สถาพร ศรีสัจจัง “ ความรักและน้ำมิตรที่มิอาจรับการทดสอบ ก็เฉกเช่นกับดอกไม้กระดาษ ทั้งปราศจากความหวานหอม ของบุปผชาติ และไม่มีผลงอกเงย...” จาก “วีรบุรุษสำราญ” ของ “โก้วเล้ง” /น.นพรัตน์ แปล อีกวาทกรรมหนึ่งที่ มงคล สนิทบุรุษ หรือ “ศรีเหน่ง” แห่งเมืองย่าโม โคราช มักยกมาอ้างถึงเมื่ออยู่ในวงสุราระหว่างเพื่อนพ้องน้องพี่ ยามเมรัยรสซึมซ่านในร่างกายถึงจุดหนึ่งเรียบร้อยแล้ว แม้ดูเหมือนเขาจะอ้างอิงถึงคำของโก้วเล้ง นักเขียนเรื่องจีนกำลังภายในผู้ยิ่งใหญ่ บทที่ว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ชื่นชอบรสชาติของสุรามากไปกว่าบรรยากาศของวงสุรา” มากกว่า แต่เขาบอกว่า วาทกรรมเกี่ยวกับ “สหาย” ที่ยกมาข้างบน เป็นบทที่ “กินใจ “ เขาเป็นที่สุด มงคล สนิทบุรุษ หรือ “ศรีเหน่ง” ชื่อที่เพื่อนพ้องน้องพี่นักกิจกรรม ทั้งสาย “เข้าป่า” และ “ไม่เข้าป่า” แต่รักกิจกรรมสร้างสรรค์ทางสังคม ตั้งแต่รุ่นหลังเหตุการณ์ “วันมหาปิติ” 14 ตุลาคม 2516 จนถึงรุ่นหลัง “เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ” ล้วนรู้จักกันดีว่าคือ ผู้ชายร่างใหญ่ ใจดี เสียงดัง ใจถึง ฯลฯ แห่งเมืองย่าโมโคราช ที่บรรดาเพื่อนพ้องน้องพี่ที่รักใคร่ พร้อมใจกันไปชุมนุมอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองโคราช เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ศกนี้ เพื่อแสดงความอาลัยและน้อมส่งสรีระสังขารของเขาเป็นครั้งสุดท้าย ในงานส่งสรีระสังขาร “ศรีเหน่ง” ที่มีคนใหญ่แห่งเมืองโคราชอย่าง ฯพณฯ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น คับคั่งไปด้วยเพื่อนพ้องน้องพี่ทั้งจากใกล้ไกลเป็นจำนวนมากเข้าร่วมงาน หลายอาชีพหลากสาขา ตั้งแต่กลุ่มศิลปินแห่งชสติ ที่เห็นก็มี ท่านคำสิงห์ ศรีนอก หรือ “ลาวคำหอม” นักเขียนใหญ่นามอุโฆษ/ชาติ กอบจิตติ นักเขียนรางวัล “ดับเบิล ซีไรต์” คนแรก/อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี “มือขลุ่ยแห่งชาติ” /อาจารย์ศราวุธ ดวงจำปา/และ สถาพร ศรีสัจจัง..เป็นต้น กลุ่ม อนุรักษ์เขาใหญ่นำโดย “แดงโย่ง” และ “หัวหน้าสาโรจน์” /เพื่อนๆกลุ่มด่านเกวียนในคืนวันเก่าแก่อย่าง อ.สุพจน์ อดีตผู้บริหารโรงเรียนบุญวัฒนา/อ.