เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com การเมืองโลกในศตวรรษใหม่ 20 ปีที่ผ่านมา ร้อนระอุ มีความขัดแย้งสูง มีความแปลกแต่จริง (paradox) มากมาย โดยเฉพาะในนามของ “ประชาธิปไตย” ที่ขบวนการขวาจัดเติบโต ในทวีปยุโรปและอเมริกาเหมือนว่าอำนาจนิยม ฝันร้ายในอดีตกำลังกลับมา ใครจะนึกว่าอเมริกาจะได้ประธานาธิบดีอย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่เคยเป็นนักการเมืองมาก่อน เป็นนักธุรกิจ คนทำสื่อและอีเวนต์ทางสังคม ที่แสดงอำนาจที่นักการเมืองอาชีพไม่เคยกล้าและต้องอาย เขาประกาศตัว “ชาตินิยม” โดยไม่ปิดบัง อ้างผลประโยชน์ประเทศชาติ “อเมริกามาก่อน” ประเทศในยุโรปต่างก็เห็นการเติบโตของพรรคการเมืองขวามากไปถึงขวาจัด สืบทอดจิตวิญญาณของฟาสซิสต์และนาซีแบบที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากเชื่อว่าจะเกิดได้ เพราะควันปืนเพิ่งจะจางลงหลังสงครามโลกที่มาจากความบัดซบของแนวคิดของการคลั่งชาติ (National Socialism นาซี) และอำนาจชาตินิยมสุดขั้ว (Authoritarian Ultranationalism) หรือฟาสชิสต์ มุสโสลินีเข้าไปมีอำนาจ เป็นนายกรัฐมนตรี “เผด็จการ” ในนาม “ประชาธิปไตย” เช่นเดียวกับฮิตเลอร์ในเยอรมนีที่พิสมัยฟาสชิสต์ ต่อต้านขบวนการกรรมกร และทั้งมุสโสลินีและฮิตเลอร์ต่างก็มี “แพะ” เดียวกัน คือยิวและผู้อพยพ อ้างว่าพวกนี้มีเลือด “ไม่บริสุทธิ์” ฟาสชิสต์และนาซีมีศัตรูเดียวกัน คือลัทธิมาร์กซ์ คอมมิวนิสท์ รวมไปถึงเสรีนิยม และอนาธิปัตย์ ไม่ยอมรับความหลากหลาย อยากได้การสนับสนุนของปวงประชา แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเสรี แต่ประชาธิปไตยอำนาจนิยม สร้างวัฒนธรรมอำนาจนำ (hegemony) ปลุกระดมมวลชนให้เห็นด้วยทุกอย่าง วันนี้ที่ยุโรป พรรคการเมืองขวาจัดเริ่มเติบโต ไม่รับความหลากหลายของเผ่าพันธุ์ ไม่ต้องการผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ไม่ต้องการสหภาพยุโรป ไม่อยากให้พวกมากลากไป ต้องการตัดสินใจทุกอย่างในประเทศของตนเอง นี่คือนโยบายของพรรคขวาจัดในเยอรมนีอย่าง AfD ในอิตาลีอย่าง La Liga ในสเปนอย่าง Fox ในฝรั่งเศสอย่าง National Rally ของนาง Le Pen ที่นายซัลวีนี ผู้นำพรรค La Liga ของอิตาลีต้องการเป็นพันธมิตร เพื่อสร้างเครือข่ายพรรคขวาจัดในยุโรปให้มีพลังต้านประชาคมยุโรป ประสานจับมือกับพรรค Freedom Party ของออสเตรีย พรรค Brexit ของนาย Nigel Farage ของอังกฤษ ที่เคยเป็นภาคีของนายบอริส จอห์นสัน นายกฯสหราชอาณาจักร ที่ชวนสงสัยว่าจะใช้อำนาจแบบนายทรัมป์หรือไม่ เพราะเห็นนายทรัมป์ชมแล้วชมอีก ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคการเมืองขวาจัดก็รวมตัวกันต่อสู้ ต่อต้าน ทั้งในฐานะรัฐบาลและขบวนการประชาชน ดังที่เห็นเป็นข่าวในเยอรมันที่พยายามจัดการกับกลุ่มคนขวาจัด นาซีใหม่ ที่ใช้ความรุนแรง ทำร้าย ฆ่านักการเมืองและผู้อพยพ มีการเดินขบวนในเมืองใหญ่ต่อต้านนาซีใหม่และพรรคขวาจัด ขณะเดียวกันก็ดำเนินการทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรมกับคนเหล่านี้ เพราะการกระทำที่ผิดกฎหมาย อย่างกรณีนายซัลวีนี ผู้นำขวาจัดอิตาเลียน ที่ถูกสภาฯ ตัดหางปล่อยให้ถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย เนื่องจากตอนที่เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยได้กักเรือของผู้อพยพร้อยกว่าคนจากแอฟริกาไม่ให้ขึ้นบกที่อิตาลี นายซัลวีนีรณรงค์ต่อต้านชาวมุสลิมว่ากำลังแพร่ศาสนาอิสลามเพื่อกลืนยุโรป และมีแผนสมคบคิดที่จะให้ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยหลั่งไหลเข้ายุโรปตะวันตกให้มากที่สุด มากลืนบ้านกินเมืองแทนคนอิตาเลียนและเจ้าของบ้านประเทศอื่นๆ เขาจึงกล่าวหาประชาคมยุโรปว่ามีนโยบายไปสนับสนุนแผนชั่วร้ายนั้นด้วย ที่สหรัฐอเมริกาก็กำลังเตรียมเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปีนี้ นายทรัมป์เริ่มโจมตีนโยบายของพรรคเดโมแครต และนายเบอร์นี แซนเดอร์สอย่างเรื่อง “สุขภาพถ้วนหน้า” ว่า “เราจะไม่ปล่อยให้สังคมนิยมมาทำลายระบบสุขภาพอเมริกา” เขาปกป้องธุรกิจใหญ่ด้านประกันสุขภาพที่หลากหลายของเอกชนในสหรัฐ ถ้านายแซนเดอร์สได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตก็น่ากลัวอยู่หรอก เพราะเขาได้สัญญาหลายอย่างที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอเมริกันอย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียว การยกหนี้ค่ารักษาพยาบาล หนี้ค่าเล่าเรียน ให้เรียนฟรีถึงมหาวิทยาลัย แผนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใหม่ และขึ้นภาษีคนรวย นายแซนเดอร์สอาจสร้างฝันให้คนจนคนรากหญ้าที่กำลังรวมตัวกันเพื่อให้เขาได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่ยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ คืนอำนาจให้ประชาชน ไม่ใช่ประชาธิปไตยปากว่าตาขยิบอย่างที่นายทรัมป์กำลังทำอยู่ แต่ฝันคนจนอาจสลายในประเทศทุนนิยมเสรีแบบอเมริกาที่เงินเนรมิตได้ทุกอย่าง บ้านเรามีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นมากมายเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง แต่แรงต้านจากอำนาจเก่าก็แข็งแรงจนอาจเหมือนวิ่งไปชนกำแพง มี “พรรคกล้า” ที่กล้าประกาศว่าไม่ซ้าย ไม่ขวา ไม่กลาง เลยไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน เพราะทั่วโลกก็มีแค่ 3 จุดเท่านั้น อยู่ที่ว่าจะมากน้อยเพียงใด ซ้ายจัด ขวาจัดขนาดไหน ถ้า “กลาง” ก็กลางซ้าย กลางขวา หรือพรรคนี้ยังไม่ทันไรก็กล้า “ลอยตัว” แล้ว หลักคิดก็ประกาศว่าเป็นแนวปฏิบัตินิยม ถ้าไม่คิดอะไรมากก็เข้าใจว่าเน้นการปฏิบัติ (เหมือนคนเข้าใจว่า วัตถุนิยม คือนิยมวัตถุ ทั้งๆ ที่เป็นปรัชญาซึ่งรวมถึงแนวมาร์กซิสท์) ปฏิบัตินิยมก็เช่นกัน เป็นปรัชญาเกิดมายาวนานในประวัติศาสตร์ตะวันตก ตั้งแต่อริสโตเติลมาถึงวิลเลียม เจมส์ แยกไปเป็นมากมายหลายสำนัก แต่ไม่ว่าพรรคจะอยู่ตรงไหน กล้าไหมที่จะประกาศว่ายืนอยู่ข้างคนจน จะคืนอำนาจให้ประชาชน ไม่เพียงแต่กล้าพูด เล่นกับภาษาวาทกรรม แต่ลงมือ “ปฏิบัติ” แก้ไขโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมอย่างจริงจัง