เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com จีนทำให้เกิดคาร์บอนไดอ็อกไซด์ 1 ใน 3 ของโลก สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ จีนใช้พลังงานจาก ถ่านหินถึง 2 ใน 3 ของประเทศ นโยบายสิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติดูเหมือนจะขัดแย้งกัน ทำให้เกิดคำถาม เพราะด้านหนึ่งดูเหมือนเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังส่งเสริมพลังงานถ่านหิน ข้อมูลจากหนังสือ Will China Save the Planet ? ของ Barbara Finamore ผู้อำนวยการในเอเชียของสภาองค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอเมริกัน และจากการให้สัมภาษณ์นิตยสาร Der Spiegel ของเยอรมัน ดูเหมือนเธอจะมองจีนในแง่บวกด้วยความหวัง เธอเชื่อในวิสัยทัศน์ของผู้นำ ซึ่งได้ริเริ่มเรื่องนี้มานาน ตั้งแต่ปี 2013 ที่เกิดวิกฤตมลพิษในอากาศที่ปักกิ่ง ที่มีคนเปรียบเทียบว่าเหมือนอยู่ในห้องสูบบุหรี่ในสนามบิน ปีนั้นมีคนตายวันละ 4,000 คนจากโรคทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ทางเหนือของจีนที่ใช้ถ่านหินมากในหน้าหนาว ในปี 2013 รัฐบาลจีนทุ่มงบประมาณ 7 ล้านล้านบาทเพื่อแก้ปัญหามลพิษ โดยเฉพาะที่มาจากถ่านหิน และนั่นคือที่มาของคำสัญญาของจีนในการประชุมสิ่งแวดล้อมโลกที่ปารีสเมื่อปี 2015 ว่าจะเริ่มลดได้ในปี 2030 และจะเพิ่มพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจีนทำได้เกินเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2020 ถึงร้อยละ 50 (ปัจจุบันจีนมีพลังงานหมุนเวียน 20 % สหรัฐอเมริกา 13% เยอรมนี 35%) ปี 2017 จีนใช้งบประมาณเพื่อพลังงานหมุนเวียนมากกว่าสหรัฐอเมริกา อียูและญี่ปุ่นรวมกัน แต่ที่ดูเหมือนว่าขัดแย้งก็เพราะตั้งแต่ปี 2014 จีนอนุญาตให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในท้องถิ่น มณฑลต่างๆ ซึ่งต่างก็ระดมสร้างกันมากมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะเป็นตัวชี้วัดและประเมินตำแหน่งผู้นำท้องถิ่น ดูแล้วจึงน่าจะเป็นเรื่องยากที่จีนจะลดมลภาวะจากพลังงานถ่านหินลงให้ได้ 1 ใน 5 รวมทั้งลดการพึ่งพาถ่านหินในภาคอุตสาหกรรมลงร้อยละ 40 ภายในปี 2025 อย่างไรก็ดี มีแผนในทางปฏิบัติที่เห็นได้ เช่น การยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 100 แห่ง ส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 1 ใน 5 ของพลังงานทั้งหมด และตั้งงบประมาณ 11 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และกำหนดให้เมืองใหญ่ 4 เมือง รวมทั้งป้กกิ่งและเทียนสินให้เป็นเขตปลอดถ่านหินในปี 2020 กระนั้นก็มีงานวิจัยที่เจาะลึกเพื่อวิพากษ์นโยบายพลังงานของจีนที่พบว่า สองปีที่ผ่านมา ขณะที่ทั่วโลกลดการใช้ไฟฟ้าจากถ่านหิน 8.1 กิ๊กกาวัต จีนกลับผลิต 43 กิ๊กกาวัตให้ 31 ล้านครัวเรือน และกำลังสร้างหรือฟื้นฟูโรงเก่าเพื่อผลิตอีก 147.7 กิ๊กกาวัต ซึ่งเกือบเท่าผลผลิตของอียู 27 ประเทศรวมกัน (150 GW) งานวิจัยพบว่า จีนกำลังทำให้พลังงานจากถ่านหินสูงเท่ากับอียูทั้งหมดรวมกัน และสนับสนุน 1 ใน 4 โรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศ แล้วยังไปสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศอื่นอีก เช่น แอฟริกาใต้ ปากีสถานและบังคลาเทศ ปี 2020 จีนจะมีไฟฟ้าจากถ่านหินถึง 1,100 กิ๊กกาวัต รัฐบาลจีนลดพลังงานจากถ่านหินลงจาก 68% ในปี 2012 เป็น 59% ในปี 2018 แต่การใช้พลังงานจากถ่านหินกลับเพิ่มขึ้น และความต้องการมีมากขึ้นตามการขยาย ตัวทางเศรษฐกิจ และภาคอุตสาหกรรมเองก็พยายามยื้อ เพราะราคาถูกกว่าและพลังงานทางเลือกมาไม่ทัน จึงเป็นเรื่องท้าทายและยากมากที่จะให้จีนลดการใช้พลังงานจากถ่านหินลงร้อยละ 40 ภายในปี 2030 เพื่อให้อุณภูมิโลกไม่เพิ่มขึ้นถึง 2 องศา แต่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ เพราะจีนก็มีอะไรให้โลกแปลกใจอยู่เสมอ ผู้นำจีนเชื่อข้อมูลทางวิชาการ (มากกว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ที่ไม่เชื่อไม่สนใจ) เชื่อว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องจริงและมีผลกระทบสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน และโดยรวมของประเทศ ไม่ว่าภูมิอากาศโลกที่ร้อนขึ้น ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และปรากฎการณ์อื่นๆ นอกนั้น จีนเชื่อว่า พลังงานสะอาดเป็นโอกาสสำคัญยิ่งทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 นี้ ที่จะสร้างงาน อย่างปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ 4 ล้านคนที่ทำเรื่องพลังงานสะอาด มากกว่าคนที่ทำงานในเหมืองถ่านหิน จึงไม่แปลกที่จะเห็นแนวทางการส่งเสริมพลังงานสะอาดในเรื่องต่างๆ อย่างการอุดหนุนการพัฒนารถไฟฟ้าถึงประมาณ 2 ล้านล้านบาท รวมทั้งการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ และผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุด และส่งออกมากที่สุดในโลก และส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งจะลดมลภาวะได้ดีที่สุด นโยบายพลังงานของจีนคงไม่หลอก แต่เป็นเรือใหญ่ที่ขยับตัวช้า คงถึงเป้าหมายแน่ ถ้าเชื่อในวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดี “สี จิ่น ผิง” ที่บอกว่า “น้ำใส เขาเขียว คือ ทองและเงิน” สามแนวรบสำคัญของจีนตามนโยบายของผู้นำ “ตลอดกาล” ลูกหลานซุนหวู่ท่านนี้ คือ ความเสี่ยงด้านการเงิน ความยากจน และสิ่งแวดล้อม ว่าแต่ “ไวรัสโคโรนา” มาซ้ำเติมภูมิคุ้มกันคนจีน ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ (ปอด) เพราะมลพิษในอากาศหรือไม่ อู๋ฮั่นเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดเมืองหนึ่งของจีน ทำให้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วหรือไม่