เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com นักศึกษาไทยมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ พฤษภาทมิฬ เป็นตัวอย่าง แต่ 20 กว่าปีมานี้มีบทบาทน้อยลงมาก กลายเป็นบทบาทของ “คนรากหญ้า” ที่ถูกนำโดย “การเมือง” และมีเป้าหมาย “การเมือง” อย่างชัดเจน ระยะหลังๆ นี้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ดูเหมือนว่าถูกนำโดย “การเมือง” คล้ายกับ “คนรากหญ้า” กับการเมืองยุคก่อน แตกต่างจากนักศึกษาในเหตุการณ์ตุลาฯ และพฤษภามทิฬ ประวัติศาสตร์ไทยในอดีตจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาชนมีทางเลือกเพียง 2 ทางที่จะสู้กับอำนาจรัฐ หนึ่งคือหนีเข้าป่าเป็นอนาธิปัตย์ เหมือนชาวเขาเผ่าต่างๆ เหมือนคนไทยจำนวนมากอย่างบรรพบุรุษของชาวคีรีวงที่หนีไปอยู่ในหุบเขาหลวง เพราะไม่อยากไปรบที่ไทรบุรี อีกวิธีหนึ่ง คือ กบฏ จึงมีหลายครั้ง นำโดยผีบุญบ้าง หรือคนในฝ่ายปกครองที่แย่งอำนาจกัน ไปเอาชาวบ้านเป็นพวกเป็นกองกำลัง หลัง 14 และ 6 ตุลาฯ นักศึกษาเข้าป่าไปจำนวนมาก ไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ หยิบอาวุธสู้กับอำนาจรัฐ ไม่กี่ปีหลังจากนั้นก็ออกมา เป็นอาจารย์ เป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรีก็หลายคน ประวัติศาสตร์สอนอย่างหนึ่งว่า ความรุนแรงทำให้เกิดความสูญเสียและแก้ปัญหาไม่ได้ สร้างความแตกแยกในสังคม เป็นบาดแผลทางใจ ทำให้เกิดความเกลียดชังกัน ต้องการแก้แค้นเอาคืนเมื่อมีโอกาส ดูเหมือนว่านักศึกษายุคใหม่วันนี้มีการปลุกปั่นด้วยเฮทสปีช คำพูดที่สร้างความเกลียดชังและความแตกแยก ที่จะนำไปสู่ความรุนแรงในท้ายที่สุด เหมือนมีคนเอาน้ำมันไปราดไว้ และใครที่อยู่เบื้องหลังก็พร้อมที่จะจุดให้ไฟลุกขึ้น ถ้าเหมือนไฟไหม้หญ้าข้างถนนก็คงไม่เท่าไร ถ้าแบบไฟป่าออสเตรเลียคงเอาไม่อยู่ เพราะพลังอันร้อนแรงภายในคนหนุ่มคนสาวนั้นมีเหลือล้น ไม่เช่นนั้นหลายพันคนคงไม่หนีเข้าป่าหลัง 6 ตุลาฯ กระนั้นก็มีบทเรียนจากต่างประเทศอย่างอิตาลีที่บอกว่า ความรุนแรงสยบได้ด้วยสันติวิธี ต่อสู้พวกขวา จัดที่นำโดยพรรคการเมืองบางพรรคนั้นเอาความรุนแรงไปสู้ไม่ได้ ต้องสยบด้วยพลังตรงกันข้าม คือ สันติวิธี คนอิตาเลียนวันนี้พบว่า ความยุติธรรมและความรักเป็นสองหน้าของเหรียญเดียว จึงรวมกันลุกขึ้นมาต่อต้านความรุนแรงของพรรคการเมืองขวาจัดที่ดูเหมือนกำลังเติบโตและอาจเข้าไปมีอำนาจรัฐ นั่นคือที่มาของขบวนการ “ปลาซาร์ดีน” (Sardine) ที่จัดแฟลชม็อบเมื่อปีที่แล้วและต้นปีนี้ในเมืองใหญ่ๆ ทั่วอิตาลี รวมผู้คนแต่ละเมืองเป็นหมื่นหรือหลายหมื่นไปจัตุรัส โดยไม่มีการใช้คำพูดรุนแรง เพราะขบวนการนี้ไม่มีพรรคการเมืองใดนำหรือหนุน ต่อต้านเฮทสปีช และรณรงค์ให้ออกกฎหมายลงโทษเฮทสปีช และแก้ไขกฎหมายที่ทำให้เกลียดชังคนต่างชาติ ผู้อพยพ และทำสำเร็จแบบสันติวิธี เพราะรัฐบาลก็รับฟัง คงมีคนแย้งว่า ที่ฝรั่งเศสบรรดาเสื้อกั๊กเหลืองประท้วงตามถนนใช้ความรุนแรงและยังไม่เลิก ที่ฮ่องกงนักเรียนนักศึกษาก็ออกถนน