ประทีป นราศรี /และใครอีกมายหลายหน้า “สีเผือก” หรือ อดีตอาจารย์อิสรา อนันตทัศน์ แห่งโรงเรียนบุญวัฒนา ลูกน้องเก่าของอ.สุพจน์ นั้นขึ้นร้องเพลงกล่อมเพื่อนรัก เริ่มด้วยเพลง “กุลาบปากซัน” (แห่งความหลังอันยาวไกล ฟังว่าเพลงนี้ “สีเผือก” นำมาร้องในวงเหล้าที่ด่านเกวียนตั้งแต่เขายังไม่ออกมาร้องเพลงหากินโน่นแล้ว และครั้งนั้น “ศรีเหน่ง” ปลื้มเพลงนี้เสียนักหนา ค่าที่มีความไพเราะแบบซื่อใสและยังไม่ค่อยมีใครในตลาดเพลงไทยรู้จักมากนัก) ในฐานะที่ “ศรีเหน่ง” เป็นเพื่อนเก่าแก่และเป็นผู้จัดการวงดนตรีเพื่อชีวิต “คาราวาน” คนแรก สุรชัย จันทิมาธร มางานเพื่อนและขึ้นเวทีร้องเพลงให้ตั้งแต่คืนสวดแรกๆ เพราะวันเผาฟังว่าติดภารกิจสำคัญ ส่วนทองกราน ทานา หรือ “อืด” นั้นมาร่วมสวดคืนสุดท้าย ที่มากสุดน่าจะเป็นกลุ่ม “ราชสีห์ 66” ซึ่งเป็นนักเรียนเก่าราชสีมาวิทยาลัยรุ่นเดียวกับ “ศรีเหน่ง” มี “แดง โสฬส”หรือ โอริสสา ไอราวัณวัฒน์ แห่งเหตุการณ์ “6 ตุลาคม 2519” นำทีม (เพื่อนรักรุ่นเดียวกันที่อยู่ไกล เช่น “ 2 กบฏ 14 ตุลาฯ” อย่างบัณฑิต เฮงนิลรัตน์ และ วิสา คัญทัพ ได้แต่ส่งข่าวแห่งความเศร้ามาคารวะผู้วายชนม์) น้องนุ่งเพื่อนพ้องของ “ศรีเหน่ง” ทั้งในโคราช และจากที่ต่างๆมากมายจนไม่สามารถนำมากล่าวนามได้หมด เจ้าภาพฝากขอบคุณมาณที่นี้ด้วย นอกจากคนในครอบครัว “ศรีเหน่ง” แล้ว เบื้องหลังสำคัญในงานส่งสรีรศพ “ศรีเหน่งครั้งนี้” ที่ต้องพูดถึงก็คือ สหายเก่าแก่ของผู้วายชนม์ คือ พบโทดิสกุล สงวนตระกูล แห่งโรงพยาบาลป.แพทย์ โคราช ที่ดูแลเพื่อนตั้งแต่ล้มป่วยอย่างดียิ่งตลอดมา และ 2 น้องชายคู่บารมีของเขาคือ “อาร์ท” และ “วัตร” ผู้เอาการเอางานตามหน้าที่ตน ชาวสื่อเพื่อนเก่า “ศรีเหน่ง” อย่างนิวัติ กองเพียร/บริสุทธิ์ บูรณสัมฤทธิ์/นิมะ ราสิดี/สนานจิตต์ บางสะพาน ฯลฯ ก็มากันพร้อม งานจบลงด้วยเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของจิตร ภูมิศักดิ์และเพลง “รัตติกาล” ของเพื่อนรัก “สีเหน่ง” ผู้จากไปก่อนแล้ว คือ “ครูตึ๋ง” ของเพื่อนๆโคราชคนนั้น ก่อนที่พนม นันทพฤกษ์ จะขึ้นอ่านบทกวีส่งท้ายด้วยการคลอขลุ่ยอันแสนไพเราะของศิลปินแห่งชาติธนิสร์ ศรีกลิ่นดี... คือ “ศรีเหน่ง” คือ มงคล สนิทบุรุษ/คือที่สุดของที่สุดปราศสงสัย เหมือนจากแล้วแต่ชื่อจะลือไกล/เป็นตำนานอยู่ในหัวใจคน!!ฯ”....