สถาพร ศรีสัจจัง เดือนนี้เป็นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นอีก 1 เดือนในรอบปีที่มีวันในปฏิทินทั้งสิ้นรวม 30 วัน คำ “เมถุน” นั้นคนไทยที่อยู่ภายใต้บวรพุทธศาสนามานานมักคุ้นกับความหมายที่โน้มเอียงไปทาง “การร่วมสังวาส” หรือการร่วมเพศ มากกว่าอย่างอื่น ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเราเรียกพระสงฆ์ที่มีเพศสัมพันธ์ (ทั้งกับเพศหญิงและเพศชาย)ว่า “เสพเมถุน” ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงต้องพ้นจากการเป็นภิกษุสงฆ์ในทันที(แม้จะยังห่มผ้าเหลืองอยู่!) ไม่แน่ใจนักว่าเมื่อถึงตอนนี้ ในสังคมไทยที่มีวัดในพระพุทธศาสนา(สถานที่)เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วทั้งในมหานครและพื้นถิ่นชนบท จะมีคนนุ่งห่มจีวรแบบเดียวกับสาวกของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น สักกี่มากน้อยที่ตกอยู่ในฐานะ “ปาราชิก” เพราะ “เสพเมถุน” สำเร็จแล้ว(หรือกำลังเสพอยู่อย่างเป็นปกติ!) งานแบบนี้ หรือ องค์กรของพระสงฆ์อย่างมหาเถร ฯจะกล้ายืนยันว่ามี-ไม่มี,จริง-ไม่จริง? ภายหลังเมื่อสังคมไทยรับเอา “วิธีวิทยา” ในเรื่องที่เกี่ยวกับ “จักรวาลวิทยา” และ “ญาณวิทยา” ของฝรังมังค่ามาใช้ในสังคมมากขึ้น ความคุ้นชินเกี่ยวกับคำ “เมถุน” ในสังคมก็เริ่มเปลี่ยนไปบ้าง เช่น เมื่อรับระบบปฏิทินสุริยคดิแบบ “เกรกอเรียน”ของฝรั่งชาติตะวันตกเข้ามาใช้ ความหมายของคำ “เมถุน” ก็ค่อยกลายเป็นหมายถึง “คนคู่” หรือ “ราศีคนคู่” มากขึ้น ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ของไทย จึงแปลความหมายคำ “เมถุน” ไว้ว่า “เมถุน 1. (น) การร่วมสังวาส 2.(น) คนคู่ ,กลุ่มดาวรูปคนคู่ ,ราศีเมถุน ฯ” คนไทยที่นิยมเรื่องโหราศาสตร์ ชอบดูเรื่องโชคชะตา(ทั้งของตัวเองและคนอื่น?) มักเชื่อว่าดวงดาวหรือความสัมพันธ์ของดวงดาวมีผลต่อชะตาชีวิตคน คนฝรั่งตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันก็มีไม่น้อยที่เชื่อเช่นนี้ เฉพาะกลุ่มดาวรูปคนนี้ ฝรั่งโบราณเขากำหนดเรียกว่า “Gemini” พูดเรื่องโชคลางฤกษ์ยามนี่ก็แปลก คนไทยเราส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กรอบคติทางพระพุทธศาสนาสนามานาน แต่ในเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับฤกษ์พานาทีนี้ ดูเหมือนจะยังติดตังอยู่กับคติพราหมณ์ดั้งเดิมกันเสียมาก ภายหลังมีคติฝรั่งไสยศาสตร์ในเรื่องดังกล่าวเข้ามาสวมเข้าอีก ก็เอากันไปใหญ่ พวกมดหมอเกี่ยวกับฤกษ์ยามดวงชะตาแพร่ระบาดไปทั่ว สื่อยุคใหม่ทั้งหลายที่เป็น “ดิจิทัล” กันอย่างที่วถึงแล้ว ก็ล้วนมีเรื่องราวรายการเกี่ยวกับหมอดูฤกษ์พานาทีประจำช่องประจำคลื่นกันทั้งสิ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสสอนชี้ทางเรื่องพวกนี้ไว้บ้างหรือเปล่า?