เกิดความรุนแรง ถามว่าแล้วความแตกแยก ความสูญเสีย และบาดแผลทางสังคมที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีและยั่งยืนได้หรือไม่อย่างไร มหาตมะ คานธี บิดาของอหิงสาให้บทเรียนแก่โลกมากมายว่า การเปลี่ยนแปลงด้วยความรุนแรงแบบตาต่อตาฟันต่อฟันนั้น ที่สุดก็ฟันหักตาก็บอด พิการกันไปทั้งสองฝ่าย สองแนวทางที่นักศึกษาน่าจะพิจารณาวันนี้ คือ หนึ่งไม่ต้องมีพรรคการเมืองนำ ไม่มี “ผีบุญ” แบบนักปลุกระดมที่หวังผลทางการเมือง (demagogue) แต่แสดงถึงความจริงใจที่ต้องการความยุติธรรม ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการ การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม หลายมาตรฐาน การคอร์รัปชั่น สอง หาทางเลือกอื่น หนึ่งในนั้น คือ “อารยะขัดขืน” (civil disobedience คำว่า civil มาจากภาษาละติน civis แปลว่าพลเมืองที่เจริญมีอารยธรรม civilization) ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อดีตศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสันติวิธี ให้ความหมายของอารยะขัดขืนว่า เป็นการละเมิดกฎหมาย หรือตั้งใจจะละเมิดกฎหมาย แต่ใช้สันติวิธี (ไม่ใช้ความรุนแรง) กระทำไปเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาล มุ่งเชื่อมโยงกับสำนึกแห่งความยุติธรรมของผู้คนส่วนใหญ่ในบ้านเมือง หนึ่งในอารยะขัดขืนของมหาตมะคานธีที่ทุกคนจำได้ดี คือการเดินทางไกลเพื่อผลิตเกลือตามชายทะเลที่อังกฤษห้าม แม้ว่าอังกฤษใช้ความรุนแรงทุบตีก็ไม่เลิก เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้โลกตะลึงกับพลังของมวลชนอินเดีย ทำให้รัฐบาลอังกฤษมาเจรจากับผู้นำ ส่งผลให้เกิดอารยะขัดขืนในเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกหลายอย่างทั้งในอินเดียและทั่วโลก มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เดินทางไกลประท้วงเรื่องการเหยียดผิวก็ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องนี้ คนไทยเหนื่อยหน่ายและเข็ดกับการเดินขบวน นอนกลางดินกินกลางถนนเป็นเดือนเป็นปี ไม่แต่เฉพาะคนที่ไปร่วม แต่ประชาชนคนทั่วไปก็ไม่อยากเห็นภาพนั้นอีก เพราะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมโดยรวม และดูเหมือนไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาพัฒนาประชาธิปไตยอย่างที่ใฝ่ฝันกัน หลายคนบอกว่าเหมือนถูกหลอก หลายคนติดคุก หรือต้องขึ้นโรงขึ้นศาลไม่รู้แล้วรู้จบ อารยะขัดขืนแบบสันติวิธีจะดีกว่า พลังเงียบจำนวนมากจะให้การสนับสนุน คนไทยไม่เพียงคนหนุ่มสาว แต่ทุกวัยเป็นหมื่นเป็นแสนพร้อมที่จะออกไปร่วมด้วย ไม่ว่าจะนำโดยนักศึกษาหรือขบวนการใด ไม่ใช่เพราะการปลุกปั่น แต่เพราะต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการประชาธิปไตย ต้องการความยุติธรรม โดยไม่เป็นเครื่องมือขึ้นสู่อำนาจหรือสืบทอดอำนาจของใครหรือพรรคใด เป็นพลังบริสุทธิ์ที่รัฐบาลต้องฟัง ถ้าไม่เปลี่ยน ไม่ปรับ รัฐบาลมีอำนาจขนาดไหนก็ไปไม่รอด