สถาพร ศรีสัจจัง ฟังข่าวผลการเลือกตั้งซ่อมที่เขตเลือกตั้งที่ 2 เมืองกำแพง(เพชร)ที่เพิ่งรู้ผล “อย่างไม่เป็นทางการ” มาหมาดๆว่า ตัวแทนผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐของนายกฯลุงตู่ (ไม่เห็นมีใครพูดกันเลยว่าเป็นของ ดร.อุตตม สาวนายน ที่มีชื่อเป็นหัวหน้าพรรค/หรือของ ดร.สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์/หรือของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์-นายสมศักดิ์ เทพสุทิน-นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แห่ง “กลุ่มสามมิตร” หรือฯลฯ ทั้งๆที่ไม่แน่ใจนักว่าตอนนี้ท่านนายกฯลุงตู่ของเราได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคดังกล่าวแล้วหรือยัง) แล้วก็เห็นภาพอนาคตการเมืองไทยพอควร ว่าตอนนี้ “มวลชน” ชาวไทยโดยทั่วไปพัฒนาเรื่องการเลือกตั้งไปถึงไหนกันแล้ว/และหรือ ภาพความขัดแย้งทางการเมืองห้วงเวลานี้ ฝ่ายไหนเป็นฝ่ายที่มีแต้มต่อ ผู้ได้รับการเลือกให้เป็นผู้แทนฯชื่อ นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ ลูกชายแท้ๆของ พ.ต.ท. ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ อดีต ส.ส.เขตนี้หลายสมัย (เมื่อก่อนผู้พ่อสังกัดพรรคที่เปลี่ยนชื่อมาหลายชื่อเพราะถูกยุบ ปัจจุบันชื่อ “พรรคเพื่อไทย” ของคุณทักษิณ ชินวัตร นี่ก็เหมือนกัน ไม่มีใครบอกว่าเป็นพรรคของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค/หรือของ “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ประธานยุทธศาสตร์พรรคเลย)โดยมีชัยเหนือ นายกัมพล ปันกุล ไปหลายพันคะแนนทีเดียว ต้องบอกกันตรงๆว่า พูดถึงเมืองกำแพงเพชรแล้ว ก็ให้ “รู้สึกระลึกได้” ถึงชื่อบางชื่อขึ้นมาในทันที เพราะเป็นชื่อที่ “ยิ่งใหญ่” จนพอจะพูดได้ว่าน่าจะถือเป็น “บิ๊กเนม” ในฐานะปูชนียบุคคลนักสร้างสรรค์ของเมืองนั้นได้ทีเดียว ชื่อ พตท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ก็เถอะ แม้จะโด่งดัง เพราะเป็น ส.ส. ที่มีประวัติโดดเด่น เป็นแกนนำคนสำคัญที่นำมวลชนไปถล่มการประชุมอาเซียนที่พัทยาพร้อมกับ “พี่กี้ร์” อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง จนท้ายสุดก็ถูกศาลพิพากษาให้จำคุกและต้องหมดสถานะการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลง (คราวนี้สังกัดพรรคพลังประชารัฐ) จนต้องเสียเงินภาษีราษฎรเลือกตั้งกันใหม่และลูกชายก็ได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่แทนพ่อในนามพรรคเดิมอย่างที่เพิ่งกล่าวถึงไปหยกๆนั่นหละ! “บิ๊กเนม” ที่ควรต้องคิดถึงเมื่อพูดถึงเมืองกำแพงเพชรที่ว่าก็คือ ท่านมาลัย ชูพินิจ แห่งบ้านหนองสวนหมากคนนั้นนั่นแหละ! มาลัย ชูพินิจ คือใคร? แม้จะรู้ว่าถึงจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับท่านผู้นี้อย่างละเอียดขนาดไหน แต่ในคืนวันที่ผู้คนในประเทศเล็กๆที่ชื่อ “ไทย”ประเทศนี้ (ลองหาเหตุผลกันดูซิว่าทำไมจึงต้องเปลี่ยนชื่อประเทศจากชื่อเดิมคือ “สยาม”?) แทบจะไม่ได้ลงหลักปักฐานในการสร้าง “วัฒนธรรมการอ่าน” อย่างมีระบบไว้เลย (จนถึงฝรั่งชาวอิตาลีที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงสั่ง “นำเข้า” มาเพื่อการสถาปนา “การศิลปะสมัยใหม่” ขึ้นในสยาม คือนาย Corrado Feroci หรือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ของชาวมหาวิทยาลัยศิลปากร ถึงกับเคยกล่าววาทกรรมถึงลูกศิษย์ตัวเอง (คือตัวแทนของเยาวชนและคนไทยส่วนใหญ่) เป็นที่ลือลั่นมาจนถึงวันนี้ว่า “พวกนายไม่อ่านหนังสือ พวกนายจะรู้อะไร!”) และปัจจุบันก็ตะกระตะกรามสวาปามรับแต่ศิลปวัฒนธรรมที่ถูกส่งผ่านเครื่อง “ดิจิตอล” เท่านั้น จะคุ้นชื่อหรือรู้จักงานศิลปวรรณศิลป์อันยิ่งใหญ่ที่ท่านผู้นี้ได้สร้างสรรค์ไว้ให้เป็นมรดกอันทรงคุณค่าของชาติได้อย่างไร? แต่ตราไว้สักหน่อยก็น่าจะดี เผื่อจะได้ผ่านตาบางใครที่อาจสนใจได้บ้าง ก็น่าจะเป็นบุญของบ้านเมือง! วงการวรรณกรรมหรือวรรณศิลป์ (Literature) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเป็น “อารยะ” ที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของ สังคมมนุษย์หนึ่งๆว่า “ก้าวหน้า” สู่ความเป็นมนุษย์ระดับไหนแล้ว ในรอบศตวรรษของวงวรรณกรรมไทย ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่านาม “มาลัย ชูพินิจ” คือ “หมุดหมาย” (Milestone) ที่สำคัญยิ่งหมุดหนึ่งของวงการวรรณกรรมร่วมสมัย ข้อเขียนในรูปลักษณ์ต่างๆของท่านผู้นี้ ทั้งที่เป็นบทความ (Article) เรื่องสั้น(Shot story) นวนิยาย (novel) สารคดีและปกิณกะคดี(Non-fiction) บทวิทยุและโทรทัศน์ ฯลฯ จำนวนหลายพันชื่อเรื่อง ทั้งในนามจริงและนามปากกา ได้รวบรวมพิมพ์แล้วไม่น้อยกว่า 50 เล่ม นามปากกาของท่านซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในวงการวรรณกรรมร่วมสมัยได้แก่ “เรียมเอง” “น้อย อินทนนท์” “แม่อนงค์” “นายฉันทนา แบ๊ตตลิ่งกร๊อบ” และ ม.ชูพินิจ เป็นต้น นอกจากจะเป็นนักเขียนคนสำคัญมากในวงวรรณกรรมไทยแล้ว “ครูมาลัย” ยังเป็นนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญยิ่งในยุคเดียวกับท่านกุหลาบ สายประดิษฐ์หรือ “ศรีบูรพา” ผู้ยิ่งใหญ่ หนังสือพิมพ์สำคัญๆที่ครูมาลัยเคยทำและเป็นบรรณาธิการ เช่น ประชามิตร สุภาพบุรุษ/บางกอกการเมือง/ไทยใหม่/ประชาชาติ/พิมพ์ไทย/สยามนิกร/สยามสมัย และกระดึงทอง เป็นต้น ด้วยความเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่เปี่ยมเต็มไปด้วนอาชีวปฎิญาณและองค์ความรู้ ครูมาลัย ชูพินิจ จึงเป็นผู้ทรงคุณวุฒิคนแรกๆที่ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่มื้อนี้ที่เราคิดถึง “เมืองกำแพง” จึงคงจะต้องพูดกันถึงวรรณกรรมชิ้นเอกของท่านที่เกี่ยวกับเมืองกำแพงเพชร นั่นคือวรรณกรรมไทยเรื่องยิ่งใหญ่ “ทุ่งมหาราช” ที่เขียนโดยนักเขียนลือนาม “เรียมเอง” !!!!!