สถาพร ศรีสัจจัง วลี “ในวิกฤติมีโอกาส” เป็นถ้อยสะท้อนหนึ่งของหลักการจากกฎธรรมชาติเรื่อง “ด้านตรงข้ามของความขัดแย้ง” ตามหลักคิดแบบที่เรียกว่า “วัตถุนิยมวิภาษ” (Dialectical materialism) ในการวิเคราะห์สถานการณ์หนึ่งๆ หากนำหลักดังกล่าวมาใช้อย่างมีสติ และ มีข้อมูลพร้อมพอ ย่อมจะนำมาซึ่งความเข้าใจ ความเห็น และ แนวทางที่ถูกต้องในการกำหนด “จังหวะก้าว” หรือ “เป้าหมาย” ในปฏิบัติการต่างๆเพื่อบรรลุผลในด้านดีอย่างแน่นอน สถานการณ์ที่เกิดจาก “โควิด-19” ระบาดก็น่าจะเช่นกัน! ถามว่า สถานการณ์ “วิกฤติทางสังคม” จากโรคระบาดใหญ่ที่เรียกว่า “โควิด-19” ครั้งนี้ ทำให้สังคมไทยได้เห็นอีกด้านหนึ่งของความวิกฤติ (คือด้านดี)ในเรื่องอะไรบ้าง? เชื่อว่าหลังจากนี้ คงจะมีคำตอบต่อคำถามดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งจากงานวิจัยและจากกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงแบบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง แต่กล่าวเฉพาะคำตอบเรื่อง “ทางรอดของสังคมไทย” หลังจากนี้ คิดว่าหลายฝ่ายน่าจะเกิดความเห็นตรงกัน ขึ้นมากว่า วิกฤติทางสังคมครั้งนี้ น่าจะทำให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศ มองเห็นชัดขึ้นว่า “ระบบเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 9 ทรงคิดพระราชทานไว้ให้สังคมไทยนั้น น่าจะเป็นทางออกที่สำคัญทางเดียว ที่จะนำความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” มาให้สังคมไทยอย่างแท้จริง ในวิกฤติครั้งนี้ น่าจะทำให้บรรดา “บิ๊ก” ทั้งหลายได้เห็นแล้วว่า “ราก” ของความเป็นสังคมไทยในเรื่องใดบ้างที่มีส่วนทำให้ “การแก้ปัญหา” เป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น! และ “ผล” ที่เกิดจาก “การพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย” (ในรอบ 50 ปี) ได้ก่อ “นิสัย” อะไรบ้าง ที่ส่งผลให้คนไทยต้องหลุดจากกระบวนทัศน์เชิงพุทธ คือทรรศนะแบบ “ตนเป็นที่พึ่งของตน” (อัตตา หิ อัตตโน นาโถ) กลายเป็นพวกคุ้นชินกับการ “แบมือร้องขอ รอคอย” หรือ “เป็นพวกพึ่งตัวเองไม่ได้และไม่เป็น” (เพราะเงื่อนไขสังคมในรอบ 50 ปีแห่งการพัฒนาแบบรัฐสวัสดิการประชาธิปไตยทุนนิยมล้าหลัง ที่ทำให้พวกเขาอ่อนแอลง ทั้งทางความคิดและทางปัจจัยลบแห่งชีวิตด้านอื่นๆ) การถอดบทเรียนในเรื่องดังกล่าวจึงน่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญที่สุด ในช่วงหลังจากปัญหา “โควิด-19” ได้คลี่คลายลงแล้ว และผลได้จากการถอดบทเรียนดังกล่าว ควรจะต้องถูกนำมาแปรผลเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่จะส่งผลต่อความ “มั่นคง” และ “ยั่งยืน” แม้เรื่องเหล่านั้นอาจจะทำให้ความ “มั่งคั่ง” ทางเศรษฐกิจลดน้อยลงบ้างก็ตาม เช่น ปรากฏการณ์ในเรื่อง “น้ำใจ” ของ “คนไทย” (ในนิยามของ “รัฐไทยสมัยใหม่ที่ประกอบด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของกลุ่ม “ไต” หรือกลุ่ม “ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง) ที่สำแดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ยังคงเหลือ “ราก” ทางวัฒนธรรมที่เข้มข้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ “คนมี” ทั้งหลายที่มีน้ำใจนำสิ่งของเงินทองมาแจก “คนขาด”ในสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้ (นี่คือนิยามของคำ “เศรษฐี” ในกรอบวัฒนธรรมชาวพุทธที่แท้จริง) หรือ การเอื้อเฟื้อแลกเปลี่ยนผลผลิตกันระหว่างชาวเลกับชาวยโสธร ที่จัดทำโครงการแลกเปลี่ยนอาหารทะเลเค็มกับข้าวหอมมลิ หรือการที่กลุ่มชาติพันธุ์บนภูนำข้าวและพืชผักของตัวเอง มาแจกชาวเมืองที่เชียงใหม่เป็นต้น! การผลักดันส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางวัฒนธรรมจากรูปแบบมรดกฐานรากดั้งเดิมของเราเอง(ไม่ใช่วัฒนธรรมซื้อขายแบบมุ่งหวังกำไรสูงสุดแบบระบบทุนนิยมที่เราสมาทานรับมาจากตะวันตกในชั้นหลัง) แบบที่ปรากฏให้เห็นในช่วงยามวิกฤติเช่นนี้เอง ที่น่าจะเป็นแนวทางส่งเสริม “ระบบเศรษฐกิจพอเพียง” ของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 9 ให้เกิดขึ้นได้จริงในที่สุด แน่ละว่า การอนุวัตน์ตามระบบเศรษฐกิจกระแสหลักของโลก โดยรู้จักรับมาแบบ “เลือกแก่นทิ้งกาก” ย่อมมีความจำเป็น แต่กลุ่มชนชั้นนำของสังคม ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และ บรรดา “อีลีท” ทางวิชาการ(ปัญญาชน)ก็ควรรู้จักวิเคราะห์สังเคราะห์ให้ได้ว่า อย่างไรจึงจะเป็นการ “กู้เงินอย่างพอเพียง” และการลงทุนสร้าง “โครงสร้างพื้นฐาน” อย่างระบบการคมนาคม ทั้งทางรถ ทางอากาศทางเรือ และทางราง หรือการอุตสาหกรรมสมัยใหม่ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ก็ควรมีความสัมพันธ์โดยตรงกับ “การลงทุน” ในการสร้างพื้นฐานทางความคิด ทางมโนธรรม จริยธรรมและคุณธรรม ของคน(โดยเฉพาะเยาวชน)ในสังคม! ถ้า “โควิด- 19” คือ “วิกฤติ” การคิดเช่นนี้แหละคือการสร้าง “โอกาส” อย่างนี้แหละคือการคิดวิเคราะห์โดยใช้หลัก “เอกภาพของด้านตรงข้าม” หรือ “ความขัดแย้งของด้านตรงข้าม” ที่บางใครเขาว่ากัน! หรือยังไม่เห็นอีกว่า “ระบบเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้ตั้งแต่ครั้งเมื่อสังคมไทยเกิดวิฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” คราวกระโน้น จะช่วยนำพาสังคมไทยให้ก้าวสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” อย่างที่บางใครโฆษณาไว้ แต่ไม่เคยแปรเป็นการปฏิบัติจริงสักทีได้อย่างไร? ได้โอกาสแล้ว ทำเถอะ ส่วนฝ่ายค้านและแค้น (ที่ต้องการได้อำนาจรัฐไปใช้งานเพื่อสร้าง “ประชาธิปไตยจ๋า” แบบฝรั่งมังค่าที่พวกเขาเชื่อ) เขาจะคิดอย่างไร จะโจมตีดิสเครดิตอย่างไร ก็คงต้องปล่อยให้พวกเขาเย้วๆไปเถอะน่าทำงานให้ชาวบ้านดีกว่า...!!!!