เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com คนที่ถูกยิงตาย 9 คนที่เมืองฮาเนาในเยอรมนีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ล้วนเป็นผู้อพยพที่ได้สัญชาติเยอรมัน ส่วนใหญ่เป็นเตอร์ก เคิร์ด เป็นมุสลิม ผู้นำองค์กรต่างๆ หลายคนเริ่มออกมาบอกว่า รอให้รัฐบาลแก้ปัญหาความรุนแรงไม่ได้แล้ว เพราะไม่ถึงปีมีการฆ่ากัน 3 ครั้ง ทั้งผู้นำรัฐบาลท้องถิ่น ชาวยิวที่โบสถ์ และผู้อพยพที่ฮาเนา คงต้องให้ประชาชนทั้งประเทศพร้อมใจกันลุกขึ้นมาแสดงพลังว่าไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงแบบนี้ และต้องหยุดทุกวิถีทาง เหมือนเมื่อ 30 ปีก่อนหลังกำแพงเบอร์ลินพังลง มีการรวมชาติเยอรมัน มีผู้อพยพมาก เกิดปัญหาเศรษฐกิจสังคมมากมาย มีการทำร้ายฆ่าผู้อพยพ คนต่างชาติ จนคนออกไปเดินบนถนนที่มิวนิกหลายแสนคน ถือเทียน ถือป้ายเขียนว่า “เราทุกคนต่างล้วนเป็นคนต่างชาติ ต่างกันแต่ว่าใครมาก่อนมาหลังเท่านั้น” มีคนออกไปจับมือกันเป็นโซ่มนุษย์ตั้งแต่เหนือสุดไปถึงใต้สุด เรื่องจึงได้สงบลง แต่ไม่นาน ความรุนแรงก็คุขึ้นมาอีก โดยเฉพาะนับตั้งแต่ยุคอินเตอร์เน็ตเฟื่องฟู ที่มีการเผยแพร่ภาพ คลิปวิดีโอ hate speech ข้อความเกลียดชังผู้อพยพ ชาวยิว ชาวมุสลิม และตั้งแต่ปี 1990 ถึงวันนี้ คนเหล่านี้ถูกฆ่าไปแล้วถึง 200 คนจากกลุ่มคนขวาจัด นาซีใหม่ใต้ดิน (NSU - National Socialist Underground) ที่กระพือความเกลียดชังและปลุกเร้าความรุนแรง พวกเขาใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเผยแพร่แนวคิดรุนแรงดังกล่าว เพราะอินเทอร์เน็ตมีอิทธิพลต่อคนจำนวนมากที่หมกมุ่นอยู่กับข้อมูลข่าวสาร เมื่อก่อน สมัยนาซี มีการใช้สื่อทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์เพื่อโฆษณาชวนเชื่อแพร่ความคิด ข่าวสาร เพื่อปลุกระดม ทำให้คนลุกขึ้นมาสนับสนุนตน ให้เกลียดยิว เกลียดคอมมิวนิสต์ ที่อิตาลี ในการเลือกตั้งปลายมกราคมที่ผ่านมา พรรค La Liga ของนายซัลวีนี นักการเมืองขวาจัดแพ้ที่แคว้นเอมีเลียโรมาญาทางเหนือ แต่ชนะที่แคว้นกาลาเบรียทางใต้ อย่างที่ David Putnam จากฮาร์วาร์ดเคยวิเคราะห์ไว้ในงานวิจัยประชาธิปไตยอิตาลีว่า เหนือกับใต้เป็นเหมือนสองประเทศที่ต่างกันสุดๆ ใต้มีมาเฟียเป็น สังคมอุปถัมภ์ เหนือเป็นประชาธิปไตยเพราะคนมีการศึกษาดี มีประเพณีประชาสังคมสืบทอดกันมานาน นายซัลวีนีชนะที่ภาคใต้เพราะคนที่นั่นถูกครอบงำด้วยอำนาจ ที่ใช้ปัจจัยต่างๆ โฆษณาชวนเชื่อ แต่แพ้ที่เอมีเลียโรมาญาเพราะเกิดขบวนการประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “ปลากระป๋อง” (Sardine) ไม่ใช่พรรคการเมือง แต่ประชาชนคนธรรมดาที่มีทุนทางสังคมสูง เป็นประชาสังคมที่มีพลัง รวมตัวกันต่อต้าน ที่ฝรั่งเศส กลุ่มผู้ประท้วงตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ไม่ใช่สหภาพแรงงาน หรือสมาพันธ์อาชีพต่างๆ แต่เป็น “ประชาชนคนธรรมดา” ที่สวมเสื้อกั๊กเหลืองเป็นสัญลักษณ์ ประท้วงจนรัฐบาลฝรั่งเศสยอม แต่พลังประชาชนคนฝรั่งเศสก็ยังไม่หยุด เดินหน้าต่อไปเพื่อแสดงว่า บ้านเมืองนี้เป็นของ “ประชาชนคนธรรมดา” ด้วย ไม่ใช่มีแต่ “คนรวย” อย่างที่นโยบายรัฐบาลให้การสนับสนุน หรือรัฐบาลอยากเสนอกฎหมายอะไรก็ได้ตามใจตน บนถนนประชาธิปไตย ไทยเราคงเป็นได้แค่รถอีแต๋นที่อยากวิ่งบนไฮเวย์เหมือนปอร์เช่และเฟอร์รารี