เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจทุกครั้ง ก็มีการวิจารณ์ถึงจุดจบของทุนนิยม ไม่ว่าเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงเมื่อปี 1929-1933 (the great depression) หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (the great recession 2008-2009) แต่ทุนนิยมก็ยังอยู่ มีการปรับตัว ไม่ได้ “สามานย์” ไปเสียทั้งหมด พยายามแสดง “ความรับผิดชอบทางสังคม” (CSR) แต่โครงสร้างและระบบที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความยากจนก็ไม่เปลี่ยน สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ก็มีบางส่วนที่ปรับตัวให้อยู่รอดได้ ใช้ “ทุนนิยม” เป็นเครื่องมือ อย่างจีนที่สร้างระบบลูกผสมที่แปลกแต่จริงอย่าง “เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม” (Socialist Market Economy) วันที่โรคระบาดโควิด-19 มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของโลก ซึ่งเชื่อมต่อกันหมด การประกอบการมากมายล้มละลาย เห็นได้ชัดว่า มีเพียงไม่กี่อย่างที่อยู่ได้ คือ ธุรกิจอาหารและเวชภัณฑ์ คนต้องกินต้องการยารักษาโรค อย่างอื่นเอาไว้ก่อน ที่รอไม่ได้จึงต้องล้มหายตายจากไป แม้จะมีการคาดการณ์ไว้หลายแบบว่า ถ้าระบาดต่อไปอีกหนึ่งเดือนจะมีผลกระทบเท่าไร ถ้าต่อไปสามเดือนจะทำให้จีดีพีลดลงไปเท่าใด ส่วนใหญ่เชื่อว่า ทุกอย่างจะกลับมา แม้ไม่เหมือนเดิมทั้งหมด แปลว่าคนส่วนใหญ่ยังคิดว่าเป็นเพียงโรคระบาดหนึ่งที่รุนแรงมากเท่านั้น และที่เกิดโรคระบาดนี้เพราะมีโคโรนาไวรัสพันธุ์ใหม่ระบาดจากสัตว์มาสู่คน ถ้ามียาก็รักษาได้ มีวัคซีนก็ป้องกันได้ “ไม่เป็นไร” แต่โลกนี้ได้เปลี่ยนไปมากและเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ เพราะคนยังคิดแบบเดิมที่ว่านี้ และโรคภัยไข้เจ็บก็จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โลกร้อนเป็นหนึ่งในปัญหาที่คนเริ่มตื่นตัวเพราะมีการณรงค์กันต่อเนื่อง แต่เรื่องโรคระบาดที่มาจากพฤติกรรมของคนกลับคิดเพียงการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีน ไม่ได้เชื่อที่ไอน์สไตน์บอกว่า “เราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดเดียวกันกับที่เราใช้สร้างมัน” “โลกที่เราสร้างคือผลของวิธีคิดของเรา จะเปลี่ยนไม่ได้โดยไม่เปลี่ยนวิธีคิดของเรา” และ “ต้องเปลี่ยนวิธีคิดแบบถึงรากถึงโคน” (radically) ไอคิวสูงอย่างไอน์สไตน์คงไม่ใช่คนประเภทโลกสวย เพราะเขาได้คิดสมการที่เปลี่ยนโลกมาแล้ว คนที่คิดสมการทางเศรษฐกิจที่อาจเปลี่ยนโลก แค่คนยังไม่รับวันนี้มีอยู่ เรารู้จักดีด้วย คนหนึ่ง คือ “อี.เอฟ ชูมาเคอร์” คนเขียนหนังสือเล่มเล็ก 40 กว่าปีก่อน ชื่อ “เล็กนั้นงาม” (Small is Beautiful) ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากพุทธศาสนาที่เขาไปสัมผัสที่พม่า เขาบอกว่าโลกกำลังเสื่อมสลาย เพราะคนทำอะไรใหญ่เกินไปจนทำลายธรรมชาติ ทำลายตัวเอง บริโภคมากเกินความจำเป็น ชูมาเคอร์เห็นว่า การวัดการพัฒนาประเทศด้วยจีดีพีทำให้มีการกระตุ้นการบริโภค การใช้จ่าย จีดีพีมีแต่จะโตไม่มีลด ต้องเพิ่มต้องบวกทุกปี ยิ่งมากยิ่งดีจึงจะเรียกว่าการพัฒนา อันมาจากฐานคิดแบบทุนนิยม การพัฒนาแนวนี้จึงทำให้ธรรมชาติถูกทำลาย เพราะบิดเบือน ทำให้บิดเบี้ยว