ต้องยอมรับว่าในโลกอนาคตอันใกล้นี้ จีนจะมีบทบาทผลสะเทือนต่อโลกมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จีนจะเป็นปัจจัยตัวแปรตัวสำคัญของโลก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองและด้านการทหาร ชาวไทยจึงจำเป็นต้องติดตามทำความเข้าใจประเทศจีนให้มากขึ้นทั้งในภาคส่วนของ “รัฐ” – พรรคคอมมิวนิสต์จีนและภาคเอกชนจีน เมื่อกลางปีที่แล้ว จีนจัดประชุมประเทศ G-20 ที่หางโจว “สยามรัฐ” ได้เสนอไว้ว่า มันจะเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ว่า จีนจะขยายบทบาทในการบริหารเศรษฐกิจโลก และในปีนี้ จีนก็จัดประชุมปรึกษาหารือเรื่อง OBOR เส้นทางสายไหมใหม่ได้ยิ่งใหญ่จริง วันนี้เราจะวิเคราะห์เฉพาะด้านเศรษฐกิจกันก่อน หลังปฏิรูปเปิดประเทศโดยเติ้งเสี่ยวผิงแล้ว จีนทลายวงปิดล้อมของโลกเสรี แล้วเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดจนกลายเป็นโรงงานของโลก แต่จีนก็ถึงจุดจำกัดเสียแล้ว จีนจะเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปไม่ได้ ถ้าเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในสภาวะแบบเดิม ๆ เศรษฐกิจระบบทุนนิยมเติบโตมาสองร้อยปี มีการปรับตัวปฏิรูปมากมาย แต่เพราะ “ธรรมชาติของทุน” และข้อจำกัดของ “รัฐชาติ” การเติบโตต่อไปของเศรษฐกิจทุนนิยมจึงยากลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ และแม้ว่าจะมีการปฏิรูปเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศ หรือปฏิวัติคอมพิวเตอร์แล้วทำให้มีโอกาสขยายเติบโตต่อไปได้อีกระยะหนึ่งก็ตาม แต่ถึงที่สุดแล้วการเติบโตต่อไปภายใต้ข้อจำกัดด้านรัฐชาติแบบในปัจจุบันนี้ ก็ใกล้จะถึงหนทางตีบตันแล้ว ปรากฏการณืเช่น ความสับสนทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีรากฐานมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจีนวิเคราะห์เห็นปัญหานี้ และได้ทดลองดำเนินยุทธวิธีพัฒาเศรษฐกิจของประเทศจีนมาหลายแนว ในที่สุดได้สรุปยุทธศาสตร์สำหรับหลายทศวรรษหน้าออกกมาเป็น ยุทธศาสตร์ OBOR เส้นทางสายไหมใหม่ ! จีนพยายามจะเชื่อมร้อยเส้นทางคมนาคมขนส่งถึงทั่วโลกที่สะดวกขึ้นมานานแล้ว แต่ทำในลักษณะยุทธศาสตร์ย่อยระดับภูมิภาค เช่น เริ่มต้นใช้มณฑลยูนนานเป็นประตูส่งตะวันตกเฉียงใต้ เมียนมาร์ - บัคลาเทศ-อินเดีย ต่อมาพยายามเชื่อมร้อยกับเอเชียกลาง กลุ่มประเทศที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต พร้อม ๆ กับพยายามเชื่อมร้อยกับอาเซียนโดยใช้เขตปกครองตนเองกวางสีเป็นปากประตู โดยเน้นขยายเข้าสู่ไทยอย่างเต็มที่ก่อน จากนั้นจะใช้ไทยเป็นกระดานหกขยายต่อไปทั่วอาเซียน จีนสรุปบทเรียนจากแนวทางข้างต้น พบว่าการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาโลจิสติ์ติคกับประเทศกำลังพัฒนาเติบโตช้า เพราะปัญหาข้อจำกัดทางรัฐชาติ ปัญหาที่มีร่วมกันในหลายประเทศคือ รากฐานสาธารณูปโภคในประเทศเหล่านั้นไม่พร้อม เช่นการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า , ถนนคุณภาพไม่ดี , ไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำใหญ่ ไม่มีท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ ฯลฯ ต้องเร่งพัฒนาสาธารณูปโภคเหล่านั้นขึ้นก่อน จีนจึงสรุปเป็นยุทธศาสตร์ระดับโลกคือ เส้นทางสายไหมใหม่ ร่วมลงทุนและให้ทุนช่วยเหลือสร้างสาธารณูปโภคกับประเทศเหล่านั้น แล้วเมื่อประเทศกำลัพัฒนาเหล่านั้นเจริญขึ้น การคมนาคมขนส่ง การลงทุน ฯลฯ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ มันจะกลายเป็นพลังขับดันเศรษฐกิจโลกพลังใหม่ ตรงจุดนี้เองที่จีนมีวิสัยทรรสน์ก้าวหน้ากว่าทุนจักรวรรดินิยมเก่า อย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่นี้ จะเป็นตัวช่วย ขับดันให้ทุนนิยมโลกเติบโตขึ้นได้อีกขั้น อันเป็นเรื่องดีสำหรับพลโลกโดยองค์รวม พิเคราะห์เฉพาะในด้านเศรษฐกิจแล้ว จึงควรสนับสนุนยุทธศาสตร์นี้