เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com การสร้างตราบาป (stigma) ให้แก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไป เพราะคนเหล่านี้อาจจะไม่เปิดเผยตัวเองตั้งแต่แรก จะไม่แจ้งว่ามาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หลบเลี่ยงการตรวจ หรืออยู่ที่เมืองไทยก็ไม่แจ้งเมื่อมีอาการ ยิ่งกว่านั้น อาจมีคนที่อยาก “แก้แค้น” โดยแพร่เชื้อโรคนี้ไปสู่ผู้อื่นโดยเจตนา การที่เมืองจีน เมืองไทยและหลายประเทศมีมาตรการให้คนสวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปในสถานที่สาธารณะมีผู้คนมากมายน่าจะเป็นเรื่องดี แม้องค์การอนามัยโลกและบางประเทศเห็นว่าอาจไม่ได้ช่วยอะไร น่าจะให้ผู้ป่วยเท่านั้นสวมใส่ ถ้างั้น คนที่สวมหน้ากากไปไหนผู้คนจะไม่รังเกียจ หนีห่างหรือ ขนาดไม่สวมหน้ากากอนามัย หน้าตาเป็นคนเอเชีย ฝรั่งในยุโรปบางประเทศก็ยังเหมาเอาว่าเป็นคนจีน ต้องมีไวรัสตัวร้าย ไล่ลงรถเมล์ รถไฟ รุมทำร้ายก็มีเป็นข่าว ที่ไม่เป็นข่าวก็คงเป็นการมองด้วยสายตารังเกียจและหลบเลี่ยงไม่อยากเข้าใกล้หรือสนทนาด้วย เหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ของการสร้างตราบาปให้กับคนอื่น ซึ่งอยู่ใน “สันดานดิบ” เพื่อการเอาตัวรอดแบบหนึ่งของมนุษย์อยู่แล้ว จะมากน้อยหรือกำกับได้แค่ไหนเท่านั้น ประสบการณ์ของโรคเอดส์เป็นตัวอย่างที่โหดร้ายและไร้เหตุผล (absurd) ที่สุดของเรื่องตราบาป เมื่อ 20-30 ปีก่อนในยุคแรกๆ ของการระบาดนั้น ความรู้ความเข้าใจยังน้อย รัฐบาลเองก็พยายามปกปิดกลัวกระทบการท่องเที่ยวและการลงทุน การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเป็นไปอย่างล่าช้า “กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้” ตราบาปจึงเกิดและตกแก่ผู้ติดเชื้อแบบเหมารวม ถูกรังเกียจอย่างหนัก ไม่เพียงแต่จากคนทั่วไป แม้แต่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง กระทั่งพ่อแม่หลายคนก็ยังรังเกียจลูกหลาน พาไปทิ้งไว้ที่ศูนย์ผู้ติดเชื้อที่โรงพยาบาล หรือสร้างกระท่อมน้อยปลายนาปลายสวนให้อยู่คนเดียว ตอนนั้น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีไปกินข้าวที่ไหนก็ไม่ได้รับการต้อนรับ เพราะถ้าคนอื่นรู้ก็จะไม่เข้าร้าน ใครมีบ้านเรือนอยู่ใกล้วัด เวลามีการเผาศพคนที่เป็นเอดส์ก็กลัวว่าขี้เถ้าจะมาตกหลังคา จะพลอยติดเชื้อไปด้วย ยุงกัดก็กลัวว่าไปกัดผู้ติดเชื้อก่อนก็จะนำเชื้อมาติด กลัวไปหมดทุกอย่าง มีคำถามมากมายที่กว่าจะได้คำตอบเอดส์ก็ระบาดไปมากแล้ว ความรู้อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจ แต่ตราบาปไม่ได้ทำให้ความรู้สึกกลัวและรังเกียจหมดไป ผู้ใหญ่บางคนยังเสนอว่า ควรเอาผู้ติดเชื้อ คนเป็นเอดส์ไปปล่อยเกาะ แล้วใครจะอยากเปิดเผยตัวเอง เอดส์ถึงได้ระบาดเป็นระเบิดสังคม องค์กรทั้งรัฐและเอกชนต้องทำงานหนักกว่าจะสร้างความรู้ความเข้าใจให้คนทั่วไป หวังว่าจะลดความรังเกียจและลบเลือนตราบาปลงไปได้บ้าง โดยเน้นว่า เอชไอวีแพร่ได้ไม่กี่ทาง มีอะไรบ้างอย่างชัดเจน รณรงค์การป้องกันทุกวิถีทางแม้แต่ไปแจกถุงยางอนามัยตามปั๊มน้ำมัน ในช่วงที่ทำงานกับผู้ติดเชื้อ คนเป็นเอดส์ ผมได้ให้พวกเขาเขียนเรื่องราวของตนเอง ช่วยขัดเกลาและส่งไปลงมติชนสุดสัปดาห์ และได้เขียนบทความตามหลังไปอีกจำนวนหนึ่ง รวมเล่มเผยแพร่ชื่อ “บันทึกเพื่อนชีวิตใหม่” กระทรวงศึกษาธิการและคุรุสภาก็ขอนำไปพิมพ์เผยแพร่ให้โรงเรียนทั่วประเทศ เรื่องราวของ “หลายชีวิตผู้ติดเชื้อ” สะท้อนให้เห็น“โฉมหน้ามนุษย์ของเอดส์” (human face of Aids) คงมีส่วนในการปรับทัศนคติของคนในสังคมไทย และลดตราบาปลงได้ระดับหนึ่ง ทำให้ผู้ติดเชื้อจำนวนมากยังอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นได้ ยังทำงานได้เหมือนคนทั่วไป ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากที่สุดใน 10 ปีแรก ได้สรุปบทเรียนและมีมาตรการที่ดีมากมาย จนทำให้ประเทศต่างๆ มาศึกษาดูงานด้านโรคเอดส์ในประเทศไทย และวันนี้ไทยคงได้อานิสงส์จากประสบการณ์นั้นมาควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ และทำได้ดีจนทั่วโลกประหลาดใจ กระนั้น ไทยเราก็น่าจะนำเอาบทเรียนเรื่อง “ตราบาป” จาก “เอดส์” มาใช้ในสถานการณ์ “โควิด-19” ได้มากกว่าที่ทำกันอยู่ แม้ลักษณะโรคและการระบาดจะแตกต่างกัน แต่คล้ายกันที่ความรู้สึกกลัวไปจนเป็นการตื่นตระหนก ที่นำไปสู่การรังเกียจและสร้างตราบาปให้ผู้ป่วยด้วยโควิด-19 ทำอย่างไรให้ “หัวใจความเป็นมนุษย์” เกิดขึ้นในสถานการณ์นี้ ให้มีความเห็นอกเห็นใจ ความเอื้ออาทรที่จะช่วยให้เกิดความร่วมมือ ความช่วยเหลือมากกว่าการรังเกียจและความแตกแยก ธรรมชาติมนุษย์มีปมเขื่อง มักรังเกียจ ดูถูกและซ้ำเติมผู้ที่ด้อยกว่า โชคร้ายกว่า อ่อนแอกว่า ฉลาดน้อยกว่า ยากจนกว่า รวมถึงคนที่แตกต่างไปจากตน เพียงเพราะคิดต่าง ความเชื่อต่าง ผิวสีต่าง เชื้อชาติต่าง และยิ่งมีการยุยง ปลุกปั่นด้วยเฮท สปีช ภาษาที่รุนแรงก็ทำให้เกิดการเกลียดชังและแบ่งแยก ต่างคนต่างก็ “ตีตรา” ให้กันทางการเมือง มีสีเหลือง สีแดง สลิ่ม สีส้ม พร้อมกับ “ป้ายสีดำแห่งความเลวร้าย” ให้กันและกัน โรคทางกาย ยังพอรักษาได้ แต่โรคทางใจทางจิตวิญญาณ ที่มาจากการป้ายสี บูลลี่และให้ตราบาปรักษายาก เป็นสังคมตีตราที่ไม่น่าอยู่เลย