สถาพร ศรีสัจจัง เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะแห่งกบิลพัสดุ์เสด็จออกบวชจนบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น มีประเด็นที่น่าสนใจมากว่า ทำไมพระองค์จึงทรงตัดสินใจเผยแผ่พระสัทธรรมที่ทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง เพราะบรรดา 'พระพุทธเจ้า' องค์ก่อนๆนั้นล้วนเสด็จข้ามฝั่งสังสารไปเพียงลำพังพระองค์ทั้งสิ้น อรรถะหรือเนื้อความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนี้ ปรากฏชัดในพระวินัยปิฎกมหาวรรค เล่ม 4 ภาค 1 สรุปความได้ประมาณว่า :หลังพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ใต้ควงไม้ศรีมหาโพธิ์แล้ว สัปดาห์แรกพระองค์ยังประทับเสวยวิมุติสุขทบทวนพระสัทธรรมที่ทรงค้นพบอยู่ ณโพธิบัลลังก์นั้น สัปดาห์ที่ 2 จึงทรงย้ายไปประทับใต้ต้นไทร สัปดาห์ที่ 3 ย้ายไปประทับเสวยวิมุติสุขใต้ต้นจิก(มุจจลินทร์) สัปดาห์ดังกล่าวนี้เกิดพายุฝน พญานาคชื่อ มุจลินทร์ ได้ขดร่างเป็นบัลลังก์และแผ่พังพานเป็น 7 เศียรบังกั้นฝนและบรรดามดแมลง ครั้นเมื่อถึงสัปดาห์ที่ 3 จึงย้ายไปประทับใต้พุ่มไม้เกด(ราชายตนะ)            ที่ใต้พุ่มไม้เกดในสัปดาห์ที่ 4 นี้เอง ที่พระพุทธองค์ทรงปริวิตกสัตว์โลกน้อมไปในทางจะไม่แสดงธรรมที่ทรงค้นพบ ในที่นี้จะขอคัดความที่ทรงดำริมาให้ดูเป็นตัวอย่างสักหน่อยหนึ่ง “...บัดนี้ เรายังไม่ควรจะประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้วโดยยาก เพราะนี้อันสัตว์ผู้อันราคะและโทสะครอบงำแล้วไม่ตรัสรู้ได้ง่าย สัตว์ผู้อันราคะย้อมแล้ว ถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันละเอียดลึกซึ้ง ยากที่จะเห็นธรรมอันละเอียดยิ่ง อันจะยังสัตว์ให้ถึงธรรมที่ทวนกระแส คือพระนิพพาน"              เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาเห็นอยู่ดังนี้ พระทัยก็น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อทรงแสดงธรรมพระอรรถกถากล่าวต่อไว้ว่า สหัมบดีพรหมเห็นพระพุทธองค์มีพระดำรินี้ ก็เกิดปริวิตกว่า : “ชาวเราผู้เจริญ โลกจักฉิบหายหนอ โลกจักวินาศหนอ เพราะตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่น้อมพระทัยไปเพื่อทรงแสดงธรรม"สหัมบดีพรหมจึงกราบทูลขอความเมตตาจากพระพุทธองค์ให้ทรงสงสารสัตว์โลก โดยเสนอว่ายังมีเวไนยสัตว์จำนวนมากที่มีความพร้อมในการปฏิบัติเพื่อล่วงทุกข์ตามวิถีที่พระองค์ทรงค้นพบ         พระพุทธองค์ทรงใช้ “พุทธจักขุ” ตรวจดูสัตว์โลกก็ทรงพบและดำริว่ายังจะพอมีเวไนยสัตว์อยู่จริง ด้วยพบว่า มนุษย์ในโลกมีลักษณะเหมือนบัว 4 เหล่า คือเหล่าบัวที่โผล่พ้นน้ำมารับแสงตะวันจนบานได้แล้ว(อุคคติตัญญู