โดยบรรดาผู้นำและรัฐบาลมักคิดว่าโลกนี้มีเพียงไฮเวย์ให้วิ่ง ต้องประชาธิปไตย-เสรีนิยม-ทุนนิยมแบบตะวันตกแบบเดียวเท่านั้น ทั้งๆ ที่มีทางเลือกที่อาจไม่สะดวกสบายและวิ่งได้เร็วเท่าไฮเวย์ ถ้าหากมีความอ่อนน้อมถ่อมตนบ้างก็จะไม่อหังการ์ขึ้นไปวิ่งบนทางด่วน แล้วชนซ้ายชนขวามาตลอด จนต้องจอดต้องซ่อมไม่รู้กี่ครั้ง กี่รัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ว่าพลเรือนหรือทหารต่างก็ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือเข้าสู่อำนาจ อ้างความชอบธรรมทำรัฐประหาร พลเรือนก็อ้างนโยบายเพื่อคนจน ได้รับการสนับสนุนเพราะผู้คนไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม นอกจากไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง เป็นเพียง “วัตถุ” (object) ไม่ใช่ “คน” (subject) คนไทยเคยออกไปเดินถนนเป็นแสนเป็นล้าน ไม่น้อยไปกว่าที่เยอรมันหรืออิตาลี ไม่ว่า “สี” อะไร ที่สุดก็ไม่ทนแดดทนฝน สีจืดจางหายไป “เมื่อความฝันสิ้นสุดลง คนก็เริ่มค้นหาความจริงกันใหม่” (อมาตยา เซน) สีไหนมาแทนก็ยังวนเวียนในน้ำเน่าการเมืองเดิม เป็นสีที่ถูกแต่งแต้มจากภายนอก ไม่ใช่สีที่เกิดจากภายใน จุดอ่อนของประชาธิปไตยไทย คือ “การไม่ตระหนัก” ในศักยภาพและต้นทุนที่แท้จริงของตนเอง ที่สนใจคนจนคนรากหญ้า ก็เพราะเหตุผลทางการเมือง ใช้เป็นฐานไปสู่อำนาจ ถ้าสนใจภูมิปัญญาก็เพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจ เด็ดยอดไปทำโอทอป ทำท่องเที่ยว ไม่ใช่ต่อยอดภูมิปัญญาทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เพราะทั้งหลายนั้นมาจากวิธีคิดที่บิดเบือน (manipulated) และใช้เป็นเครื่องมือเท่านั้น ไม่มีใครสนใจ “ประชาชน” จริงๆ ไม่สนใจรากเหง้า ภูมิปัญญาที่เป็นองค์รวม รากฐานของจารีตประเพณีวิถีชุมชน ซึ่งควรจะเป็นที่มาของการตรากฎหมาย ระเบียบทางสังคมใหม่ “ต่อยอด” คุณค่าของสังคมเดิม จึงมีแต่กฎหมายหลายพันฉบับที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนา กฎหมายที่อำนวยความสะดวกและเพิ่มอำนาจให้ “รัฐ” และ “ทุน” แทนที่จะคืนอำนาจให้ประชาชน ถ้าการเมืองไทย “เข้าใจ” สังคมไทย ก็จะ “เข้าถึง” ประชาชน และจะ “พัฒนา” บ้านเมืองได้ โดยไม่อ้างคำว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” เพียงเพื่อให้ดูดี ซึ่งไม่มีความหมายไปกว่า “ประชาธิปไตยตามใจชอบของฉัน” (arbitrary democracy) ประชาธิปไตยจริงๆ หมายถึงอำนาจเป็นของประชาชน “ปกครองโดยประชาชน” ถ้าคนจน คนรากหญ้าไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง เมืองไทยไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยได้ จะเป็นเหมือนภาคใต้อิตาลี ที่อยู่ในประเทศประชาธิปไตยแต่ใต้อำนาจของมาเฟีย ระบบอุปภัมถ์ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และกิจสังคม ยุคศิวิไลซ์ไทยวัดกันที่จิตสำนึกใหม่ ไม่ใช่ที่ตัวเงิน วัดกันที่ผู้คนมีเมตตาเอื้ออาทรต่อกัน มีจิตอาสาเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่อ้างเพื่อส่วนรวมแต่ทำเพื่อตัวเอง “ไม่ต้องเป็นเสือ ขอให้อุ้มชูตัวเองได้” ใครสอนคงจำกันได้ “คืนสู่สามัญ” (back to basics) “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” คาถา 3 คำของสำนึกใหม่ที่จะทำให้เกิดสิ่งอัศจรรย์ได้ถ้าเชื่อมั่นและลงมือทำ เป็นทางเล็กที่วิ่งได้ดีที่ไม่ใช่ไฮเวย์