ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล ได้เพียรพยายามอธิบาย “การปฏิรูปประเทศ” มาหลายครั้ง โดยหลายครั้งเขียนถึง “การศึกษาในต่างประเทศ” ไม่ว่าในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย และมาจบลงที่ประเทศอังกฤษ ที่อาจแตกต่างจากประเทศในแถบเอเชีย แม้กระทั่งที่ประเทศไทยที่อาจจะมีหลักสูตรที่ “ซีเรียส” อย่างมาก โดยเริ่มตั้งแต่อนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาที่ 6 หรือเตรียมอุดมศึกษา จริงๆ แล้วเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้อธิบายถึง “ระบบการศึกษาของอังกฤษ” ที่ถ้าไม่ได้อ่านอย่างละเอียดอาจสับสนเล็กน้อย ที่มีทางเลือกมากมายหลังจากจบการศึกษามัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 โดยเข้าเรียนสายอาชีวะศึกษาทางด้านธุรกิจ หรือทางด้านเทคนิค หรือศิลปะ หรือดนตรี แล้วแต่ความพึงพอใจของนักศึกษา หรือกล่าวอย่างภาษาชาวบ้านว่า “ตามความชอบของนักศึกษา!” โดยนักศึกษาจะได้ “วุฒิบัตร” หรือเมื่อจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 เหลืออีกเพียง 2 ปี นักศึกษาจะศึกษาอีกเพียง 1 ปีเท่านั้น โดยอาจได้รับหรือไม่ได้รับประกาศนียบัตรเลย แต่จะได้วิชาชีพตามสาขาต่างๆ เมื่อจบแล้วจะสามารถนำความรู้ไปศึกษาต่อได้ในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งสามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี นั่นคือ คำอธิบายที่ขอตอกย้ำว่า น่าจะมีทางเลือกมากกว่าและง่ายกว่าในเมืองไทยทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้หรืออาจจะศึกษาในระดับอนุปริญญาได้เช่นเดียวกัน หรือเข้าศึกษาในโรงเรียนกวดวิชาคล้ายๆ กับ “TUTORIAL COLLEGE” คล้ายกับประเทศไทย ที่นักเรียนจะมีโอกาสใกล้ชิดกับผู้สอน ทำให้เด็กมีความรู้พิเศษเพิ่มมากขึ้น และสามารถสมัครเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้ดีมากขึ้น ทั้งนี้มักจะมีแต่นักเรียนที่มีฐานะดีเกือบทั้งสิ้น และโรงเรียนที่สอนเฉพาะสาขาเลขานุการ อาทิ พิมพ์ดีด ธุรการงานเอกสาร แฟ้มงาน คอมพิวเตอร์ ชวเลข และงานทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารสำนักงาน งานบัญชีขั้นพื้นฐาน เป็นต้น ซึ่งอาจใช้เวลาหนึ่งปี จริงๆ แล้วงานบริหารงานสำนักงานต้องยอมรับว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เป็นงานที่อาจต้องคิดแทนนาย บริหารแทนนาย หรืออาจต้องตัดสินใจแทนนายก็เป็นได้ แต่มิใช่ในเชิงนโยบาย เพราะฉะนั้น ขอย้ำว่า “งานบริหารงานสำนักงาน” นั้นเป็นงานที่ยุ่งยากและละเอียดอ่อนมาก ที่นี้ลองมาดูการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกากันบ้าง ที่อาจจะดูยุ่งยากน้อยกว่าประเทศอังกฤษ ที่น่าจะผ่อนคลายไม่ค่อยเข้มงวดมากมายนัก ไม่ว่าการแต่งกาย การสมัครเข้าเรียน หรือแม้กระทั่งหลักสูตร แต่ถ้าโรงเรียนเอกชนอาจจะเข้มงวดกว่าโรงเรียนของรัฐบาล การศึกษาในสหรัฐอเมริกาแต่ละรัฐจะควบคุมคุณภาพ การเรียนการสอน และวางแผนการศึกษาของตนเอง โดยไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลาง ทุกรัฐจะมีหน่วยงานการศึกษาคล้ายกระทรวงศึกษาธิการ คอยกำหนดมาตรฐานต่างๆ แนะนำเงินงบประมาณอุดหนุนให้โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย จากเงินภาษีที่เก็บได้จากประชาชนในแต่ละรัฐ “การศึกษาภาคบังคับ” นักเรียนอเมริกันทุกคนจะเรียนฟรีไม่ว่าจะอยู่ที่รัฐใด จนจบชั้นมัธยมศึกษา หรือ “Grade 12”  สำหรับนักเรียนจากประเทศไทย ที่ต้องการเรียนในระดับประถมและมัธยมศึกษาที่อเมริกา จะสมัครเข้าเรียนได้ใน “โรงเรียนเอกชน” เท่านั้น เพราะสหรัฐอเมริกาจะไม่ออกวีซ่าให้นักเรียนไทยที่ได้ I-20 จากโรงเรียน ระดับประถมและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนของรัฐที่เรียกว่า “Public School” การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจะมีข้อแตกต่าง กล่าวคือ ถ้านักเรียนที่มีถิ่นฐานในรัฐหนึ่ง จะข้ามมาศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยอีกรัฐหนึ่ง จะต้องเสียค่าเล่าเรียนแพงขึ้น ที่เรียกว่า “Out of States Tuition” และถ้านักศึกษามาจากประเทศอื่น จะต้องเสียค่าเล่าเรียนมากกว่าขึ้นไปอีก!  “โรงเรียนประถมศึกษา” (Elementary Schools) เด็กอเมริกันจะเข้าเริ่มเรียนอย่างจริงจังเมื่ออายุ 6 ขวบ บริบูรณ์ คือเข้าเรียนในชั้น Grade 1 ซึ่งบ้านเราก็นับว่าเป็น ประถมศึกษาปีที่ 1 ระบบการศึกษาของประเทศอเมริกา จะจัดแบ่งออกเป็น Grade 1 ถึง Grade 12 ซึ่งโดยหลักการแล้ว จะจัดแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 คือ Grade 1 ถึง Grade 6 หรือระดับประถมศึกษา (Elementary School) “โรงเรียนมัธยมศึกษา” (Junior High Schools / High Schools)  ช่วงที่ 2 คือ Grade 7 และ Grade 8 หรือระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (Junior High School) และช่วงที่ 3 คือ Grade 9 ถึง Grade 12 เป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (Senior High School) โดยทั่วไปสำหรับเด็กที่เข้าเริ่มเรียนตามปกติ และเรียนต่อเนื่องไปโดยไม่ขาดตอน จะสำเร็จการศึกษา Grade 12 เมื่อ อายุประมาณ 18 ปี ซึ่งนับว่าสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนในระดับนี้ ต้องเรียนวิชาพื้นฐานคือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และอาจต้องเรียนภาษาต่างชาติ หรือพลศึกษาด้วย นักศึกษาต่างชาติที่เข้าไปเรียนต่อ ในระดับมัธยมศึกษา ประถมศึกษาในประเทศอเมริกามีจำนวนไม่มากนัก และส่วนใหญ่จะเข้าเรียนกับโรงเรียนประจำของเอกชน หรือ Boarding School แม้ว่าในปัจจุบันโรงเรียนของรัฐบาลจะมีนโยบาย เปิดรับนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น แต่นักศึกษาต่างชาติส่วนใหญ่ ก็ยังคงสมัครเข้าเรียนกับโรงเรียนประจำ เนื่องจากโรงเรียนรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่สามารถจัดหาหอพักให้ได้ โดยทั่วไปนักเรียน ไทยส่วนใหญ่ที่ไปเรียนต่อในระดับนี้มักสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว และไปเข้าเรียนต่อ Grade 10 ใน ประเทศอเมริกา             “ระดับอุดมศึกษา” สถาบันระดับอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกามีมากมายกว่า 3,000 แห่ง ทั้งของรัฐและเอกชน โดยสถาบันในระดับอุดมศึกษา จะแยกออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้   1.วิทยาลัยแบบ 2 ปี หรือวิทยาลัยชุมชน Junior Colleges และ Community Colleges) นักศึกษาที่เรียนใน วิทยาลัย Junior และCommunity Colleges สามารถ เลือกเรียนได้ใน 2 หลักสูตร คือ  1.1 Transfer Track เป็นหลักสูตรที่เป็นวิชาพื้นฐาน 2 ปี แรกของการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยนักศึกษาจะลงเรียนรายวิชาบังคับ (General Education Requirements) เป็นเวลา 2 ปี จากนั้น นักศึกษาสามารถโอนหน่วยกิต(Transfer) ไปมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน เพื่อศึกษาต่อในระดับปี 3 โดยที่เกรดเฉลี่ยที่นักศึกษาทำได้ในระหว่าง 2 ปีนี้ จะเป็นตัวกำหนดว่า นักศึกษาจะได้รับการตอบรับเข้ามหาวิทยาลัย ที่อยู่ในอันดับยากง่ายเพียงใด 1.2 Terminal/Vocational Track เป็นหลักสูตรอนุปริญญาสายวิชาชีพ หลังจาก 2 ปีแล้ว นักศึกษาจะได้รับวุฒิอนุปริญญา (Associate Degree) ทางสาขาวิชาที่เลือก อาทิเช่น คอมพิวเตอร์ เลขานุการ เขียนแบบ เป็นต้น…ต้องต่อสัปดาห์หน้าครับ!