เท่าที่จำได้ พระองค์ก็ทรงสอนไว้อย่างที่คนซึ่งมีปัญญาสามารถยึดเป็นสรณะได้ มีพุทธพจน์อ้างไว้ว่า : “ ประโยชน์ได้ล่วงเลยแก่คนเขลาผู้คอยนับฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์เอง ดวงดาวบนฟ้าจะทำอะไรได้...” ที่พูดเรื่องเดือน “เมถุน” หรือเดือน “มิถุนายน” และ เรื่องฤกษ์ขึ้นมาในยามนี้ ก็เพราะนึกขึ้นได้ว่า เดือนนี้มีเรื่องอะไรที่เกิดขึ้นในอดีตหลายเรื่อง ที่คนยุคดิจิทัลภายใต้การนำทางความคิดของอเมริกาและยุโรปอาจจะนำเอาปรากฏการณ์ดังกล่าวมาเป็น “ฤกษ์” เพราะอาจเชื่อว่าจะเป็น “มงคล” แก่ตนและพวกพ้องก็เป็นได้ ลองมาเลือก “จดหมายเหตุ” เดือนมิถุนายนในอดีตกันดูสักหน่อยถี ว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่น่าสนใจ จะเลือกคัดมาให้ดูพอเป็นกระสายก็แล้วกัน เพราะตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 30 ของเดือนนี้ ในช่วงหลายพันปีแห่งอดีตนั้น มีสิ่งทั้งที่เป็นมงคลและไม่เป็นมงคลเกิดขึ้นในโลกและในประเทศไทยนับได้เป็นหมื่นๆแสนๆเรื่องทีเดียว! ............................................ -2 มิถุนายน 2408 กองกำลังฝ่ายสมาพันธรัฐชุดสุดท้าย นำโดยพลเอกเอ็ดมันด์ เดอริบี สมิธ ยอมจำนน ภายหลังจากสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกายุติไปแล้วเกือบ 2 เดือนเต็ม -2 มิถุนายน 2489 ราชอาณาจักรอิตาลีเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐ เมื่อประชาชนร้อยละ 54.3 ลงมติให้ยกเลิกระบอบราชาธิปไตย -11 มิถุนายน 2506 ภิกษุ ทิ้ง กว่าง ดิ้ก ชาวเวียดนาม เผาตัวตายประท้วงประธานาธิบดีโง ดิน เดียม ที่สั่งทหารตำรวจบีฑาพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา -12 มิถุนายน 2441 ฟิลิปปินส์ประกาศอิสรภาพ -15 มิถุนายน 2505 ไทยแพ้คดีเรื่องเขาพระวิหารในศาลโลกแก่กัมพูชา -16 มิถุนายน 2503 อัลเฟรด ฮิชคอกซ์ นำหนังเรื่อง “ไซโค” ออกฉายเป็นรอบปฐมฤกษ์ -21 มิถุนายน 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนาได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศไทย หลังการรัฐประหาร(ครั้งแรก)โค่นล้มรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาสำเร็จ -25 มิถุนายน 2419 พันโท อาร์ม สตรองก์ คัสเตอร์(Longhair Custer)ถูกนักรบอินเดียนแดงภายใต้การนำของ “ซิตติ้ง บูลล์” ลงโทษประหาร ณ ยุทธภูมิลิตเติ้ล บิ้ค ฮอล มลรัฐมอนทาน่า(ปัจจุบัน)..... ฯลฯ อุ้ย...ลืมเรื่องใหญ่ไปถนัด ..วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระยาพหลพลพยุหเสนา อ่านประกาศของคณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตยเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข...(ที่หลาย/บางใครบอกว่า “คณะราษฎร” ยังทำไม่เสร็จ (เสียของ?) นั่นแหละ!!!!)