มีปัญญาพร้อม) เหล่าบัวที่ยังปริ่มน้ำพร้อมจะบานในวันพรุ่ง(วิปัจจิตัญญู) เหล่าบัวที่ยังจมน้ำอยู่(เนยยะ) และเหล่าบัวที่ยังอยู่ในโคลนตมอันรังแต่จะเป็นอาหารของเต่าปลา(ปทปรมะ) โดยเหตุดังนี้ พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยรับคำอาราธนาของสหัมบดีพรหมออกเผยแผ่พระวิมุติธรรมที่ทรงค้นพบแก่สัตว์โลกจนตลอดพระชนมายุของพระองค์กระทั่งถึงปรัตยุบันสมัยที่พุทธกาลล่วงแล้ว 2559 พระวรรษา!           ประเทศสยามหรือ “ไทยแลนด์” ปัจจุบันนั้น กล่าวกันว่าเป็นแหล่งเนื้อนาบุญ เป็น “พุทธภูมิ” ที่เมื่อพุทธธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่มาถึงก็สามารถตั้งหลักปักฐานลงได้อย่างหนาแน่น ผสมผสานกับคตินิยมพื้นฐานดั้งเดิมอันหลากหลายได้อย่างกลมกลืน อย่างน้อยก็ตั้งแต่ดินแดนแหลมทองแห่งนี้ยังไม่เกิด “รัฐชาติ” ที่ชื่อสยามหรือไทยในปัจจุบัน ตั้งแต่ก่อนยุคทวาราวดีศรีวิชัยโน่นแล้ว ที่พระพุทธศาสนาได้รับการประดิษฐานลงแน่นหนาในย่านนี้ กระทั่งถึงยุค สุโขไทย ผ่านช่วงอยุธยาอีกหลายร้อยปี ถึงยุคกรุงธนบุรี กระทั่งบัดนี้คือยุครัตนโกสินทร์เมืองแก้วเมืองฟ้า           รูปแบบของสิ่งที่เรียกว่า"ศาสนาพุทธ"ก็ยิ่งดูเหมือนจะยิ่งรุ่งเรืองร่ำรวยในลักษณะยิ่งกว่า “เจดีย์ระดะแซง เสียดยอด/ยลยิ่งแสงแก้วเก้า ก่ำฟ้า เฟือนจันทร์” ดังนี้กวียุคเก่าเคยรจนาไว้เสียอีก!ในขณะที่ “ศาสนา” ใหม่(ศาสนาคือสิ่งที่คนยึดเป็นสรณะสร้าง “ระบบคุณค่า” หรือ “ความเชื่อ” ให้แก่ตนแก่ชีวิต)ที่มาถึงเมืองไทยน่าจะสักไม่เกินหลังรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ “ลัทธิเสรีนิยม” ที่หลังจากปี พ.ศ.2475ได้อาศัย “พาหะ” ขับเคลื่อนความแรงในชื่อ “ระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย” แล้วมาเร่งสปีดโดยการเปิดโฉมหน้าให้เห็นเนื้อหาของระบบที่แท้จริงว่าชื่อ ศาสนา “บริโภคนิยม” มาตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีสิ่งที่่เรียกว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ระยะที่ 1 เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2500 หรือสักห้าสิบกว่าปีมานี้เอง จนกระทั่งจะใช้แผนฯระยะ 12 อยู่ในปีหน้านี้แล้ว                แต่ทำไม'ศาสนาบริโภคนิยม “อันมีจุดมุ่งอยู่ที่การสนอง” โลกียสัมบูรณ์'ในหมู่มนุษย์นี้จึงบรรลุความสำเร็จในการเผยแพร่อิทธิพลความเชื่อได้อย่างกว้างขวางลึกซึ้งและรวดเร็วกว่าพระพุทธศาสนานักทั้งนี้โดยไม่ละเว้นแม้กระทั่งในวัดวาอารามและในจิตใจในศรัทธาของผู้อ้างตัวว่าเป็น “นักบวช” ในบวรพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเสียด้วยซ้ำ!!!