อะไรสำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต ? นักอุดมคติคงตอบว่า “ความหมายของชีวิต” การดำรงชีวิตอยู่จะไม่มีค่า ถ้าเราไม่เข้าใจความหมายของชีวิต และใช้ชีวิตเพื่อบรรลุสิ่งนั้น แต่คนทั่ว ๆ ไปคงตอบว่า “ปากท้อง” หรือ “ปัจจัยสี่ของชีวิต” ซึ่งปัจจุบันอาจต้องเพิ่มโทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยที่ห้าด้วย สำหรับคนระดับที่มีความคิด เข้าใจขบคิดเรื่อง “ความหมายของชีวิต” นั้น ไม่น่าห่วง เพราะคงจะเอาตัวรอดได้ในสังคมอนาคต และไม่ต้องหวังพึ่งพา “รัฐ” เสียทุกอย่าง เรื่องที่ควรห่วงคือ ผู้คนที่ไม่มีเวลาจะคิด คือคนส่วนที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ ดิ้นรนหาปัจจัยสี่ ซึ่งภาษาไทยเรามีคำสำนวนให้เห็นภาพว่า “หาเช้ากินค่ำ” อาจจะมีผู้แย้งว่า เมืองไทยไม่มีแล้ว คนหาเช้ากินค่ำ แต่ถ้าไม่ปิดหูปิดตาเสียหมด ก็คงต้องยอมรับว่า ยังมีคนไทยที่ยากจน ด้อยโอกาส ด้อยการศึกษา มีชนชั้นล่างทางเศรษฐกิจมากกว่าชนชั้นกลาง ผู้มีการศึกษาย่อมรู้ว่า แนวโน้มอนาคตโลกจะเป็นโลกของชนชั้นกลาง แต่นั่นเป็นโลกของประเทศทุนนิยมศูนย์กลางที่พัฒนาไปมากแล้ว คือเป็นสังคมยุค 4.0 แล้ว แต่สำหรับประเทศไทยยังห่างอยู่มาก และแม้ว่าแผนโครงการของรัฐบาลจะตั้งใจสร้างสังคมไทย 4.0 ให้ได้ แต่ผลความเป็นจริงจะเป็นอย่างไร ? ยังน่าเป็นห่วง เช่น แม้จะเกิดอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการบินใหญ่โตในจังหวัดระยอง แต่ลูกชาวไร่ระยองกี่คนจะมีโอกาสได้เข้าทำงานตำแหน่งดี ๆ ในอุตสาหกรรมเหล่านั้น รัฎฐาธิปัตย์โดยส่วนใหญ่ในอดีตนั้น มักจะจัดอันดับความสำคัญของงานกลับท้ายเป็นหัว คือมักให้ความสำคัญคิดโครงการอุตสาหกรรมใหญ่ ที่ช่วยเพิ่มตัวเลข จีดีพี สูง ๆ แต่มองข้ามละเลยปัญหาปากคอกอย่าง “การแก้ไขปัญหาการทำมาหากินของคนไทย” หน้าที่สำคัญที่สุดของรัฎฐาธิปัตย์นั้น คือ หนึ่งรักษาความสงบในสังคม สองแก้ไขปัญหาการทำมาหากินของพลเมือง พลเมืองมีหลายระดับฐานะเศรษฐกิจ แต่พลเมืองส่วนข้างมากคือคนที่ฐานะเศรษฐกิจต่ำ หรือชนชั้นล่างและชนชั้นกลางระดับล่าง การสร้างความผาสุกของพลเมืองส่วนนี้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้พลเมืองส่วนนี้ งานสำคัญก็คือ ดูแลให้เขามีโอกาสทำมาหากินสร้างรายได้จากอาชีพสุจริต จนมีกำลังพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวและสนับสนุนให้ลูก ๆ มีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างพอเพียง ชนชั้นล่างและชนชั้นกลางชั้นล่าง ก็มีหลายกลุ่มหลายอาชีพในหลายพื้นที่ แน่นอนว่าการแก้ปัญหารูปธรรม หรือมาตรการรูปธรรมสำหรับแต่ละกลุ่มย่อมต่างกัน วิธีการรูปธรรมก็แตกต่างกันได้ แต่หลักคิด วิสัยทัศน์ จุดยืน ในการจัดการเหมือนกัน คือต้องยืนหยัดอยู่กับผลประโยชน์ของมวลมหาชน รัฏฐาธิปัตย์ที่ดี ควรลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคมใดมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง ก็แสดงว่ารัฏฐาธิปัตย์ยังไม่ดีพอ แม้โดยภาพองค์รวมประเทศนั้น ๆ อาจดูเป็นประเทศที่เจริญมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจก็ตาม ตั้งแต่สังคมไทยก้าวเดินขึ้นเส้นทางพัฒนาทุนนิยมเมื่อประมาณหกสิบปีที่แล้ว กระบวนการล่มสลายของเกษตรกรรายย่อยเกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ การทำมาหากินของเกษตรกรรายย่อยเผชิญกับปัญหาหนักหน่วงตลอดมา ปัญหาการทำมาหากินของคนเล็กคนน้อยกลุ่มอื่น ๆ ปัญหาความยากลำบากของ “คนจนเมือง” ฯลฯ สะท้อนถึงปัญหาวิสัยทัศน์ของรัฏฐาธิปัตย์ไทย ว่ายังทำหน้าที่ยังทำหน้าที่แก้ปัญหาการทำมาหากินของพลเมืองได้ไม่ดี เราอย่าหลงทางในการปฏิรูปแต่ในทาง “อุดมคติ” เราควรทุ่มเทให้กับงานรูปธรรมแก้ปัญหาการทำมาหากินของคนเล็กคนน้อยในสังคมก่อน