สถาพร ศรีสัจจัง ในรอบ 6 ทศวรรษที่พ้นผ่าน ใครที่พอมีรสนิยมในการ “เสพ” งานวรรณกรรมที่เรียกว่า “บันเทิงคดี” หรือ “เรื่องแต่ง” อยู่บ้าง ย่อมยากจะเลี่ยงพ้นต่อการปะทะกับ “บิ๊กเนม” แห่งวงการนั้น ในนาม “พนมเทียน” เจ้าของจินตนิยายลือลั่นมาตั้งแต่ “จุฬาตรีคูณ” จนถึงมหากาพย์แห่งวงวรรณกรรมไทยอย่างนิยายเรื่อง “เพชรพระอุมา” ที่บางใครบอกว่า ถ้า เซอร์ ไรเดอร์ แฮกการ์ด ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง “King Solomon Mine” หรือ “สมบัติพระศุลี” ในพากย์ไทย ซึ่งฟังว่าเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้ “พนมเทียน” ลงมือเขียน “เพชรพระอุมา” ภาคแรก ที่ชื่อ “ไพรมหากาฬ” ขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 และ มาจบลงในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2533 ในภาคสุดท้ายที่ชื่อ “แงซายจอมจักรา” ฟื้นตื่นจากหลุมศพขึ้นมา จะต้องตื่นตะลึงในความยิ่งใหญ่ของนักเขียนไทยท่านนี้! รวมเวลาที่พนมเทียนใช้ในการเขียนนิยายเรื่อง “เพชรพระอุมา” ทั้งสิ้น 25 ปี 7 เดือน กับ 2วัน เป็นสถิติการเขียนนิยายที่ยังไม่เคยมีนักเขียนคนใดทำได้ในวงการวรรณกรรมไทย(ไม่แน่ใจว่าจะเป็นหนึ่งเดียวของโลกด้วยหรือเปล่า) พนมเทียน เป็นนามปากกาของ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ บุตรชายท่านขุนวิเศษสุวรรณภูมิ เจ้าของสัมปทานเหมืองทอง “โต๊ะโม้ะ” แห่งเทือกเขาสันกาลาคีรี เทือกเขาป่าดงดิบ ที่กั้นพรมแดนไทยกับชาติมลายา คหบดีคนสำคัญในอดีตของ “เมืองสาย”หรือ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ในปัจจุบัน ฟังว่าป่าดงดิบแห่งเทือกเขาโต๊ะโม้ะ(เขตอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ปัจจุบัน)ที่ต่อเชื่อมยาวเหยียดไปถึงป่าฮาลาบาลาแห่งนี้เอง คือปฐมเหตุหรือที่มาของนิยายที่ยาวที่สุดในโลก “เพชรพระอุมา” เรื่องนั้น ฟังว่า เพราะแรงบันดาลใจจาก “หมื่นบรรจงเจียรนัย” ผู้เป็นปู่ที่มีความฉกาจฉกรรจ์ในเรื่องการเดินป่า ในฐานะพรานไพรแห่งป่าเทือกเขาดงพญาไฟในอดีต หรือ “ดงพญาเย็น”ในปัจจุบัน ก็เป็นแรงส่งสำคัญที่ก่อเป็นภาพผู้กอง “รพินทร์ ไพรวัลย์” นายตำรวจ ตชด.อกหัก ผู้เป็นพระเอกขวัญใจราชนิกูลสาวประเภท “ดื้อแต่เก่งและสวย” อย่าง ม.ร.ว.แพทย์หญิง ดาริน วราฤทธิ์ คนนั้น! เขามีแววแต่รุ่นกระเตาะ, ฟังว่า แต่เมื่อครั้งเรียนมัธยมต้นที่วัดสุทธิวรารามหรือมัธยมปลายที่สวนกุหลาบวิทยาลัย(ไม่แน่ใจ)โน่นแล้ว ที่เขาก็เริ่มต้นเขียนนิยายลงใส่สมุดเพื่อแจกให้เพื่อนๆได้อ่านกัน! นั่นคืออาชญนิยายเรื่อง “เห่าดง” ซึ่งภายหลังได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์จนโด่งดังในช่วงกลางๆทศวรรษ 2500 คู่กับอีกเรื่องคือ “สี่คิงส์”! แต่นิยายที่ทำให้ “พนมเทียน” โด่งดังมาแต่พ.