ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] หลังจากโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว ต่างวิพากษ์วิจารณ์กันไปว่า ชีวิตวิถีใหม่ของคนไทยจะปรับเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก ทั้งชีวิตของการทำงาน ชีวิตของสังคม และชีวิตของการศึกษาจะถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบกันใหม่ ที่น่าสนใจและติดตามดูชีวิตทางการศึกษา จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนกันใหม่ เริ่มจากเปิดเรียนกันเดือน ก.ค.63 เหมือนกันหมด ทั้ง ประถม มัธยม อาชีวะ และอุดมศึกษา โดยมีการเปิด-ปิด และหยุดเทอมกันใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม แต่จากข่าวการศึกษาของผู้มีอำนาจในการจัดการศึกษา จะเห็นว่ามีการออกข่าวว่าจะทำการเรียนการสอนด้วยระบบทางไกล หรือ online กันใหม่ทั้งระบบ ตั้งแต่ประถมศึกษายันอุดมศึกษา โดยให้นักเรียน นักศึกษาเรียนอยู่ที่บ้าน หรือห้องเฉพาะ แล้วเรียนทาง TV, Online โดยมูลนิธิไทยคม10 กว่าช่อง และด้วย Software หลากหลาย ที่บริษัทที่เป็น provider คิดค้นขึ้นมาเพื่อหาช่องว่างทางการศึกษาในการเรียนการสอน ซึ่งการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ดูออกจะทันสมัยเหมือนกับต่างประเทศ แต่วิถีชีวิตการเรียนของนักเรียนและนักศึกษาไทยเคยชินกับการเรียนในห้องเรียนมานาน จากการสำรวจความพร้อมพบว่ามีความพร้อมในระดับอุดมศึกษาเพียงไม่เกิน 50% ที่มีเครื่องมือทั้งคอมพิวเตอร์ Tablet รวมถึงเครือข่ายที่จะช่วยให้การเรียนสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งมั่นใจได้ว่าเปิดเรียนทำการสอนแล้ว ได้คุณภาพการเรียนเหมือนเรียนในห้องแบบเดิมหรือไม่ ผมคิดว่าคุณภาพไม่น่าจะได้เห็นกัน ดังเช่นในอเมริกา มีนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างร้องเรียนว่า สถาบันอุดมศึกษาของเขาเปิดเรียน online ที่ไร้คุณภาพ แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยดังๆมากกว่า 20 แห่ง ทั้งๆที่เครื่องมือและความพร้อมของเขามีมากกว่าของเราเสียอีก การที่คุณภาพไม่ได้ อาจเป็นเพราะ 1.ครูเคยสอนในระบบปิด ไม่มีความเชี่ยวชาญในการสอนแบบ online มาก่อน จะต้องมีวิธีการสอนในรูปแบบใหม่ มิใช่แค่สอนให้จบชั่วโมงไปเท่านั้น 2.การเรียนผ่านดาวเทียมที่ผ่านมาโดยโทรทัศน์นั้นก็เรียนพร้อมกันทั้งห้อง โดยมีครูผู้สอนคอยช่วยแนะนำให้อีกทาง จึงเข้าใจได้แต่การเรียนการสอนแบบใหม่ เด็กๆต้องเรียนที่บ้าน ความเอาใจใส่ต่อการเรียนจะมีน้อยมาก ยิ่งบอกว่าให้ผู้ปกครองช่วยสอน ยิ่งยากเพราะผู้ปกครองหาเช้ากินค่ำทั้งนั้น 3.อุปกรณ์การศึกษาทั้งคอมพิวเตอร์ และเครือข่ายมีน้อยมาก โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ฝากลูกไว้ที่โรงเรียน จะเอาเงินเอาทองที่ไหนมาจัดหาให้ในยามนี้ 4.การเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาคงจัดได้เฉพาะภาควิชาการหรือการศึกษาทั่วไปเท่านั้น แต่ภาคปฏิบัติคงอาศัยระบบทางไกลไม่ได้อยู่ดี แล้วนักศึกษาจะเป็นนักปฏิบัติได้อย่างไร 5.ภาพรวมใหญ่ การศึกษาระบบใหม่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ จัดให้พร้อมเสียก่อนหลายๆปี แล้วค่อยๆเปิดเป็นระดับไป รวมทั้งต้องอาศัยครูที่เก่งๆมาช่วยสอนด้วย มิฉะนั้น ที่รัฐมนตรีและอธิการบดีให้ข่าวคงได้แค่พูด มีการเรียนการสอนแต่ขาดคุณภาพ แม้กระทั่งการเรียนระบบปิดยังพูดกันหนาหูว่าไม่ได้คุณภาพตามความประสงค์ของผู้ใช้ การเรียนทางไกลด้วยระบบใดๆก็ตาม เป็นเพียงความฝันของคนไทยและนักวิชาการศึกษาเท่านั้น แต่การปฏิบัติจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเราเคยมีประสบการณ์มาแล้วในการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนระดับประถมมาแล้ว ผู้ปกครองคงต้องตามหา “คุณภาพ” อยู่ที่ไหน?