หน้าที่ของการศึกษาหรือวัตถุประสงค์ของการศึกษาในขั้นแรกก็คือ จะสอนคนให้มีความรู้ คือสอนให้มีความรู้อะไร ก็ตอบเป็นเบื้องต้นก่อนว่า สอนให้เป็นหมอความที่ดี เป็นช่างกลที่ดี เป็นเกษตรกรที่ดี เป็นคนเขียนหนังสือที่ดี เป็นข้าราชการที่ดี และอาชีพอื่น ๆ อีกมากมาย นี่ก็เป็นวัตถุประสงค์ขั้นแรกของการศึกษา และถ้าคิดไปในแง่นี้แล้ว การศึกษาเป็นของที่จำเป็นเหลือเกินสำหรับบ้านเมืองของเรา ความข้อนี้ก็เป็นจริงสำหรับประเทศไม่ว่าประเทศใด ๆ ในโลก หรือไม่ว่าสังคมใดในโลกจะตั้งอยู่ได้ในปัจจุบันและในเวลาต่อไปข้างหน้านั้น ก็ด้วยเหตุที่พลเมืองภายในประเทศหรือสมาชิกของสังคมนั้น มีความสามารถเท่าเทียมกับประเทศอื่นหรือสังคมอื่นเขา ถ้าหากว่าประเทศใดหย่อนพลเมืองที่มีความสามารถในอาชีพต่าง ๆ แล้ว ประเทศนั้นไม่สามารถจะตั้งอยู่ได้นาน เพราะการแข่งขันระหว่างประเทศทุกวันนี้มีมากมายเหลือเกิน ถ้าหากว่าประเทศใดไม่สามารถที่จะแข่งขันกับเขาได้ด้วยสติปัญญาของตัวเองแล้ว ประเทศนั้นก็เห็นจะมีอนาคตที่ไม่รุ่งเรืองนัก การศึกษาหรือระบบการศึกษาของแต่ละประเทศถ้าไม่สามารถจะทำให้เด็กทุก ๆ คนเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ที่มีความรู้แตกฉานในสาขาวิชาที่เรียนแต่ละสาขาแล้ว ระบบการศึกษานั้นก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นระบบการศึกษาที่ล้มเหลว หรือไม่สามารถจะทำหน้าที่ต่อบุคคลได้เต็มที่ ทีนี้ปัญหาทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับการศึกษาในบ้านเมือง ในขั้นแรกนั้นเราจะต้องสอนให้คนมีความรู้ความสามารถในอาชีพต่าง ๆ นี่เป็นวัตถุประสงค์ขั้นแรกและขั้นสำคัญที่สุด แต่ในโลกมนุษย์เราทุกวันนี้มีการโฆษณาชวนเชื่อในทางสินค้าต่าง ๆ ก็มีอยู่มาก ซึ่งถ้าผู้บริโภคเป็นคนที่ขาดการศึกษาแล้ว อาจจะหมดเปลืองรายจ่าย อาจจะถูกหลอกลวงได้ง่าย การโฆษณาชวนเชื่อในด้านวัฒนธรรม เป็นต้นว่าในเรื่องหนังละครในทางโทรทัศน์และในทางอื่น ๆ ก็มีอยู่มากมายเหลือเกิน ถ้าหากว่าผู้ที่ขาดการศึกษาแล้วอาจจะถูกหลอกลวงได้ง่ายเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นก็ยังมีการโฆษณาชวนเชื่อในทางการเมืองอีก ซึ่งถ้าหากว่าผู้ได้ยินได้ฟังขาดการศึกษาอาจจะถูกหลอกลวงไปได้ง่าย เป็นผลเสียหายแก่บ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นการศึกษานั้นนอกจากจะสอนให้คนเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้ที่มีความรู้สูงในกิจการของแต่ละคนแล้ว ยังจะสอนให้คนทั้งปวงมีความรู้กว้างขวางอีกด้วย คือสอนให้เป็นผู้ที่เจนจัดต่อโลก เป็นผู้ที่มีความรู้กว้างขวางในวิชาต่าง ๆ ถึงจะไม่รู้ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็จะต้องมีความรู้พอตัว พอที่จะเข้าใจถึงปัญหาอื่น ๆ เกี่ยวกับอาชีพอื่นในสังคมได้ และจะต้องมีความรู้และรสนิยมสูงในทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมต่าง ๆ อีกมาก ตลอดจนต้องมีความรู้ทางการเมือง และการต่างประเทศพอสมควรทีเดียว มิฉะนั้นบ้านเมืองก็ไม่สามารถจะปกครองกันไปในระบอบประชาธิปไตยให้เรียบร้อยได้ ทั้งนี้เป็นภาระอันหนักของการศึกษา” (คึกฤทธิ์ ปราโมช) ปัญหาก็อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะสอนให้ผู้ที่เข้ารับการศึกษานั้นมีความรู้กว้างขวางในทุกแขนงดังกล่าว เพื่อที่จะได้เป็นพลเมืองดี ที่สามารถรักษาสังคม รักษาระบอบการปกครองที่เรียบร้อยไว้ได้ในที่สุด รัฐบาลไทยที่ผ่าน ๆมา ต่างก็ล้วนประกาศตัวว่าให้ความสำคัญกับ “การศึกษา” แต่ประสิทธิผลของการศึกษาไทย ก็ยังไม่น่าพอใจ โดยเฉพาะด้านการสร้าง “พลเมืองดีที่สามารถรักษาระบบการปกครองให้สงบเรียบร้อย”