ศ.2491 ก็คือ “จุฬาตรีคูณ” หลังจากนั้นก็ติดตามด้วยมหากาพย์ภารตะเรื่องยิ่งใหญ่ คือ “ศิวา ราตรี” ทั้ง 2 เรื่อง มีกลิ่นโรตีฟุ้งกระจาย อาจเป็นด้วยผู้รจนาสร้างสรรค์มัน เป็นบัณฑิตวิชาภาษาสันสกฤต จากมหาวิทยาลัยบอมเบย์ ประเทศอินเดีย! เฉพาะ “จุฬาตรีคูณ” นั้นเคยมีบุญ,ได้ฟังท่านผู้รจนาเล่าว่า ตระเวนขายเรื่องนี้ไปทุกแห่ง เดินจนท้องร้อง ได้แต่ตักน้ำประปาแก้กระหาย(ตามประสา “นักเขียนไส้แห้ง”) แต่ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนซื้อไปพิมพ์เลย ก่อนที่นิยายเรื่องนี้จะกลายเป็นละครวิทยุของคณะแก้วฟ้าจนดังกระฉ่อนไปทั่ว แล้วจึงกลายเป็นละครเวที ที่มีเพลงประกอบแต่งโดย “สุนทราภรณ์” และ แก้ว อัจฉริยะกุล จนโด่งดังมาจนกระทั่งปัจจุบัน หลังจากนั้นแล้วดอก จินตนิยายที่มี “ดาราราย” เลิศโสภีเป็นนางเอกเรื่องนี้ จึงได้รับการตีพิมพ์เป็นรูปหนังสือ ให้เป็นที่ประจักษ์ในโศกนาฏ (วรรณ) กรรมมาจนบัดนี้ นี่คืออีกหนึ่งตำนานของนักเขียนใหญ่ที่ชื่อ “พนมเทียน” ที่ยากจะมีใครทำได้! สักประมาณช่วงปี 2500 อาชญนิยายที่ “ฮอต” ที่สุดเรื่องหนึ่งของยุคนั้นคือ “เล็บครุฑ” ของนักเขียนนามปากกา “พนมเทียน” ก็ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ นำพระเอกหนังไทยผู้ยิ่งใหญ่อย่าง “ลือชัย นฤนาท” ออกมาเดินท่าเท่คอเอียงแบบหล่อไม่เลิกในบทของ “ชีพ ชูชัย” พระเอกในท้องเรื่อง สวมบทคู่กับนางเอกที่เพิ่งได้รับตำแหน่งรองนางสาวไทยมาหมาดๆที่ชื่อ “อมรา อัศวนนท์” ในบทของ “ปรีดาฮนัม” ผู้เลอโฉม! นี่ยังไม่พูดถึงนิยาย “รัศมีแข” และ “กัลปังหา”! หลังผ่านความจัดจ้านด้านฝีมือมาอย่างช่ำชอง นักเขียน “เด็กเมืองสาย” อย่าง ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิหรือ “พนมเทียน” ก็ระเบิด “มาสเตอร์พีซ” ชิ้นยิ่งใหญ่ออกมา “ตรา” ไว้ให้โลกวรรณกรรมได้ตระหนัก นั่นคือการลงมือเปิดเรื่อง “เพชรพระอุมา”ขึ้นในช่วงปี 2507 (หลังสิ้นสฤษดิ์ ธนะรัชต์)! วาบแห่งปรากฏการณ์นี้ ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับเหตุการณ์เมื่อครั้งนักเขียนชื่ออุโฆษนาม “โชติ แพร่พันธุ์” หรือ “ยาขอบ” ท่านนั้น ลงมือเขียน “ผู้ชนะ 10 ทิศ” ด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่หลายใครบอกว่า “มีไม่ถึง 4 บรรทัด”! และหลายใครก็ว่า(เหมือนกัน)ว่า “เพชรพระอุมา” ของ “พนมเทียน” ก็มีที่มาจาก “King Solomon mine” ไม่ถึง 4 บรรทัดเช่นกัน! หรือนี่จะไม่ใช่ผลงานของอัจฉริยะ? หรือนี่จะไม่ใช่ “The creature”? และนี่คือ “พนมเทียน” คือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ,ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2540 คือ “นักเขียนผู้จากแล้วแต่ยังอยู่” อยู่ในความคารวะของชนรุ่นหลัง!!!!