโภคนั่นเองที่เป็นกำหนดรูปแบบในเรื่อง “บุญ” และการ “ทำบุญ” ยุคปัจจุบัน! ไม่ว่าจะเป็นบุญที่หวังให้เกิดในชาตินี้หรือชาติหน้า! หลายคนที่เชื่อพลังคำโฆษณาเรื่อง “นรก/สวรรค์” แบบลัทธิพราหมณ์ ที่บรรดา “พระอาจารย์” จำนวนไม่น้อยนำมา “เทศ” หรือ “รจนา” ไว้ ไม่ว่าจะด้วย “ความไม่รู้ที่บริสุทธิ์ใจ” หรือเพราะ “มิจฉาทิฏฐิ” หรืออ้างว่าเป็น “อุบายที่เป็นกุศล” ก็ตาม ถึงขนาดถือว่าการทำบุญคือ “การลงทุน” ที่มีแต่กำไร ตัวเองอาจทำชั่วหรือ “เบียดเบียน” สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมามากมาย จึงทำบุญเพราะเชื่อว่า “นรก/สวรรค” มีจริงก็มี ที่ทำเพราะอยากขึ้นสวรรค์และไม่อยากตกนรก ก็มี หรือนั่นคือ “บุญที่แท้” ตามหลักการในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ที่ทรงหมายถึง “เครื่องชำระสันดานให้สะอาด” มาถึงบรรทัดนี้ ยังไม่ได้คุยถึงหัวเรื่องที่ตั้งไว้สักนิดเดียวเลยว่าแล้วอะไรละที่คือ “บุญที่แท้”? คงต้องว่ากันให้เป็นรูปธรรมเพื่อความแจ้งตากันต่อไปละนะ...!!!