เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ก่อนการระบาดของโควิด19 มีแรงงานไทยในเกาหลี 160,000 คน เป็น “ผีน้อย” 140,000 คน จึงน่าจะมีแรงงานถูกกฎหมายอยู่ประมาณ 20,000 คน ไม่ว่าตัวเลขจริงจะเท่าไร น่าทำความเข้าใจกับประเทศเกาหลีที่มีอะไรให้ไทยได้เรียนรู้ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม เมื่อ 30-40 ปีก่อนเกาหลีไม่ได้แตกต่างไปจากไทยมากนัก การเมืองก็เผด็จการทหาร หลังจากสงครามเกาหลี (1950-1953) ที่ไทยก็ส่งทหารไปรบด้วย แรกๆ ก็ดูเป็นประชาธิปไตยคล้ายไทยหลัง 2475 และจาก 1960 ถึง 1988 เกาหลีกับไทยมีอะไรคล้ายกันมากทางด้านการเมือง คือ อยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร ในตอนท้ายทหารพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย จากประธานาธิบดีปัก จุงฮี ที่ถูกสังหารในปี 1979 ถึงนายพลชุน ดูฮวาน ที่ทำรัฐประหารเมื่อปี 1980 ขบวนการประชาชนนำโดยนักศึกษาเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ สหพันธ์นักศึกษ 2,700 คนจาก 55 มหาวิทยาลัยถูกจับ รวมนักการเมือง 27 คน ในเดือนพฤษาคม 1980 ชาวเมืองกวางจูและขบวนการประชาชนลุกฮือ รัฐบาลทหารส่งกำลังเข้าปราบปราม มีคนตายกว่า 600 บาดเจ็บอีกนับพัน ชุน ดูฮวาน แก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกกฏหมายสืบทอดอำนาจ โดยได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีทางอ้อม แต่สุดท้าย ด้วยขบวนการประชาธิปไตยที่มีทั้งนักศึกษาและประชาชนกว่า 1 ล้านคนที่เดินขบวนในปี 1987 และการต่อสู้ยาวนาน จึงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ในที่สุด โดยไม่กลับไปสู่เส้นทางเดิมอีก ในปี 1996 ชุน ดูฮวานถูกตัดสินประหารชีวิตเพราะเหตุการณ์กวางจู ได้รับนิรโทษกรรมโดยการเสนอของคิม แดจุง ผู้เคยถูกตัดสินประหารชีวิตในยุคชุน ดูฮวาน ยังมีนายโร แตวู ประธานาธิบดีต่อจากชุน ดูฮวาน ที่ถูกตัดสินจำคุก 22 ปี จากการร่วมทำรัฐประหารปี 1979 และเหตุการณ์นองเลือดที่กวางจู ก็ได้รับนิรโทษกรรมเช่นเดียวกัน แต่ก็ต้องชดใช้เงินมหาศาลที่เขายอมรับว่าได้คอร์รัปชันไป ยังนายโร มูยุน อดีตประธานาธิบดีอีกคน (2003-2008) ก็ฆ่าตัวตาย หลังจากพ้นจากตำแหน่งและถูกข้อหาคอร์รัปชัน บนเส้นทางพัฒนาประชาธิปไตยและทุนนิยม เกาหลีมีจีดีพีสูงมาก พัฒนาเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ในปี 2016 เป็นหนึ่งใน 10 อันดับแรกของประเทศส่งออกมากที่สุด อยู่อันดับต้นๆ ของประเทศ OECD ความจริง ในยุครัฐบาลเผด็จการทหารเอง เกาหลีก็มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว แต่ก็ทำให้คนรวยกับคนจนมีช่องว่างถ่างออกไป เพราะรัฐบาลเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ แต่ก็เป็นรากฐานให้การพัฒนาหลังปี 1989 ในยุคประชาธิปไตยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ปัจจัยหลักของการพัฒนาเกาหลีน่าจะมีอยู่ 3 ประการ 1.การกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ ทำให้เกิดการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจสังคม บนฐาน การเมืองที่ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วม แก้ปัญหาและพัฒนาตนเอง ตอบสนองการท้าทายต่างๆ ได้ดี มีความโปร่งใส มีระบบการตรวจสอบทุกระดับ ในยุคทหารครองเมืองก่อนนั้นมีการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางโดยไปแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังสงครามโลกที่ให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่น (local autonomy) ปัญหาทุกอย่างต้องไปแก้ที่ส่วนกลาง จึงมีการเดินขบวนการประท้วงรายวัน มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และออกกฎหมายโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2003 ทำให้การกระจายอำนาจเป็นไปอย่างรวดเร็ว แทบจะไม่เห็นการเดินขบวนประท้วงที่กรุงโซลเหมือนแต่ก่อนอีก ซึ่งก่อนนั้น นักศึกษา ประชาชน “ตี” กับตำรวจเป็นรายวัน 2.การศึกษา การวิจัยและพัฒนา (R&D) คนเกาหลีให้ความสำคัญกับการศึกษามาก จนมีคนบอกว่า เป็นชาติ “คลั่งเรียน” คนเกาหลีร้อยละ 100 เรียนถึงระดับมัธยม และเรียนระดับมหาวิทยาลัยในอัตราส่วนที่สูงมาก คะแนนการวัดผลในระดับประถมมัธยมก็เป็นอันดับต้นๆ ของโลก เกาหลีใช้งบประมาณส่งเสริมการศึกษาต่อประชากรสูงกว่าประเทศพัฒนาส่วนใหญ่ มีการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาสู่ท้องถิ่น ส่วนหนึ่งเป็นค่านิยมของคนเกาหลี การมีปริญญาเป็นเกียรติให้วงศ์ตระกูล และเป็นเครื่องมือไปสู่อาชีพที่มั่นคง จึงมีการแข่งขันกันสูงมากเพื่อจะได้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ จะได้มีงานทำในบริษัทมีชื่อเสียง ทำให้คนเรียนอาชีวะ หรือไม่มีปริญญาถูกดูถูก กลายเป็นตราลบทางสังคม (stigma) แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นผลเสีย คนเรียนจบมหาวิทยาลัยเมื่อปี 2013 ตกงาน ถึง 3.3 ล้านคน คนมีปริญญาไม่ต้องการทำงาน 3d งานยาก (difficult) งานสกปรก (dirty) งานอันตราย (dangerous) ถึงต้องนำแรงงานต่างชาติเข้ามา แม้จะมีกฎหมายจำกัดมากมาย แต่ก็เต็มไปด้วย “ผีน้อย” จากฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และอื่นๆ ข้อดีของการศึกษาของเกาหลี คือ มีแรงงานที่มีความรู้ มีคุณภาพ ในระบบเศรษฐกิจที่ต้องใช้ความรู้ (knowledge-based economy) ที่สำคัญ เกาหลีมี “การวิจัยและพัฒนา” (R&D) สูงมาก สูงกว่าญี่ปุ่นและอเมริกา แค่ซัมซุงบริษัทเดียวมีงบประมาณวิจัยพัฒนาปีละ 800,000 ล้านบาท ยังไม่นับฮุนได แอลจี และอุตสาหกรรมอื่นๆ การวิจัยและพัฒนา คือที่มาของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ทำให้แข่งขันกับทั่วโลกได้ 3. ขบวนการประชาธิปไตย ที่มีนักศึกษาร่วมกับนักการเมืองอย่างคิม แดจุง ผู้มีความกล้าหาญทางจริยธรรมและการเมือง เคยถูกตัดสินประหารชีวิต ถูกลอบฆ่าและติดคุกหลายปีเพราะเหตุผลทางการเมือง ประสานความร่วมมือระหว่างขบวนการประชาสังคมกับนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารจนสำเร็จ คิม แด จุง ได้รับการเลือกตั้งทางตรงให้เป็นประธานาธิบดีระหว่างปี 1998-2003 มีนโยบายปฏิรูปสังคม รัฐสวัสดิการ กระจายอำนาจ ส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาคน และการรวมเกาหลีด้วยนโยบาย “Sunshine” ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2000 ได้รับการยกย่องเช่นเดียวกับโฮ จีมินท์ และเนลสัน แมนเดลา ผู้ต่อสู้เพื่อกอบกู้บ้านเมือง คือบทเรียนสำหรับสังคมไทย เพื่อไม่ให้กลับไปหาอดีต เพราะ “ผู้ไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ จะทำซ้ำอีกแน่นอน” (George Santayana 1863-1952)