ในวาระวันสำคัญยิ่งคือ “วันจักรี” ปีนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 จึงนับเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย การมีรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 ยืนยันว่าการพัฒนาการเมืองไทยกำลังก้าวเดินไปตามโรดแมปที่ คสช. วางไว้ แล้วในอนาคตอันใกล้การเมืองไทยก็จะเข้าสู่ระบบเลือกตั้ง มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในโรดแมป อย่างไรก็ตาม การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็เป็นเพียงภาคส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศทั้งหมด ยังมีภารกิจดำเนินการปฏิรูปอีกหลายๆ ด้านที่ คสช. ต้องรับภาระหนัก ทำหน้าที่ผลักดันกันต่อไปอีกระยะหนึ่ง เรื่องรัฐธรรมนูญนี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยร่วมร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ และเคยวิจารณืเตือนสติชาวไทยไว้หลายประเด็น “การปกครองระบอบประชาธิปไตยในเมทืองไทย เราได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาแล้วเป็นจำนวนหลายฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับหากจะเอามาเปรียบเทียบกันแล้ว ถึงจะเห็นได้ว่าไม่มีสาระอันใดที่แตกต่างกันมากนัก ถึงอย่างนั้นก็ยังมีผู้เห็นว่าจะต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งเพื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่เรื่อยไป จนในที่สุดเราก็ได้ทราบกันจากข้อเขียนของผู้ที่มีปัญญาสูงเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า รัฐธรรมนูญนั้นถึงแม้ว่าจะมีบทบัญญัติที่ไม่ดี ไม่พึงเห็นด้วยอยู่บ้าง ก็ควรจะมี ดีกว่าที่จะไม่มีเสียเลย เพราะการมีรัฐธรรมนูญนั้นทำให้คนสบายใจ ถ้าจะพูดกันตามตรงแล้ว ในระหว่างที่มีรัฐธรรมนูญ อาชีพของประชาชน การเศรษฐกิจ และการศึกษาก็ยังถูกทอดทิ้งมิได้มีผู้ใดเหลียวแล การใช้อำนาจต่าง ๆ ในทางการเมืองและในทางการปกครองก็ใช่ว่าจะเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยนัก แต่การมีรัฐธรรมนูญก็ยังทำให้คนสบายใจ สบายใจว่าอย่างไร ? สบายใจว่ามีรัฐธรรมนูญ...... เรามักจะลืมกันเสียว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองของคนที่เจริญแล้วในทางอาชีพและในทางเศรษฐกิจ มีผลประโยชน์ที่ต้องรักษา คนที่ยังมีอาชีพไม่มั่นคง ยังขาดความปลอดภัยในทรัพย์สินที่หาได้ และยังไม่มีประโยชน์เป็นกอบกำที่ต้องรักษานั้น จะเลือกผู้แทนของตนเองให้ถูกต้องเหมาะสมอย่างไรได้ ? เพราะวัตถุประสงค์ขั้นมูลฐานในการเลือกผู้แทนนั้น ก็เพื่อให้ผู้แทนเข้ามารักษาประโยชน์ของตน หรือของกลุ่มคนที่มีอาชีพอย่างเดียวกับตน เมื่อการเลือกผู้แทนได้กระทำกันโดยขาดวัตถุประสงค์ขั้นมูลฐานดังนี้แล้ว ผู้แทนก็ไม่มีประโยชน์ของชนกลุ่มใดที่จะต้องรักษา ผู้แทนก็เลยเข้ามารักษาและแสวงหาประโยชน์ตน หนักเข้าก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งกันอีก นอกจากนั้นรับอบประชาธิปไตยยังเป็นระบอบการปกครองของคนที่สามารถวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวของตัวเองได้ เพราะในระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนเป็นผู้วินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ของบ้านเมืองด้วยตัวของตัวเอง คนที่จะวินิจฉัยปัญหาด้วยตัวของตัวเองได้นั้น จะต้องเป็นคนที่มีการศึกษาอยู่ในระดับดีพอสมควร แต่เมื่อการศึกษาของประชาชนยังอยู่ในระบอบที่ไม่เอาไหนดังที่เห็นกันอยู่แล้ว ประชาชนก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะไม่สามารถจะอาศัยพึ่งพิงให้วินิจฉัยปัญหาอย่างใดได้ หน้าที่ในการวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ของบ้านเมืองก็คงตกอยู่แก่คนไม่กี่คนอยู่นั่นเอง แล้วจะมีระบอบประชาธิปไตยกันไปทำไม ?” (คอลัมน์ “สยามรัฐหน้า 5” ฉบับวันที่ 9 มีนาคม 2515)