ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] ในท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ถึงโครงการที่กระทรวง จังหวัด และท้องถิ่นเสนองบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เกินไปกว่าเท่าตัว กับทั้งมีโครงการจำนวนมาก ไม่เหมาะสมและไม่ตรงกับความต้องการและวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ ป่านนี้สภาพัฒน์ฯ ที่เป็นเจ้าของเรื่องคงแยกแยะได้ถูกว่าโครงการใดตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่ โดยเฉพาะโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างงาน สร้างอาชีพ และไม่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจอันเกิดจากโควิด-19 ออกไปโดยไม่ต้องเกรงใจใคร เพราะการสร้างถนน ซ่อมถนน ขุดคูคลองจำนวนมาก เห็นว่าไปใช้งบปกติได้ อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลพร้อมที่จะรับมือด้วยงบประมาณในปี 2564 รวมแล้วกว่า 1.6 ล้านๆบาท เพราะมีงบประมาณเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ เช่น -เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท - เหลือจากใช้จ่ายการเยียวยา 183,000 ล้านบาท -งบลงทุนคงเหลือจากปี 63 235,292 ล้านบาท - โอนงบจากหน่วยงานต่างๆ 88,452 ล้านบาท - พ.ร.บ.ปี 64 งบลงทุน 696,416 ล้านบาท - โอนงบปี 64 เข้างบกลาง 40,325.6 ล้านบาท จึงเป็นตัวเลขที่คาดว่าจะสามารถนำมากอบกู้เศรษฐกิจได้อีกมาก แต่คงต้องคัดสรรเฉพาะส่วนที่จะนำมาฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจจริงๆ ไม่ควรนำมาเป็นเงินแบบเบี้ยหัวแตกเหมือนกับที่หน่วยงานต่างๆของโครงการเช่นดียวกับงบ 4 แสนล้านบาทเท่านั้น เช่น สสว.จะนำมาฟื้นฟูและช่วยเหลือ SMEs ขนาดเล็กที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ และเข้าไม่ถึงระบบธนาคารที่อาจจะทำให้ SMEs ล่มสลายลงได้ คงต้องพิจารณาตามความเหมาะสม เรามีปัญหากับเศรษฐกิจฐานราก คือ SMEs เกษตรกร และอุตสาหกรรมที่ถูกปิดตัวเองเพราะพิษเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่านายกรัฐมนตรีคงจับเป้าได้ถูก แม้ว่าจะมีการสับเปลี่ยนหรือโยกย้ายรัฐมนตรีเศรษฐกิจไปก็ตาม เชื่อได้ว่านายกรัฐมนตรีคงไม่ตามใจ ส.ส. ที่เป็นนายหน้าโครงการต่างๆให้ภาครัฐเป็นผู้ขอ การพิจารณาคงต้องดูว่าเอาไปสร้างงาน สร้างอาชีพ และไปช่วยโควิด-19 ได้อย่างไรด้วย เช่น โครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบล ประมาณ 20 คน ของกระทรวง อ.ว. ที่ของบไป 3,000 ตำบล ตำบลละ 4.5 ล้านบาทตรงกับความต้องการของท้องถิ่น หวังว่าคงมีโอกาสได้รับการพิจารณา เหตุใดต้องพิจารณาโครงการหรือสร้างโครงการเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพราะคนรุ่นใหม่ทั้ง GenX และ GenY ต่างมีหนี้สินจากการลงทุนซื้อที่อยู่อาศัย รถยนต์ และอื่นๆ ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะนักศึกษาเพิ่งจบใหม่ต่างก็มีหนี้สินกันแล้ว ในขณะที่ถูกเลิกจ้างหรือถูกปิดงาน อันจะทำให้หนี้เสียที่เป็น NPL เพิ่มสูงขึ้น นั่นคือหนี้สินครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นอีก รัฐบาลคงต้องเร่งสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้คนมีงานทำมากที่สุด เพื่อเยียวยาในสภาพเศรษฐกิจที่ทรุดหนักขณะนี้ เชื่อว่างบประมาณ 1.6 ล้านล้าน สำหรับปีงบประมาณ 2564 คงจะช่วยให้รัฐบาลได้สร้างงานให้คนเหล่านี้ได้มาก