สถาพร ศรีสัจจัง "ทุ่งมหาราช" นับเป็นวรรณกรรมประเภทนวนิยายเรื่องเอกเรื่องหนึ่งของนักเขียนนามฮุโฆษ “เรียมเอง” ซึ่งเป็นนามปากกา(penname)หนึ่งของ “ครูมาลัย ชูพินิจ” (วงวรรณกรรมไทยมักเรียกขานนามท่านโดยมีคำ “ครู” นำหน้าเช่นนั้นเสมอมา) ที่กล่าวว่าเห็น “นามปากกาหนึ่ง” ก็เพราะนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งคัคนานต์วงการวรรณกรรมไทยท่านนี้ มีนามปากกาในการเขียนหนังสือหลายนามด้วยกัน เปลี่ยนไปตามลักษณะงานเขียนแต่ละประเภท ตัวอย่างเช่น ถ้าเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับป่าหรือการเข้าป่าล่าสัตว์ ท่านมักจะใช้นามปากกา “น้อย อินทนนท์”(อันลือลั่น) เป็นต้น และที่บอกว่าเป็น “นวนิยายเรื่องเอกเรื่องหนึ่ง” ก็เพราะวรรณกรรมประเภทนวนิยายของท่านได้รับยกย่องให้เป็น “นวนิยายเรื่องเอก” ของวงวรรณกรรมไทยร่วมสมัยหลายเรื่องด้วยกัน ทั้งในนามปากกา “เรียมเอง” “แม่อนงค์” และ “น้อย อินทนนท์” นวนิยายเรื่องเอกๆดังๆที่ถ้าเอ่ยชื่อขึ้นแล้ว “คอหนังสือวรรณกรรมไทยร่วมสมัย” จะต้องรู้จัก(แม้อาจจะไม่เคยอ่าน แต่อย่างน้อยก็ควรจะเคยได้ยินจากที่มีผู้พูดถึง)ก็เช่น “ชั่วฟ้าดินสลาย” และ “ทุ่งมหาราช”(พื้นที่/ฉากอยู่ของท้องเรื่องอยู่ที่กำแพงเพชรทั้งเรื่อง)/ “แผ่นดินของเรา”(ใช้ฉากแถบทุ่งวัวแล่น อ่าวพนังตัก เมืองชุมพร เพราะครูมาลัยหรือ “เรียมเอง” เคยมาทำไร่อยู่ที่นั่นประมาณปีกว่าๆ) นวนิยายเรื่อง “แผ่นดินของเรา” นี้เองที่ทำให้ผู้อ่านจำนวนไม่น้อยรู้จักและหาต้น “จันทร์กะพ้อ”มาปลูกกันอย่างกว้างขวาง เพราะครูมาลัยฯเขียนถึงดอกจันทร์กะพ้อตอนเปิดเรื่องได้อย่างน่าประทับใจเป็นที่สุด! และเรื่อง “เมืองนิมิตร” ซึ่งเป็นนวนิยายเชิงการเมืองที่มีเนื้อหาแบบที่เรียกกันว่า “Utopianism” เป็นต้น ในนามปากกา “น้อย อินทนนท์” ที่ใช้สำหรับเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเที่ยวป่า มีเรื่องที่ดังๆ(ที่เป็นทั้งหนังสือและละครวิทยุ/โทรทัศน์) ได้แก่ “ล่องไพร”/ “ทุ่งโล่งและดงทึบ” และ “ลูกไพร” เป็นต้น ส่วนงานเขียนประเภทเรื่องสั้นในนามปากกา “เรียมเอง” นั้น ฟังว่าท่านเขียนไว้มากถึงประมาณ 2 พันเรื่อง ที่ยังคงตามหาอ่านได้ในปัจจุบันก็มีไม่น้อยกว่า 500 เรื่อง เรื่องที่โดดเด่นมากๆได้แก่ “ตาลยอดด้วน” และ “น้ำเหนือ” เป็นต้น แต่วันนี้ เราจะพูดถึงนวนิยายที่เอตะทัคคะด้านวรรณกรรมไทยร่วมสมัยคนไหนก็บอกตรงกันว่า “สุดยอด” นั่นคือนวนิยายเรื่อง “ทุ่งมหาราช” นวนิยายที่มีกลิ่นอายของความเป็นชาวบ้านภาคกลางตอนบนแถบลุ่มแควน้ำปิงแท้ๆ ในห้วงเวลาย้อนยุคไปจนถึงสมัยที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประพาสต้นไปถึงที่นั่น..คือเมืองกำแพงเพชร! ผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้คือ “เรียมเอง” หรือครูมาลัย ชูพินิจ เป็นคนบ้านนั้นเมืองนั้น เรียนจนจบชั้นประถม 4 ที่นั่นแล้วดอก พ่อจึงส่งเข้ามาเรียนต่อจนจบ ม.6 ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรที่กรุงเทพฯ นักวิเคราะห์วรรณกรรมไทยคนไหนๆจึงมักบอกว่า “ทุ่งมหาราช”นี้ เป็นประสบการณ์ตรงล้วนๆของท่านชีวิตของท่านผู้เขียนเอง ตัวละครสำคัญๆในเรื่องล้วนถอดแบบมาจากคนใกล้ชิดของผู้เขียนแทบทั้งสิ้น ตัวเอกชายในท้องเรื่องฟังว่าก็คือภาพร่างของบิดาท่านผู้เขียนเอง บุคลิกและนิสัยใจคอของ “รื่น” หรือ “ขุนนิคมบริบาล” ในเรื่องจึงแจ่มชัดเสียเป็นนักหนา ฉากหลักของท้องเรื่องก็คือบ้านเกิดของผู้เขียนเอง นั่นคือบ้าน “คลองสวนหมาก” เดิม หรือ “เมืองนครชุม” แห่งจังหวัดกำแพงเพชรในปัจจุบันนั่นแหละ! คุณค่าของนวนิยายเรื่อง “ทุ่งมหาราช” นี้ ว่ากันว่ายิ่งใหญ่เสียนัก คือนอกจากจะเป็นนวนิยายสกุล “สัจจะนิยม” (Realism)ที่สร้างความ “ดาลตาดาลใจและดาลความรู้สึก” ชนิดเมื่อได้เริ่มอ่านก็จะ “วางไม่ลง” เพราะความสนุกเข้มข้นของ “ชั้นเชิง” ในการเล่าเรื่อง ความแม่นแบบเรียบง่ายและลื่นไหลของสำนวนภาษา ความเฉียบคมของถ้อยสำนวนที่กินใจ และบุคลิกลักษณะของตัวละครตัวที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นอย่างแจ่มชัด(crearity) จนทำให้ผู้รับสารหรือคนอ่านได้ “เพลิดเพลิน ตื่นตา และอิ่มใจ” ในฐานะเป็น “เรื่องแต่ง” ที่ทำหน้าที่ให้ความบันเทิง(Entertaiท)อย่างเต็มรูปแล้ว สิ่งที่ผู้อ่านจะได้รับจาก “บันเทิงคดี” เรื่องนี้ในด้าน “เนื้อหาอื่นๆ” ที่แทรกปนอยู่อย่างเปี่ยมเต็มนั้นก็นับว่าทรงคุณค่ายิ่ง! ประเด็น “คุณค่าเฉพาะทางสังคม” ที่ว่ากันว่า “วิเศษนัก” ในนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” ของ “เรียมเอง” เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ คงต้องว่ากันเฉพาะอีกทีกระมัง!!!!