สถาพร ศรีสัจจัง ใครที่ศึกษาประวัติศาสตร์ภาคใต้อย่างลึกซึ้งพอควร ย่อมจะพอรู้ว่า ตั้งแต่โบราณกาลผ่านมา มี “เส้นทางข้ามคาบสมุทร”บนพื้นที่ “คาบสมุทรไทย” (ที่ฝรั่งมักเรียก คาบสมุทรมลายู?) ในพื้นส่วนที่เรียกว่า “ภาคใต้” (ต่อแดนกับประเทศมาเลเซีย) ในยุคปัจจุบัน อยู่หลายเส้นทางด้วยกัน หลายเส้นทางที่ว่าเหล่านั้น ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ได้กลายเป็นเหมือน “จุดยุทธศาสตร์” ที่นักวางแผนในการพัฒนาประเทศ(หลายใครอาจเรียกพวกเขาว่าเป็น “นักฉ้อฉลเชิงนโยบาย”) ใช้เป็นพื้นฐานในการคิด “วางแผนพัฒนาประเทศไทย” โดยการขุดคลองข้ามคาบสมุทรเพื่อเชื่อมฝั่งมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทธแปซิฟิก เส้นทางที่ได้ยินชื่อเก่าแก่ที่สุด คือเส้นทางที่ชื่อ “คอคอดกระ” ซึ่งเมื่อขุดเสร็จเรียบร้อยก็จะชื่อ “คลองกระ” เหมือนกับที่ชาวซีกโลกตะวันตกเคยสร้าง “คลองสุเอช” หรือ “คลองปานามา” เพื่อสร้างประโยชน์ทาง “โลจิสติกส์” มาเนิ่นนานแล้วนั่นแหละ! แต่ในความเป็นจริงแล้ว เส้นทางข้ามคาบสมุทรเชื่อมอันดามันกับฝั่งแปซิฟิกทางบก ที่เคยใช้จริงที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งได้รับการพัฒนาด้วย “สมอง” และแรงคน คือเส้นทางสายที่เรียกว่า “ทางสายเขาพับผ้า” คือเส้นทางที่เชื่อมระหว่างพื้นที่จังหวัดตรัง(ฝั่งอันดามัน) กับพัทลุง(ฝั่งตะวันออก ผ่านทะเลสาบสงขลาไปออกแปซิฟิก) ย่อมรู้กันว่าเส้นทางสายนี้เกิดขึ้นเพราะ “วิสัยทัศน์” อันลึกซึ้งกว้างไกลของขุนนางไทยเชื้อสายจีนผู้เขียนหนังสือไทยได้เพียงตัวเดียว คือชื่อของตัวเอง คือขุนนางใหญ่ในรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นามของท่านคือ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีฯ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ฟังว่า ครั้งที่ท่านต้องการตัดถนนสายนี้นั้น ท่านได้ติดต่อบริษัทฝรั่งที่สิงคโปร์บริษัทหนึ่งให้มาช่วยทำให้ บริษัทดังกล่าวคิดค่าก่อสร้างทางรวมเป็นเงินประมาณ 70 ล้านบาท (ค่าเงินยุค ร.5) แต่ท้ายสุดก็ล้มเหลว ไม่สามารถจัดการกับบรรดาก้อนหินขนาดมหึมาบนเทือกเขาบรรทัดแห่งนั้นได้! เล่ากันต่อมาว่า ครั้งนั้นท่านเทศาฯคอซิมบี้พลันออกอุทาน “ถ้างั้นกูทำเอง!” แล้วท่านก็ลงมือบุก! เริ่มทำในช่วงปี พ.ศ.2438 ด้วยแรงคน และภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เมื่อเจอหินใหญ่ขวางทางก็ ใช้วิธีสุมไฟเผาให้ร้อนจัดแล้วใช้น้ำราดจนหินนั้นแตกออกเป็นเสี่ยงๆ แล้วใช้แรงคนจัดการต่อ ทำเช่นนั้นจนบรรลุสู่เมืองพัทลุงในที่สุด โดยใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 17 เดือน ใช้เงินราชการไปไม่ถึง 1 