บทเรียนประสบการณ์จากความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์การพัฒนาประทศไทยมีมากมาย การบริหารจัดการน้ำก็เป็นปัญหาร้ายแรงปัญหาหนึ่ง ทุกวันนี้ “ภัยแล้ง” กับ “ภัยน้ำหลาก” เป็นภัยประจำปี สลับกันมาเยือน เมื่อยังไม่ถึงหน้าฝน ก็จะขาดแคลนน้ำ ครั้นถึงหน้าฝน น้ำก็จะหลากท่วมเมือง พัดทำลายถนนหนทาง ต่อไปมันจะเกิดขึ้นประจำตลอดปี เพราะบังคับใช้ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำที่ถูกต้องเหมาะสมไม่สำเร็จ การจัดการทรัพยากรน้ำและลุ่มน้ำตามแนวทางการพัฒนาประเทศที่ผ่านมานั้น มักมุ่งเน้นการจัดหาแหล่งน้ำ การจัดหาน้ำ รวมถึงการนำทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำมาใช้ตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ กลับกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดความเสื่อมโทรมในระบบนิเวศและพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างหนัก ตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นได้ชัดเจน เช่น การที่รัฐเข้าไปดำเนินงานเกี่ยวกับป่าไม้ โดยไม่คำนึงถึงผลทางระบบนิเวศของลุ่มน้ำที่ตามมา ด้วยการเปิดให้สัมทานป่าในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าลุ่มน้ำในภาคเหนือและภาคอื่นๆ ซึ่งเพิ่งยุติเมื่อปีพ.ศ.2532 และแม้จะมีการปลูกป่าทดแทนในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำ แต่ก็ยังส่งผลกระทบถึงปริมาณและคุณภาพน้ำ แม้รัฐจะมีแนวคิดและความพยายามในการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบมากขึ้น แต่ยังพบข้อจำกัดในความคิดของรัฐว่า รัฐมองระบบการจัดการลุ่มน้ำที่ก่อให้เกิดเสถียรภาพได้นั้นจะต้องรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำอย่างน้อย 26% ของพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยที่รัฐไม่ได้คิดว่า พื้นที่ป่าตอนกลางและป่าท้ายน้ำมีคุณค่าเท่าเทียมกับป่าต้นน้ำ ขณะที่แนวคิดของชุมชนซึ่งอาศัยในพื้นที่ลุ่มน้ำกลับเห็นว่า การจัดการป่าในระบบลุ่มน้ำนั้นต้องรักษาพื้นที่ป่าไว้ตลอดลำน้ำไปพร้อมกัน การเหลือไว้เฉพาะพื้นที่ป่าต้นน้ำจะไม่สามารถรักษาระบบนิเวศลุ่มน้ำไว้ได้ทั้งสาย นอกจากนี้ การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า การชลประทาน การเกษตรกรรม การแก้ปัญหาภัยแล้ง และการป้องกันน้ำท่วม บนฐานแนวคิดที่เชื่อว่า เขื่อนจะกลายเป็นเครื่องมือการจัดการน้ำที่ทรงประสิทธิภาพและวิเศษที่สุด แต่หากมองอีกด้านหนึ่ง คิดในเรื่องต้นทุนเขื่อน การคำนวณตัวเลขเฉพาะค่าอิฐ หิน ปูน ทราย และค่าแรงคงไม่เพียงพอ เพราะการได้เขื่อนมาหนึ่งเขื่อนไม่ใช่การแลกมาเพียงค่าการลงทุนทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เขื่อนยังแลกมาด้วยทรัพยากรป่าไม้อันเป็นแหล่งผลิตและเก็บรักษาน้ำโดยธรรมชาติ ทั้งชีวิตของสัตว์ ผู้คน วิถีวัฒนธรรม และแม้แต่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ยุทธศาสตร์การพัฒนาในทุกภาคของประเทศไทยที่บกพร่องผิดพลาดของภาครัฐในอดีตได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวบ้านที่เคยพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ มีวิถีแบบพอเพียงให้กลายเป็นวิถีชีวิตเชิงพาณิชย์ การเกษตรเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ทำให้พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติในระดับครอบครัว ชุมชน กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ใช้กระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น ปัญหาที่สำคัญเกี่ยวพันกับทุกชีวิตในประเทศไทย คือปัญหาจากการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรเชิงพาณิชย์ การเติบโตของเมืองและนิคมอุตสาหกรรม ทำให้พื้นที่บุ่ง ทาม ที่ใหญ่และมีคุณค่าในภาคอีสานในลุ่มน้ำมูล น้ำชี กลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแสนไร่ แต่พื้นที่ที่ชลประทานเข้าถึงนั้นกลับน้อยมาก นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทั้งทองคำ ดีบุก เหล็ก โปแตซ และการพัฒนาพลังงานในอนาคต เช่น นิวเคลียร์ พลังงานชีวมวล ได้ทำให้ชุมชนในอีสานหลายจังหวัดต้องได้รับผลกระทบต่อสุขภาพและผลกระทบทางด้านสังคมอย่างหนักหน่วง ปรากฏการณ์เหล่านี้คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ภายใต้กระบวนการพัฒนาที่เน้นการกำหนดนโยบายจากศูนย์กลาง องค์กรท้องถิ่น , ภาคประชาชน จะต้องเปิดกว้างทางความคิดสร้างสรรค์ กล้าหาญที่จะเสนอโครงการพัฒนาที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตน ต่อต้านโครงการที่ทำลายสภาพแวดล้อม ทำลายทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของตน