แสงไทย เค้าภูไทย คนไทยวันนี้สร้างหนี้กันล้นพ้นตัว จนน่าห่วงว่า จะใช้กันไปจนชั่วลูกชั่วหลาน แข่งกันทั้งภาครัฐและครัวเรือน หนี้รัฐบาลวันนี้ยอดสะสมถึง 7.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 42% ของ GDP หนี้ภาคเอกชน 3.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 20% ของจีดีพี หนี้ครัวเรือน 13.47 ล้านล้านบาท คิดเป็น 80% ของจีดีพี น่าเป็นห่วงทุกหนี้ โดยเฉพาะหนี้รัฐกับหนี้ครัวเรือน ที่นับวันแต่จะงอกเป็นดินพอกหางหมู ส่วนหนี้เอกชนนั้นไม่น่าห่วงมากนัก เพราะเป็นตราสารหนี้ อย่างเช่นพันธบัตรเป็นต้น ถึงกำหนดเอกชนก็มีปัญญาหาเงินมาชำระหรือซื้อคืนได้ แต่กระนั้นก็ยังกังวลกันอยู่ เพราะพิษโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจไปทั้งโลก โดยไทยเราเจอหนักมาก เนื่องจาก จีดีพีของเราพึ่งพารายได้จากการส่งออกถึง 72% และจากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีก 12% จีดีพีปีนี้ถึงปีหน้า น่าจะหดตัวตามตลาดโลกที่ธนาคารโลกประเมินว่า จะหดตัวถึง 44% เทียบกับภาวะก่อนหน้าไวรัสระบาด ผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้นี้ จะก่อให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้กันไปทั่ว โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนนั้นหนักหนาสาหัสมาก กระทบถึงธนาคารโดยตรง แม้ธนาคารกลางจะพยายามช่วย ทั้งการตั้งคลินิกแก้หนี้ ทั้งซอฟต์โลนเครดิตและมาตรการเยียวยาอื่นๆ แต่เพราะการสะสมหนี้แบบพอกพูนจากการใช้จ่ายเกินตัวต่อรายได้ปัจจุบัน มุ่งหวังแต่รายได้งอกเงยในอนาคต ทำให้ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยอดพุ่งไม่หยุดยั้ง บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) รายงานถึงภาระการเป็นหนี้ของคนไทยช่วงวัยต่างๆเมื่อสิ้นไตรมาสแรก(มีนาคม 2563) คนช่วงวัยหรือ Generation Y (อายุ 26-40) สร้างหนี้ไว้ถึง 4.4 ล้านล้านบาท ทั้งนี้เป็นหนี้เสีย ระดับ NPL ถึง 2.7 แสนล้านบาท คนวัยนี้ ยังมีเวลาทำงานอีกนานกว่าจะเกษียณอายุ จึงยังอยู่ในฐานะที่พอจะปลดหนี้ได้ และยังสามารถสร้างเงินได้เหนือหนี้สินได้ก่อนถึงวัยเกษียน แต่ที่น่าห่วงก็คือ ช่วงวัย X( 40-55) กับกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (56- 74 ปี)ที่เข้าโซนชราภาพ เจน X มีการสร้างหนี้รองจากเจน Y ตัวเลขถึง 3.7 ล้านล้านบาท เป็น NPL ถึง 2.8 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับกลุ่ม Baby Boomers คือพวกเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ส่วนใหญ่อยู่วัยเกษียณอายุไปจนถึงชราภาพ มีหนี้สินคงค้างรวม 1.2 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสีย 8.4 หมื่นล้านบาท มีสิทธิเป็นมรดกหนี้ใช้กันตกทอดถึงลูกหลาน สองกลุ่มหลังนี้ หนี้สินที่มีอยู่ อาจจะสร้างขึ้นในช่วงตัวยังอยู่ในช่วงวัย Z และ Y สำหรับวัย Z วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ เครดิตบูโรรายงานว่าเมื่อสิ้นไตรมาสแรก มีหนี้สินรวม 2.5 หมื่นล้านบาท เป็น NPL อยู่ 1.2 พันล้านบาท โดยหนี้เสียของ Gen Z นี้ กระจุกตัวในสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อเช่าซื้อที่ไม่ใช่รถยนต์ ในภาวะปกติ หนี้เสียเหล่านี้ เป็นตัวเลขที่ไม่น่ากลัวเท่าใด แต่ในยามนี้ จนถึงปีหน้าหรือนานกว่านี้ บรรดากูรูเศรษฐกิจการเงินมองว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเป็นรูปตัว L เหตุจากภาวะเศรษฐกิจโตติดลบ และภาวะเศรษฐกิจโลกหดตัว ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ทำให้ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain ) ในส่วนของไทยตีบตัวลง ห่วงโซ่อุปทานนั้น โยงตั้งแต่ กระบวนการจัดซื้อ (Procurement) ไปถึง การผลิต (Manufacturing) การจัดเก็บ (Storage) เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) การจัดจำหน่าย (Distribution) และการขนส่ง (Transportation) ไปจนถึงผู้บริโภค มันจะหดตัวตั้งแต่ตลาดโลกเข้ามาจนถึงในประเทศ ไม่ระวังตั้งการ์ดรับ มีหวังล้มละลายกันครึ่งค่อนประเทศแน่