เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ศกนี้ จีนเปิดประชุมปรึกษาหารือเรื่อง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” OBOR มีผู้นำสูงสุดของหลายประเทศเดินทางไปร่วมประชุมด้วย ส่วนประเทศไทยแม้นายกรัฐมนตรีจะมิได้เดินทางไปร่วม แต่ก็มีรัฐมนตรีหลายกระทรวงเดินทางไปร่วมประชุม ยุทธศาสตร์นี้ ในภาษาจีนถ้าแปลตรงตัวก็แปลว่า “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” พูดง่าย ๆ ก็คือ จีนจะผลักดันให้เกิดการคมนาคมขนส่งติดต่อกันได้สะดวกระหว่างเอเชียกับยุโรปทั้งทางบกและทางทะเล พร้อม ๆ กับผลักดันการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานในประเทศที่ยังไม่รวยยังขาดแคลนเงินลงทุนก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การเรียกชื่อ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” สำหรับชาวไทยอาจจะเข้าใจยาก จึงเกิดความนิยมเรียกง่าย ๆ ว่า เส้นทางสายไหมสายใหม่ ยุทธศาสตร์นี้เป็นแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก โดยจีนมีบทบาทกระตุ้น ซึ่งแน่นอนว่าจีนย่อมได้รับประโยชน์ด้วย แต่ถ้าจีนเห็นแก่ประโยชน์ฝ่ายเดียว ยุทธศาสตร์มันก็จะล้มเหลวตั้งแต่ต้น ส่วนด้านการเมืองการทหารโลกนั้น ก็ย่อมเกิดผลสะเทือนด้วยเช่นกัน มีเสียงวิพากย์กันมากว่า เรื่องเส้นทางสายไหมใหม่นี้เป็นการขยายอำนาจทางการทหารของจีน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาที่(บาง)ประเทศที่ถือว่าจีนเป็นศัตรู (ตอนนี้คือสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่น)จะโจมตีจีนในเรื่องนี้ แต่ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ยุคใกล้ ก็จะเข้าใจจีนมากขึ้น นับตั้งแต่จีนเปลี่ยนแผลงการปกครอง คือพรรคคอมมิวนิสต์จีนรบชนะ ได้ครองประเทศ โลกเสรีภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาก็เปิดล้อมจีนอยู่หลายสิบปี แต่ในที่สุดก็ปฏิเสธบทบาทของจีนไม่ได้ ต้องยอมรับฐานะของรัฐบาลจีน ให้ยอมให้จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก ฯลฯ จีนปฏิรูปประเทศทำให้จีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนทางด้านเศรษฐกิจเติบโตเป็นพลังอำนาจสำคัญ สหรัฐอเมริกานั้น แม้จะ “จำยอม” ยอมรับจีน แต่ก็ยังคงถือจีนเป็น “ศัตรู” มาตลอดจนถึงขณะนี้ ในยุคประธานาธิบดีโอบามา สหรัฐกลับมาเสริมความแข็งแกร่งของแนวปิดล้อมจีนอีกครั้ง เพื่อเสริมแนวปิดล้อมให้สมบูรณ์ จากเดิมที่มี ฐานทัพ 12 แห่งในเกาหลีใต้ , มีฐานทัพ 17 แห่ง กำลังพลกว่าสี่หมื่นคนในญี่ปุ่น , มีฐานทัพใน ฟิลิปปินส์ , เกาะกวม , ออสเตรเลีย (ดาร์วิน) , สิงคโปร์ และไทย (เกือบได้อู่ตะเภาไปแล้ว ถ้าไม่เกิด คสช.) สหรัฐโฆษณาว่าจีนกำลังขยายอำนาจคุกคามเอเชีย นสายตาของนักการทหารสหรัฐมองว่า “จีน” พยายามขยายอิทธิพลทางการเมืองและการทหารด้วยยุทธศาสตร์ “สายสร้อยมุก” เช่น มีฐานทัพเรือในปากีสถาน (Gwadar) มีท่าเรือในลังกา (Hambantota) กำลังพัฒนาท่าเรือในบังคลาเทศ มีท่าเรือจิตตะกอง มีท่าเรือในเมียนมาร์ 2 แห่ง ขุดคลองกระ มีการสำรวจน้ำมันในทะเลจีนใต้ มีสนามบินที่เกาะวู้ดดี้ มีฐานทัพอากาศ ฐานทัพเรือในเกาะไหหลำ (จากบทความเรื่อง Kerry ‘s southeast asia war experience and US – China ties เว็บ 4thmedia.org วันที่ 20 ธันวาคม 2012 สหรัฐจึงพยายามสร้างแนวยุทธศาสตร์สกัดกั้นจีน เป้าหมายที่สหรัฐต้องการมากคือ ฐานทัพเรืออ่าวซูบิค และฐานทัพอากาศคลาค ในประเทศฟิลิปปินส์ , ท่าเรืออ่าวคัมรันห์ ในประเทศเวียดนาม ฐานทัพอู่ตะเภา ในประเทศไทย และดึงอินเดียมาเป็นพันธมิตร และพยายามขยายความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซ้อมรบใหญ่ขึ้น ผลักดันให้ญี่ปุ่นขยายกองทัพเรือและทะเลาะกับจีนรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สหรัฐคิดรุก จีนจึงรุกกลับ ด้วยยุทธศาสตร์ OBOR ใช้ความร่วมมือและช่วยเหลือทางเศรษฐกิจกรุยทาง ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จในประเทศกำลังพัฒนาแบบ win-win เช่น บังคลาเทศ ลังกา ปากีสถาน คาซัคสถาน เศรษฐกิจเอเชียก็จะก้าวกระโดดเข้สู่ยุคใหม่