แสงไทย เค้าภูไทย แรงกระเพื่อมกรณีศาลตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่แรงไปถึงนานาชาติ ที่แสดงความไม่เห็นด้วยในรูปแบบต่างๆ ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนต่อว่าหัวหน้าอนค.ว่าชักศึกเข้าบ้าน ห่วงว่าไทยจะถูกโดดเดี่ยว ไทยเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศทุกด้าน ตั้งแต่สหประชาชาติ ไปจนด้านเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อมฯลฯ องค์กรเหล่านั้น หลายแห่งได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิผู้บริหารพรรค 16 คนเป็นเวลา 10 ปี นอกจากองค์กรแล้ว ยังมีเฉพาะประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษและแคนาดาเป็นต้น โดยเฉพาะสหรัฐฯนั้น ถึงกับออกหนังสือแถลงการณ์ ขณะที่องค์กรภายในประเทศคือ สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council of Foreign ) ได้แสดงความไม่เห็นด้วย สำหรับองค์กรที่แสดงความไม่เห็นด้วยที่ค่อนข้างรุนแรงคือ สมัชชารัฐสภาอาเซียน ( ASEAN Inter-Parliamentary Assembly : AIPA ) เมื่อครั้งที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง พ้นจากความเป็นส.ส.โดยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อพฤศจิกายนที่แล้ว AIPA ได้ประณามว่า เป็นการใช้กฎหมายกลั่นแกล้ง ไอปาเพิ่งประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่ 40 ที่ประเทศไทยระหว่าง 26-29 ส.ค. 2519 โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯไทย เป็นประธาน ในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียนตามวาระ ในการปิดประชุมสมัชชา นายชวนขึ้นมากล่าวสุนทรพจน์เป็นภาษาอังกฤษ ส่วนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนกล่าวเป็นภาษาไทย ปีหน้าเป็นวาระของเวียดนามเป็นประธานอาเซียนและประธานสมัชชา การที่ไอปาเข้ามาเกี่ยวข้องครั้งไม่น่าจะถือเป็นการก้าวก่ายกิจการภายในและเป็นการชักศึกเข้าบ้านของนายธนาธร เพราะจุดประสงค์ในการจัดตั้งสมัชชารัฐสภาอาเซียนและปฏิญญาของมวลสมาชิกก็เพื่อขับเคลื่อนอาเซียนด้วยกฎหมายเพื่อสร้างประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชน โดยภารกิจหลักคือ 1.สมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) คือเวทีที่ ส.ส. ของแต่ละประเทศมาหารือกันเกี่ยวกับปัญหาเพื่อผลักดันให้กฎหมายของแต่ละประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือสนับสนุนประชาธิปไตย ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ 2.อุปสรรคของ AIPA คือไม่มีอำนาจบังคับให้แต่ละประเทศต้องออกกฎหมายตามข้อมติสมัชชารัฐสภาอาเซียน (resolution) ของ AIPA และปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นประเด็นที่ทุกประเทศ ‘ยอมรับว่าเป็นปัญหา’ ซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น โรฮีนจา ข้อพิพาททะเลจีนใต้ หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคนี้ 3.การรวมตัวของสหภาพยุโรปแตกต่างจากการรวมตัวระดับอาเซียน โดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีคุณค่าที่ยึดโยงเหมือนกันคือหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่อาเซียนยังขาด ‘บรรทัดฐาน’ เหล่านี้ที่ยึดโยงแต่ละประเทศให้แก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน นี่คือเหตุผลว่า ทำไมสมัชชารัฐสภาอาเซียนถึงไม่พอใจคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไทยในครั้งนี้ น่าเป็นห่วงที่องค์กรระหว่างประเทศมองไทยด้วยความรู้สึกเอือมระอา ซึ่งอาจโยงไปถึงการไม่คบค้าสมาคมด้วย ในขณะที่ไทยกำลังดิ้นรนมองหาตัวช่วยเพื่อให้รอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงจนเข้าข่ายถดถอย เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างภาพลบไทยบนเวทีโลก อย่างหลีกเลี่ยงมิได ไทยถูกมองว่าเป็นประเทศล้าหลังแบบแอฟริกา ที่มีแต่การทำรัฐประหาร ใช้อำนาจเผด็จการคอร์รัปชันจนดัชนีคอร์รัปชันโลกของไทยเพิ่มขึ้น จึงกังวลว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศจะหายไป แม้ว่าเราจะล่อใจด้วยให้สิทธิเศษมากมายเช่นสิทธิเช่าที่ดิน 99 ปีเป็นต้นจนไทยได้รับการโหวตให้เป็นประเทศน่าลงทุนที่สุดในโลก ต่างจากเวียดนาม ที่มีแรงดึงดูดใจนักลงทุนคือเสถียรภาพทางการเมือง ค่าแรงถูกและการส่งออกสดใส อัตราขยายตัวสูงที่สุดในเอเชีย คือ กว่า 8% ขณะที่ไทยโตแค่ 1% หรืออาจติดลบ ด้วยเหตุโลกกำลังล้อมไทย เหยียดไทย ไม่คบค้าด้วย