ล้านบาท! ถนนสายเก่าดังกล่าวถูกพัฒนาซ่อมเสริมและใช้งานมาอย่างยาวนาน กระทั่งได้รับการสร้างใหม่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ทำให้ความคดเคี้ยวของเส้นทางลดทอนลงมาก กลายเป็นทางหลวงสายสวยงามที่ทอดผ่านเขาบรรทัดแบบไม่หวาดเสียว แบบปลอดภัยสูงสุด โดยเริ่มเส้นทางฝั่งจังหวัดพัทลุงที่ตำบลบ้านนาไปสิ้นสุดที่เชิงเขาฝั่งตรังตรงตำบลกะช่อง ความคดโค้งอย่างชวนเวียนหัวของเส้นทางสายนี้ในอดีต ทำให้ใครต่อใครเรียกว่า “ทางสายเขาพับผ้า” เพราะเส้นทาง “หักศอก” พับไปพับมาตามคุ้งโค้งสันเขาที่เลียบตามลำห้วยเหมือนการพับผ้าอย่างไรก็อย่างนั้น ภูเขาที่ชื่อเขาบรรทัดมาแต่เดิมของช่วงนี้ จึงคล้ายต้องเปลี่ยนชื่อคำเรียกขานกลายเป็น “เขาพับผ้า” ไปโดยปริยาย “เขาพับผ้า” และ “กะช่อง” นั้นนับว่ามีตำนานเรื่องราวเล่าขานที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งดีทั้งร้าย เป็นชื่อและถิ่นที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ กระทั่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งความรุนแรงทางการเมือง ที่บุคลากรทั้งของฝ่ายรัฐและฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐในอดีตยุค “ไทยรบไทย” ต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินไว้ในพื้นที่นี้เป็นจำนวนมากอย่างไม่น่าจะต้องสูญเสีย ใครที่มีกิจต้องเดินทางไปจังหวัดตรังในวันนี้ และมีโอกาส “ผ่านทาง” ที่เขาพับผ้า จะพบเห็นว่าตรงช่วงกลางเส้นทางเขาพับผ้า ตรงช่วงที่เรียกว่า “บ้านน้ำราบ” ในปัจจุบัน มีการสร้าง “แลนด์มาร์ก” ขนาดใหญ่ขึ้นไว้ให้คนได้แวะชมและเรียนรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องอย่างอลังการ ตั้งชื่อเรียกหรูหราน่าสนใจว่า “ประตูสู่อันดามัน” ( Trang Andaman Gateway)! นอกจากจะมีประติมากรรมปูนปั้นขนาดใหญ่หลายเรื่องราว โดยเฉพาะประติมากรรมโขลงช้างแล้ว, ที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ นิทรรศการถาวรเรื่องประวัติศาสตร์และตำนานความเป็นมาของเขาพับผ้า มีข้อมูลที่นำมาจัดแสดงตั้งแต่จดหมายเหตุของพระเจ้าแผ่นดิน หลักฐานต่างๆในประวัติศาสตร์ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากงานวรรณกรรมร่วมสมัย ฟังว่าบทนิทรรศการที่เขียนได้อย่างยอดเยี่ยมนั้นเป็นฝีมือของอาจารย์สุนทรี สังข์อยุทธ์ อดีตหัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติฯ ตรัง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีจังหวัดตรังที่หาตัวเทียบไม่ได้ในปัจจุบันคนนั้นนั่นแหละ ว่ามาตั้งยาวยังไม่เข้าเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับเขาพับผ้าและ “กะช่อง” เลย เรื่องนี้จึงคงต้องว่ากันต่อ แบบเนื้อๆในคราวหน้า