จึงมีการกลายพันธุ์ของพืชสัตว์ ไวรัส เชื้อโรค กระโดดจากสัตว์มาสู่คน และจะเป็นเช่นนี้เรื่อยไปตราบใดที่คนยังคิดเหมือนเดิม อีกท่านหนึ่ง คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพัฒนาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้รับ การยอมรับจากสหประชาชาติ แต่ก็ไม่เห็นว่าได้นำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง รวมทั้งประเทศไทย ถ้าหากแนวคิดอย่าง “เล็กนั้นงาม” กับ “เศรษฐกิจพอเพียง” ได้รับการยอมรับและนำไปสู่การปฏิบัติ จัดการเชิงระบบใหม่ได้จริง จะเปลี่ยนโลกนี้ได้ ทั้งเศรษฐกิจและสังคม เพราะทั้งสองแนวคิดเกิดจากสังคมที่มีฐานวัฒนธรรมแบบพุทธ ไม่ใช่ทุนนิยม เป็นฐานคิดของทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ถ้าโควิด-19 ระบาดไปอีกนาน คนอเมริกันตายไปหลายแสนอย่างที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทำนายไว้ ตลาดหุ้นคงพินาศ ขนาดไม่ทันไรก็ตกไปกว่าร้อยละ 20 แล้ว นี่คือสัญลักษณ์ของทุนนิยมที่ชี้ว่า “โลภแหละดี” (greed is good จากภาพยนตร์เรื่อง Wall Street) ถ้าผ่านการระบาดครั้งนี้ไปได้ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่า จะเกิดโรคระบาดที่ใหญ่กว่านี้อีกในอนาคต เมืองไทยไม่น่ารอให้ถึงวันนั้น วันนี้เรามีภาคเกษตรที่เป็น “ต้นทุน” ที่สำคัญที่สุด มีศักยภาพที่จะเลี้ยงตนเองและเลี้ยงคนในโลกได้ เป็นครัวเราครัวโลกได้ดีถ้ามีการวางแผน การจัดการ การพัฒนาอย่างเหมาะสม อยู่ที่ว่า รัฐบาลมีวิสัยทัศน์พอที่จะทุ่มเทงบประมาณ การศึกษาการวิจัยเพื่อการพัฒนาการเกษตรไทยให้ก้าวหน้ามากเพียงใด “เล็กนั้นงาม” กับ “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ได้แปลว่าต้องกลับไปหาอดีต อยู่แบบคนโบราณ แต่หมายถึงการสร้างระบบใหม่ที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ แบ่งปันกันได้ อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเป็นสุข เกิดระบบที่ใช้ความรู้ใช้ปัญญา ระบบที่กระจายอำนาจ กระจายความรับผิดชอบ ให้ทุกคน ไม่ว่าใหญ่เล็กเพียงใดให้มีส่วนร่วมในการผลักดันระบบใหม่ที่มีฐานอยู่ที่การเกษตร เศรษฐกิจแบบ “เล็กนั้นงาม” ยิ่งใหญ่เพราะเห็นความสำคัญของคนเล็กๆ ทำให้คนเล็กๆ สามารถทำการเกษตรแบบเล็กๆ ที่ “พอเพียง” เลี้ยงตนเองได้ รวมกันแล้วเลี้ยงสังคม เลี้ยงโลกได้ วิกฤติโควิด-19 น่าจะเป็นโอกาสให้เมืองไทยพัฒนาทางเลือกใหม่ ระบบใหม่ เพราะเรามีทั้ง “ฐานคิด” ที่ดี คือ เศรษฐกิจพอเพียง มี “ต้นทุน” ทางทรัพยากรเพื่อการเกษตร และทุนทางสังคม คือ ระบบคุณค่าที่ดีงาม ประเพณีวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันด้วยความเมตตาเอื้ออาทร เมืองไทยวันนี้ไม่มีความรู้ความชำนาญทางเทคโนโลยีมากพอที่จะไปแข่งขันกับประเทศพัฒนาทั้งหลาย ไม่มีแรงงานราคาถูกไปแข่งกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ แต่มีจุดแข็งต้นทุนดีที่การเกษตร ที่ต้องการยุทธศาสตร์ที่สัมพันธ์กับข้อดีนี้ อันเป็นข้อได้เปรียบ (comparative advantage) ของสังคมไทยในโลกที่แข่งขันกันสูงนี้ อาศัยช่วงวิกฤติโควิด-19 มาตั้งหลักกันใหม่ จะได้เดินหน้าอย่างมั่นใจและเป็นตัวของเราเอง ถ้าไม่เปลี่ยน ไม่ปฏิรูป ไม่ตัดสินใจเลือกทางใหม่ในวันที่เกิดวิกฤติ เมื่อวิกฤติผ่านไปก็จะไม่มีทางทำได้แล้ว